xs
xsm
sm
md
lg

ทีดีอาร์ไอ ชำแหละปัญหา "คนจน-คนรวย" ช่องว่าง ศก.-วิกฤตสังคม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"ทีดีอาร์ไอ" เผยผลสำรวจทัศนะการเมือง-สวัสดิการสังคม เพื่อความเป็นธรรมในสังคม พบมุมมอง "คนรวย" เหยียดคนจนขี้เกียจ ขณะที่ "คนจน" มองความรวยเกิดจากมรดก แตกต่างสิ้นเชิง แนะให้การศึกษา-ดูแลสวัสดิการคนจนมากขึ้น ขึ้นภาษีคนรวยแล้วเอาเงินมาช่วยคนจน กำจัดการโกงกิน ระบบเส้นสาย ระบบพวกพ้องให้หมดไป และรัฐควรปฏิบัติต่อคนจนและคนรวยเท่าเทียมกัน ส่วนสาเหตุของความขัดแย้งทางการเมือง 33% มองเกิดจากนักการเมือง-ผู้มีอำนาจแบ่งผลประโยชน์กันไม่ลงตัว ขณะที่ 23% เห็นว่า เกิดจากประชาชนแบ่งขั้ว อ้าง ปชช.เบื่อสื่อแบ่งข้าง-หนุนสื่อไร้สาระ พร้อมชี้นำ "พลังเงียบ" ขึ้นเป็นขั้วอำนาจใหม่ โดยผลสำรวจสรุปว่า กลุ่มคนที่มีฐานะดีข้างบนได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมืองมากกว่าคนจน

นายสมชัย จิตสุชน และนายวิโรจน์ ณ ระนอง นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยผลการสำรวจทัศนะประชาชนต่อการเมืองและสวัสดิการสังคมเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคม โดยผลการสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีทัศนะต่อความจน ความรวย และความเหลื่อมล้ำ ไปในทิศทางที่คล้ายกัน โดยให้เหตุผลว่าคนจนส่วนใหญ่ จนเพราะเกิดมาจน (ร้อยละ 39.8) ขี้เกียจไม่ขวนขวาย (ร้อยละ 16.7) และไม่มีทุน (ร้อยละ 14.5)

ขณะเดียวกัน ผลสำรวจก็พบว่า คนรวยมีแนวโน้มที่จะตอบว่าความจนเกิดจากความขี้เกียจ ไม่ขวนขวายมากกว่าคนที่จนตอบ ในทำนองเดียวกัน คนส่วนใหญ่มองเรื่องความรวยว่าส่วนใหญ่รวยเพราะ เกิดมารวย (ร้อยละ 57.4) ขยัน (ร้อยละ 13) และมีทุน (ร้อยละ 11.1)

ส่วนช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน คนจำนวนมากที่สุดมองว่า มีความห่างมากแต่ยังพอรับได้ (ร้อยละ 43.3) ในขณะที่ร้อยละ 34.4 เห็นว่าห่างมากและยอมรับไม่ได้ โดยความเห็นหลังนี้มีอยู่มากในหมู่คนจน สำหรับวิธีแก้ไขปัญหา ประชาชนที่เป็นกลุ่มตัวอย่างเสนอให้การศึกษาและดูแลสวัสดิการคนจนมากขึ้น ขึ้นภาษีคนรวยแล้วเอาเงินมาช่วยคนจน กำจัดการโกงกิน ระบบเส้นสาย ระบบพวกพ้องให้หมดไป และรัฐควรปฏิบัติต่อคนจนและคนรวยเท่าเทียมกัน

นายสมชัย กล่าวว่า ในประเด็นทัศนะต่อความจน ความรวย และความเหลื่อมล้ำนี้ จะเห็นว่าคนส่วนใหญ่เชื่อว่าความจนความรวยตกทอดเป็นรุ่นๆ จึงมีลักษณะถาวรพอสมควร และน่าจะเป็นสาเหตุที่คนจนจำนวนมากยอมรับช่องว่างของฐานะไม่ได้ แต่การมีทุน การศึกษา และขยันหมั่นเพียร สามารถลดปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำได้

สำหรับทัศนะต่อการให้สวัสดิการโดยรัฐ พบว่า ร้อยละ 39 เห็นว่ารัฐควรให้สวัสดิการขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกัน แต่ให้สิทธิพิเศษเพิ่มบางอย่างกับคนจน เมื่อถามต่อว่าหากรัฐขึ้นภาษี อยากให้นำเงินมาทำอะไร พบว่า 3 อันดับแรก คือ ต้องการให้รัฐนำเงินมาใช้พัฒนาเรื่องการศึกษา ฝึกอาชีพ และพัฒนาฝีมือแรงงาน (ร้อยละ 23.7) รองลงมา ต้องการให้นำเงินมาแก้ไขปัญหาหนี้สิน (ร้อยละ 14.1) และพัฒนาปรับปรุงระบบการรักษาพยาบาล (ร้อยละ 12.3)

ส่วนปัญหาของประเทศที่ควรได้รับการแก้ไขมากที่สุด พบว่า ร้อยละ 23 เห็นว่าปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาใหญ่ที่ควรได้รับการแก้ไข รองลงมา คือ ปัญหายาเสพติดและความยากจน ถัดมาคือปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งแม้ว่าจะมาเป็นอันดับสี่ กล่าวคือมีคนร้อยละ 13 ที่เห็นว่าปัญหานี้เป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดในขณะนี้ แต่คนที่มีความเห็นเช่นนี้ก็กระจายไปในทุกชนชั้น

ในด้านกิจกรรมทางการเมืองและทัศนะต่อความขัดแย้งทางการเมือง พบว่า กิจกรรมที่คนทำเป็นประจำ สม่ำเสมอ ได้แก่ การไปเลือกตั้ง ส.ส. , ส.ว. การเลือกตั้งท้องถิ่น แต่ที่น่าสนใจเช่นกันคือ พบว่ามีกิจกรรมบางอย่างที่คนบางกลุ่มซึ่งแม้มีจำนวนไม่มากแต่ทำสม่ำเสมอนั่นคือ ติดตามข่าวสารทางการเมือง การสอดส่องพฤติกรรมนักการเมือง ช่วยผู้สมัครหาเสียง และชุมนุมเดินขบวน อาจหมายถึงว่า คนสนใจเรื่องการเมือง และมีส่วนร่วมทางการเมือง มีอยู่มากพอสมควร

เมื่อถามถึงสาเหตุของความขัดแย้งทางการเมือง พบว่าคนเกือบ 1 ใน 3 (33%) เห็นว่าเกิดจากนักการเมืองและผู้มีอำนาจแบ่งผลประโยชน์กันไม่ลงตัว และอีกร้อยละ 23 เห็นว่าเกิดจากประชาชนแบ่งขั้ว ไม่ยอมกัน ส่วนคำตอบที่ถือได้ว่าเป็นวาทกรรม “เหลือง” (เช่นมองว่าเกิดจากรัฐบาลหรือนักการเมืองโกงมากเกินไป เผด็จการรัฐสภา ชาวบ้านขายเสียง นักการเมืองซื้อเสียง) และวาทกรรม “แดง” (ที่มองว่ามาจากการที่คนบางกลุ่มไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง และประชาชนได้รับการปฏิบัติไม่เท่าเทียมกัน มี 2มาตรฐาน ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน เมืองกับชนบท ทหารยึดอำนาจ และแทรกแซงการเมือง) แต่ละคำตอบมีผู้ตอบไม่มากนัก และที่น่าสนใจคือคำตอบเหล่านั้นกระจายไปในทุกกลุ่มฐานะ ซึ่งต่างจากความเชื่อที่แพร่หลายว่า วาทกรรมเหลืองแพร่หลายในกลุ่มคนชั้นกลางถึงสูง และวาทกรรมแดงแพร่หลายในกลุ่มคนจนหรือกลุ่มคนรากหญ้า

จากข้อมูลข้างต้น นายสมชัย สรุปว่า การ “แบ่งขั้ว” ทางความคิดการเมืองอยู่ในคนส่วนน้อย แต่เนื่องจากคนเหล่านี้มีกิจกรรมทางการเมืองที่หลากหลายและเข้มข้น ทำให้ความขัดแย้งกินเวลานาน และถึงแม้ว่าความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจจะไม่ใช่ปัจจัยที่ “จุดไฟ” ความขัดแย้งทางการเมือง แต่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้ความขัดแย้งแผ่วงกว้างและเสริมการแบ่งขั้วในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยหรือยากจน

สำหรับข้อเสนอแนะต่อการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น คนส่วนใหญ่มองว่า ควรมีการลงโทษ พร้อมกับให้มีการป้องกัน และตรวจสอบเพื่อแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นของนักการเมือง และที่น่าสนใจคือ ถึงแม้ว่าจะมีคนประมาณร้อยละ 8 มองว่าปัญหานี้ไม่มีทางแก้ไขได้ แต่ก็มีคนเพียงร้อยละ 0.2 เท่านั้นที่ระบุว่าไม่จำเป็นต้องแก้ปัญหานี้ถ้านักการเมืองมีผลงาน ซึ่งต่างจากผลของโพลต่างๆ ที่เรามักได้ยินอยู่บ่อยๆ เป็นอย่างมาก

ดร.วิโรจน์ กล่าวว่า ผลการสำรวจบ่งชี้ว่าคนส่วนใหญ่ยังมีภาพที่ดีพอสมควรกับทั้งนักการเมือง และ กกต. และยังหวังพึ่ง กกต. ในการจัดการกับนักการเมืองที่โกงการเลือกตั้ง นอกจากนี้ เมื่อสอบถามประชาชนถึงบทบาทของกลุ่ม องค์กร และสื่อต่างๆ ว่าแต่ละกลุ่มควรมีบทบาทเพิ่มขึ้น ลดลง คงเดิม หรือควรปรับเปลี่ยนบทบาท พบว่าส่วนใหญ่ได้ผลไม่ชัดเจนพอที่จะสรุปไปในทางหนึ่งทางใด มีเพียงสองกรณีที่คนทุกกลุ่มต่างๆ เห็นพ้องกันอย่างชัดเจนจนถือได้ว่าเป็นเสียงข้างมากคือ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 62 เห็นว่าควรลดหรือปรับเปลี่ยนบทบาทของสื่อที่เป็นตัวแทนของขั้วการเมือง (เช่น ขั้วเหลืองหรือแดง) ลง และคนจำนวนใกล้เคียงกันเห็นว่าควรเพิ่มบทบาทของประชาชนทั่วไปมากขึ้น ซึ่งถ้าพิจารณาประกอบกัน ก็อาจตีความได้ว่า ข่าวสารที่สำคัญที่ได้จากการสำรวจประชาชนครั้งนี้ คือ ควรหยุดให้ความสำคัญกับสื่อเลือกข้างและหันมาสนใจ “เสียงเงียบ” จากประชาชนส่วนใหญ่แทน

ดร.วิโรจน์ ยังสรุปด้วยว่า แม้ว่าประชาชนจำนวนไม่น้อยจะได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมือง (ร้อยละ 13 เห็นว่าเป็นปัญหาสำคัญอันดับแรก) แต่ประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังดำเนินชีวิตของตนและยังพุ่งความสนใจไปที่เรื่องอื่นที่สำคัญกับชีวิตมากกว่า เช่น เศรษฐกิจ ยาเสพติด และการแก้ปัญหาความยากจนของครัวเรือน แต่กลุ่มคนที่มีฐานะดีข้างบนกลับดูเหมือนจะได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมืองมากกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น