xs
xsm
sm
md
lg

ม.เกษตรศาสตร์ศรีราชาแจงปัญหาสิ่งแวดล้อมชลฯ ยังไม่น่าเป็นห่วง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา แจงปัญหาสิ่งแวดล้อมจังหวัดชลบุรี ยังไม่น่าเป็นห่วง แต่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง หวั่นเหมือนมาบตาพุด

รศ.ชัยวัฒน์ ชัยกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา พร้อมด้วย ผศ.รุจา อรุณบรรเจิดกุล คณบดีคณะทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และนางสุนทรี ขุนทอง นักวิจัยคณะทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมกันแถลงข่าวถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดชลบุรี โดยเฉพาะพื้นที่แหลมฉบัง-ศรีราชา ซึ่งมีนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง, การท่าเรือแหลมฉบัง และโรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่อีก 3 แห่ง คือ โรงกลั่นไทยออยล์, เอสโซ่ และ ปตท.

ที่ผ่านมาทางกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้ว่าจ้างให้อาจารย์ของมหาวิทยาลัย ทำการศึกษาการเก็บวิเคราะห์ตัวอย่างการตกสะดมของกรด โดยจากน้ำฝนบริเวณแหลมฉบัง-ศรีราชา ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งผลการตรวจวิเคราะห์พบว่า น้ำฝนที่เก็บมา มีค่าความเป็นกรดเพิ่มขึ้น เฉลี่ย 4-4.5 p.H จากค่าความเป็นกรดด่างของน้ำฝนที่มีค่าเฉลี่ยที่ 5.6 p.H ซึ่งถือว่ายังไม่รุนแรง แต่ก็ไม่สมควรนำน้ำฝนมารับประทาน เพราะอาจจะมีผลกระทบต่อร่างกาย

ด้าน ผศ.รุจา อรุณบรรเจิดกุล คณบดีคณะทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา กล่าวว่า สำหรับปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดชลบุรี โดยเฉพาะในเขตแหลมฉบัง-ศรีราชา ยังไม่รุนแรงเท่าที่ควร แต่ต้องเฝ้าระวังไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงที่สูงขึ้น เพราะไม่เช่นนั้นการแก้ไขปัญหาดังกล่าวก็จะไม่ทันท่วงที

สำหรับปัญหาที่ควรเฝ้าระวังในช่วงนี้ คือ ปัญหาฝุ่นละออง และน้ำทะเลเน่าเสีย เนื่องจากในพื้นที่แหลมฉบัง-ศรีราชา-เกาะสีชัง มีการขนถ่ายสินค้านานาชนิด ซึ่งเกิดระหว่างเรือสินค้าด้วยกันเองและเรือสินค้ากับบริเวณท่าเทียบเรือแหลมฉบังและท่าเทียบเรือเอกชน ดดยเกิดฝุ่นละอองฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณบนฝั่งและในทะเล โดยมีการสะสมตลอดระยะเวลาหลายปี ดังนั้นหากไม่มีการเฝ้าระวังและดูแลในเรื่องนี้ ปัญฆาคงจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ผศ.รุจา กล่าวต่อไปว่า ทางมหาวิทยาลัยไม่มีอุปกรณ์เครื่องมือที่ทันสมัยในการเฝ้าระวังตรวจสอบดูแล ที่สำคัญไม่มีงบประมาณในการศึกษาวิจัย แต่อย่างไรก็ตามพร้อมที่จะให้การช่วยเหลือและสนับสนุน เพราะเริ่มเห็นสภาพการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องในขณะนี้ และหากรีบวางมาตรการและแนวทางในการป้องกันปัญหาต่างๆก็ไม่เกิดขึ้น

ขณะนี้ปัญหาที่เกิดความรุนแรงและต้อง ระดมความช่วยเหลือทุกหน่วยงาน คือ ที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งมีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในอนาคตจังหวัดชลบุรีและพื้นที่ใกล้เคียงเริ่มมีโรงงานเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก หากไม่เฝ้าระวังตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ปัญหาอาจจะเกิดคล้ายๆ กับมาบตาพุด ก็เป็นได้

“ทุกๆ หน่วยงาน ควรให้ความสนใจและร่วมมือกันทุกๆฝ่าย เพื่อต้องกันเหตุการณ์ที่จะเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะเมื่อเกิดขึ้นแล้ว การดำเนินการแก้ไขเป็นไปด้วยความยากลำบาก และสร้างความเสียหายที่รุนแรง ดังนั้นควรจะต้องรีบวางมาตรการดังกล่าว” ผศ.รุจา กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น