xs
xsm
sm
md
lg

“เขาพนมพา”คึกคักไม่หยุด-นักแสวงโชคแห่ขุดทองต่อเนื่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พิจิตร - ราคาทองคำรูปพรรณที่มีราคาพุ่งสูงขึ้นถึงบาทละ 18,000 บาททำให้ชาวบ้านแห่หันมาขุดแร่ทองคำ ที่บริเวณเชิงเขาพนมพา เขตที่ดินวัดธรรมกายอย่างต่อเนื่อง

นายอนันต์ พรมดนตรี ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.พิจิตร เปิดเผยว่า หลังทองคำมีราคาพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องถึงบาทละ 18,000 บาท ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลหนองพระ-ต.นองปล้อง-ต.วังทรายพูน และพื้นที่ตำบลใกล้เคียงของวังทรายพูน รวมถึงนักแสวงโชคจากหลายจังหวัดได้เดินทางมาปักหลักขุดหาแร่ทองคำบริเวณเชิงเขาพนมพา ต.หนองพระ นอกเขตสัมปทานเหมืองแร่ทองคำขององค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตรมากขึ้นทุกวัน โดยใช้วิธีการขุดด้วยจอบ เสียม และใช้แหล่งน้ำธรรมชาติล้างร่อนแร่ทองคำ ตามภูมิปัญญาชาวบ้านในท้องถิ่น ซึ่งทำให้พวกเขามีรายได้งดงามเฉลี่ยวันละประมาณ 500-1,000 บาทต่อคน

นายอนันต์ บอกว่า พื้นที่ที่ชาวบ้านเข้าไปขุดทองกันนั้น เป็นที่ของเอกชนทางราชการไปขับไล่ไม่ได้ แต่ก็ได้ประสานงานให้ตำรวจเข้าไปดูแลมิให้เกิดศึกจี้ปล้นหรือแย่งกันขุดทอง จนเป็นเหตุถึงขั้นฆ่าฟันกัน อีกทั้งต้องเฝ้าระวังการที่ชาวบ้านใช้สารปรอทไปจับแร่ทองคำมิให้สารปรอทตกลงในแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งเป็นอันตรายมาก

ส่วนแหล่งแร่ทองคำในพิจิตรนั้น มีด้วยกันถึง 3 แห่ง คือเหมืองแร่ทองคำอัคราไมนิ่ง เป็นผู้ได้รับสัมปทานที่ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร แหล่งที่ 2 บริเวณเขาพนมพา ซึ่งในอดีตเกิดปัญหามวลชนบุกรุกที่ป่า ต่อมา นายชาติชาย เจียมศรีพงษ์ นายก อบจ.พิจิตร ขอสัมปทานเพื่อแก้ปัญหามวลชนและเปิดให้ชาวบ้านเข้าไปร่อนแร่ โดยทาง อบจ.พิจิตร ใช้เครื่องจักรขุดดินจากภูเขาพนมพามาทำการบดย่อย จากนั้นขายให้ชาวบ้านกระสอบละ 30 บาท แต่ต่อมาใบอนุญาตได้หมดอายุลงกว่า 2 ปีแล้ว จึงหยุดกิจการ อีกทั้งชาวบ้านไม่นิยม เพราะคิดว่าไม่คุ้มการลงทุน

แหล่งที่ 3 เป็นที่ดินของวัดธรรมกาย มาซื้อไว้เมื่อหลายสิบปีก่อนกว่า 300 ไร่เพราะลูกศิษย์ของวัดธรรมกายที่มีเรื่องเล่ามาว่าทำงานอยู่ในองค์การนาซ่าแล้วใช้ดาวเทียมสำรวจ พบว่าจุดดังกล่าวมีแร่ทองคำ ทางวัดธรรมกายจึงมาซื้อไว้ เพื่อหวังจะเอาแร่ทองคำไปหล่อพระประธานเป็นพระพุทธรูปทองคำ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ดำเนินการ จนชาวบ้านเข้าไปขุดพบโดยบังเอิญ จากนั้นก็มีการเฮโลมากันทั่วสารทิศเข้าไปขุดหาแร่ทองคำในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งภาคราชการจึงทำได้แค่คอยดูแลมิให้เกิดข้อพิพาททะเลาะหรือฆ่าฟันกัน เพราะแย่งทำเลขุดทอง อีกทั้งคอยเฝ้าดูมิให้ใช้สารปรอทที่ใช้จับแร่ทองลงไปปนเปื้อนกับแหล่งน้ำธรรมชาติ และต้องเฝ้าระวังให้คำแนะนำถึงหลักความปลอดภัย เพราะจากสถิติที่ชาวบ้านเข้าไปขุดหาแร่ทองคำ โดยขุดเป็นหลุมทำเป็นอุโมงค์ ปรากฏว่าถูกดินถล่มทับตายไปแล้วกว่า 20 คนในรอบสิบปีที่ผ่านมา

นายอนันต์ ย้ำว่า การเข้าไปขับไล่ชาวบ้านนั้น ทางราชการทำไม่ได้ แต่ถามว่าผิดเรื่อง พรบ.การแต่งแร่หรือไม่ ก็ต้องตอบว่าผิดอย่างชัดแจ้ง แต่เมื่อเป็นเรื่องวิถีชีวิตชาวบ้านทางราชการจึงละเว้น เพื่อความสงบของราษฎร ในการทำมาหากิน

อย่างไรก็ตามขณะนี้นายสุวิทย์ วัชโรทยางกูร ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ได้ให้ทุกฝ่ายเข้าเกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิดแล้ว ส่วนที่มีชาวบ้านออกมาร้องทุกข์จนเป็นข่าว หรือ NGO เข้ามาเคลื่อนไหวต่อต้านก็คงเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการต้องร่วมกับภาคราชการต้องชี้แจงทำความเข้าใจกันต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น