ศูนย์ข่าวศรีราชา - นายกเทศมนตรีตำบลสัตหีบ หวั่นไข้หวัดมรณะ 2009 ฟื้นคืนชีพแพร่ระบาดในพื้นที่ สั่งการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เตรียมรับมือ เร่งพัฒนาและเพิ่มพูนความรู้อาสาสมัครสาธารณสุข รู้เท่าทันข่าวสารและร่วมวางมาตรการป้องกันสู่ชุมชน และหมู่บ้าน ก่อนวัวหายแล้วล้อมคอก
นายไพโรจน์ มาลากุล ณ อยุธยา นายกเทศมนตรีตำบลสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เป็นประธานใน พิธีเปิดโครงการพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุข ณ อาคารอเนกประสงค์เทศบาลตำบลสัตหีบโดยมี นายสมบูรณ์ ชุมพาลี ปลัดเทศบาล กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ ในการพัฒนาศักยภาพอาสาสมัคร เพื่อเป็นการ เพิ่มพูนความรู้ในงานด้านการให้บริการประชาชนในชุมชน การป้องกันการแพร่ระบาดของไข้หวัดมรณะ 2009 และการเฝ้าระวังประชาชนในพื้นที่ถ้ามีอาการเป็นไข้หวัด อุณหภูมิขึ้นสูง ให้พบแพทย์โดยด่วน ตลอดจนการคัดแยกผู้ป่วย เพื่อไม่ให้แพร่ระบาดในวงกว้างอีกด้วย
นายสมบูรณ์ ชุมพาลี ปลัดเทศบาลตำบลสัตหีบ กล่าวว่า กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมเทศบาลตำบลสัตหีบได้จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพของอาสาสมัครสาธารณสุข และผู้บริหาร สมาชิกสภา พนักงาน ลูกจ้างในสังกัดเทศบาลตำบลสัตหีบ
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ให้อาสาสมัครสารณสุขของเทศบาลตำบลสัตหีบได้มีความรู้ความเข้าใจในการดำเนินงานด้านสาธารณสุขมูลฐานนำความรู้ในการอบรมไปใช้ให้เป็นประโยชน์โดยสามารถดูแลตนเอง และผู้อื่นได้อย่างถูกต้องเหมาะสม มีประสิทธิภาพ สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปเผยแพร่ให้กับคนในชุมชนของตนเองได้อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะการรู้เท่าทัน การเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของไข้หวัดมรณะ 2009 ที่กำลังแพร่ระบาดในหลายพื้นที่ขณะนี้
นายไพโรจน์ กล่าวว่า การจัดอบรมในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวนทั้งสิ้น 150 คน ประกอบด้วยอาสาสมัครสาธารณสุขอำเภอสัตหีบ จำนวน 9 หมู่บ้าน โดยจัดให้มีการฝึกอบรมในเรื่องสุขอนามัยต่างๆ การแจกทรายอะเบท ตามบ้านเรือนเพื่อป้องกันการแพร่กระจายแหล่งวางไข่ของยุงลายซึ่งเป็นตัวนำพาหนะโรคไข้เลือดออกมาสู่คน และการเตรียมการอบรมการออกไปตั้งจุดบริการฉีดวัคซีนในสัตว์เพื่อป้องกันปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าที่อาจจะเกิดขึ้นในสัตว์โดยได้รับเกียรติจาก นาย ชูเวช ผลนุกูลกิจ อาจารย์สอนทั่วประเทศและนักจัดรายการวิทยุในพระอุปถัมภ์ของเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ฯ มาเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ในการจัดโครงการอบรมในวันนี้
อาสาสมัครสาธารณสุข เป็นผู้ที่มีบทบาทในการเป็นผู้นำนโยบายด้านสาธารณสุขไปสู่การปฏิบัติเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับพื้นที่อีกทั้งเป็นผู้นำในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองและพฤติกรรมสุขภาพของคนในชุมชนทั้งในงานส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และรักษาพยาบาลเบื้องต้น
ตลอดจนการเฝ้าระวังผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคในชุมชนที่จะมีผลต่อการขจัดหรือลดปัญหาทางสุขภาพสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนในการเฝ้าระวังดูแลสุขภาพของตนเองได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและมีประสิทธิภาพอีกด้วย