ตาก - กรมทางหลวงเปิดห้องประชุมปฐมนิเทศ โครงการก่อสร้างทางหลวง 4 เลน หมายเลข 105 รับ EWEC ทุ่มงบก้อนแรก 1,200 ล้านบาท ก่อนลุยต่อให้ครบ 86 กม.ตลอดสาย รองผู้ว่าฯ ตาก เชื่อช่วยเพิ่มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจชายแดนได้แน่ แต่ต้องแลกกับผลกระทบ สวล.บ้าง
วันนี้ (27 พ.ย.) นายมงคล สัณฐิติวิฑูร รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ได้เป็นประธานเปิดการประชุมปฐมนิเทศการสำรวจและออกแบบรายละเอียดโครงการก่อสร้างทางหลวงขนาด 4 ช่องทางจราจรทางหลวงหมายเลข 105 สายตาก-อ.แม่สอด ตอน 3 ตอน 4 โดยมีนายเกษม ศรีวรานันท์ ผู้อำนวยการสำนักสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม กล่าวรายงาน และผู้แทนกรมทางหลวงจากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค, หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง, ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ผู้บริหาร องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ตาก, ภาคเอกชน, สถาบันการศึกษา, ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ตลอดจนองค์กรพัฒนาเอกชน NGO กว่า 100 คนเข้าร่วม
นายมงคลกล่าวว่า โครงการการก่อสร้างถนน 4 ช่องทางจราจร แม่สอด-ตาก ตอน 3 และตอน 4 จะเป็นประโยชน์ต่อการสัญจร การค้า การท่องเที่ยว และการประกอบอาชีพ ในการขนส่งสินค้าอย่างมาก ขณะเดียวกัน อาจจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมบ้าง ทำให้ฝ่ายปกครองจังหวัดตากและกรมทางหลวง ต้องมาชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนก่อนว่าปมีความเห็นอย่างไรและต้องการให้หน่วยงานที่จะดำเนินการทำอะไรบ้าง
ขณะที่ นายเกษมกล่าวว่า กรมทางหลวงได้ทำแผนพัฒนาเส้นทาง ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นงบลงทุนก่อสร้างและบูรณาการทางหลวง 105 สายตาก-แม่สอด เพื่อเป็นเส้นทางตอนหนึ่งของโครงข่ายทางหลวงสายหลัก และเชื่อมต่อถนนระหว่างกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านในแนวเส้นทางสายเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC) โดยเชื่อมต่อแม่สอดไปยังสะพานมิตรภาพไทย-พม่า
ถนนเส้นทางเดิมพาดผ่านพื้นที่ภูเขาเป็นส่วนใหญ่และเส้นทางคดเคี้ยว ทำให้การเดินทางไม่สะดวกมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุง่าย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องพัฒนาเป็น 4 ช่องทางจราจร (4 เลน) รองรับเป็นเส้นทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวและการคมนาคม ฯลฯ รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาค และรองรับการจราจรที่จะเพิ่มมากขึ้น
“คาดว่าจะใช้งบประมาณก่อสร้างประมาณ กม.ละ 25 ล้านบาท รวมแล้วตอน 3 กม.12+000 ถึง กม.43+000 และตอน 4 กม.43+000 ถึง กม.63+000 จะใช้งบประมาณกว่า 1,275 ล้านบาท และจะดำเนินการให้ตลอดเส้นทางอย่างสมบรูณ์แบบ ระยะทางประมาณ 86 กม.”
รายงานข่าวแจ้งว่า การประชุมครั้งนี้ผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการจะได้รับทราบถึงขอบเขตการดำเนินงาน รูปแบบการก่อสร้าง การขยายทางหลวง และแผนงานการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งเส้นทางสายนี้หากดำเนินการแล้วเสร็จจะช่วยลดปัญหาการจราจร เพิ่มระบบขนส่งสะดวกรวดเร็ว ประหยัดเวลาและการขาดดุลการค้า ลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ลดอุบัติเหตุ และที่สำคัญคือ การรองรับการเป็นเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ EWEC รวมทั้งเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวแห่งใหม่ ที่มีสภาพธรรมชาติเสมือนทะเลภูเขาและทะเลหมอก 2 ข้างทาง ที่จะมีการออกแบบเป็นสะพานบก และเส้นทางเลียบภูเขาต่างๆ และคาดหมายกันว่าถนนสายนี้ จะมีส่วนช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนไทย-พม่า อีกไม่น้อยกว่า 30-40% จากปัจจุบันปีละ 24,000 ล้านบาท