เชียงราย – ทีมเจ้าหน้าที่สาธารณสุข-ฝ่ายปกครอง และเทศบาลตำบลแม่สาย ตลอดจน อย.น้อย ลุยตรวจสอบสินค้าตลาดชายแดนไทย-พม่า พร้อมเปิดกิจกรรม “เที่ยวแม่สายจับจ่ายสินค้าปลอกภัย” เตือนนักท่องเที่ยวอย่าซื้อเครื่องสำอาง-อาหาร-ขนม ฯลฯ ปนเปื้อน
รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่า วันนี้ (15 ธ.ค.)ที่ตลาดศูนย์การค้าชายแดนแม่สาย นายวิศิษฐ์ สิทธิสมบัติ นายอำเภอแม่สาย จ.เชียงราย และนายไศลยนต์ ศรีสมุทร นายกเทศมนตรี ต.แม่สาย ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขอ.แม่สาย เปิดกิจกรรม "เที่ยวแม่สายจับจ่ายสินค้าปลอดภัย" เพื่อเป็นการต้อนรับเทศกาลท่องเที่ยวส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ในฤดูหนาวนี้ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อสินค้าโดยเฉพาะสินค้าชายแดนซึ่งเป็นที่นิยมของประชาชนทั่วไป เพราะมีความแปลกและราคาถูก
สำหรับกิจกรรมครั้งนี้มีการจัดให้เจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบหาสารต้องห้ามในสินค้าสำคัญๆ เช่น เครื่องสำอาง อาหาร ขนม ฯลฯ ซึ่งมีอยู่อย่างมากมายหลากหลาย ขณะเดียวกันได้มีการให้คำแนะนำและให้ความรู้เกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าที่มีส่วนผสมของสารอันตราย โดยเฉพาะลูกอมสารฟลูออเรสเซนต์ ซึ่งทำให้เกิดสีเรืองแสงติดในปาก ทำให้เกิดสารพิษตกค้างและส่งผลกระทบระบบทางเดินหายใจหรือทำลายผิวหนัง
นายไศลยนต์ กล่าวว่า การออกตรวจสินค้าและให้ความรู้ในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานสาธารณสุข เจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค และอาสาสมัคร อย.น้อย ซึ่งเป็นเยาวชน ได้ร่วมกันออกตรวจตราการลักลอบจำหน่ายสินค้าที่มีอันตรายต่อผู้บริโภค และสินค้าอันตราย นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมแจกสื่อแผ่นพับเพื่อเป็นการแนะนำผู้ประกอบการแก่พ่อค้าแม่ค้าด้วย
ด้านนายแพทย์สุรินทร์ สุมมาพันธุ์ ผู้ช่วยนายแพทย์สาธารณสุข จ.เชียงราย กล่าวว่า ปัจจุบันมีเครื่องสำอางต้องห้ามที่ไม่ได้มาตรฐานและอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อตัวผู้ใช้ ทั้ง 19 ชนิด จึงได้ตรวจสอบในร้านจำหน่ายเครื่องสำอาง แต่สินค้าจำพวกนี้มักจะวางจำหน่ายบริเวณตลาดนัดหรือจากพ่อค้าแม่ค้าที่เร่ขายทั่วไป ซึ่งยากต่อการควบคุม
ดังนั้น ทางสาธารณสุขเองก็ได้แจ้งเตือนไปยังประชาชนผ่านสาธารณสุขในแต่ละพื้นที่อย่างทั่วถึง เพื่อให้ประชาชนระมัดระวังในการเลือกซื้อเครื่องสำอางให้มากขึ้น โดยให้สังเกตจากส่วนประกอบในการผลิต สถานที่ตั้ง วันผลิต วันหมดอายุ อย. และที่สำคัญ ฉลากข้างขวดควรเป็นภาษาไทย และควรหลีกเลี่ยงเครื่องสำอางที่อวดอ้างเกินความจริงและราคาถูก เพราะสินค้าบางจำพวกมักอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงแถมยังราคาถูกอีกด้วย จึงอยากให้ประชาชนตระหนักถึงอันตรายของเครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐาน หากเลี่ยงได้ก็ควรจะเลี่ยง เพื่อประโยชน์ของตัวผู้บริโภคเอง
นายแพทย์สุรินทร์ กล่าวอีกว่า สำหรับประชาชนที่พบเบาะแสการจำหน่วย ผลิตหรือนำเข้า เครื่องสำอางทั้ง 19 ชนิดนี้ ขอความกรุณาแจ้งมายังสาธารณสุขจังหวัดหรือสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ กรณีการโฆษณาผ่านสื่อ วิทยุหรือหนังสือพิมพ์ต่างๆของสินค้าประเภท เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ ฯลฯ จะต้องมีการขออนุญาตผ่านสาธารณสุขก่อนนำเสนอหรือประชาสัมพันธ์ทุกครั้ง เพื่อป้องกันการอวดอ้างสรรพคุณที่เกินจริงและมีการตรวจสอบสินค้างว่ามีคุณสมบัติตรงตามที่โฆษณาอวดอ้างไว้หรือไม่
อย่างไรก็ตาม อยากให้ประชาชนช่วยกันดูแลและกวดขันกันอย่างเต็มที่ เพื่อรักษาสิทธ์ของผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าหัวใสได้.