ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ปธ.หอฯ ไทย ชี้หากปัญหาสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาคลี่คลายเร็วไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการค้า 2 ประเทศ ระบุนักธุรกิจไทย-เขมรรักใคร่กันเหมือนพี่น้องกันแยกแยะออกระหว่างการเมืองกับการค้าขาย ถึงขั้นปิดพรมแดนกระทบแน่แต่มั่นใจรัฐบาลหาทางออกได้ ย้ำรบ.ตอบโต้เขมรทำถูกต้องเหมาะสมแล้วการปกป้องศักดิ์ศรีประเทศชาติต้องมาก่อน ลั่นรับไม่ได้หากปล่อยให้ใครมาย่ำยี ดูหมิ่นเหยียดหยามประเทศไทย เผยเตรียมนำเข้าประชุมหอการค้าไทยปลายพ.ย.นี้ที่เชียงใหม่
วันนี้ ( 7 พ.ย. ) นายดุสิต นนทะนาคร ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยในโอกาสเดินทางมาเป็นประธานเปิดศูนย์ “SMEs CLINIC” ที่สำนักงานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ถึงปัญหาวิกฤตความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาในขณะนี้ ว่า ในระยะเริ่มต้นเศรษฐกิจชายแดนไทย-กัมพูชาคงยังไม่ได้รับผลกระทบ เพราะขณะนี้เป็นเรื่องของมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการทูต ซึ่งไทยถูกย่ำยี ดูหมิ่นเหยียดหยาม ฉะนั้นการปกป้องศักดิ์ศรีของประเทศต้องมาก่อน
อย่างไรก็ตามเชื่อว่าในที่สุดแล้วคงต้องมีการเจรจาพูดคุยกันได้ แล้วทุกอย่างก็จะเรียบร้อย หากสามารถพูดคุยกันได้และจบลงได้เร็วก็เป็นเรื่องที่ดี แต่หากยืดเยื้อ แน่นอนต้องมีผลกระทบต่อส่วนรวมโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจการค้า
“นักธุรกิจไทยหรือนักธุรกิจกัมพูชาก็เหมือนพี่น้องกัน ทำงานด้วยกัน ค้าขายกัน รักใคร่กัน นักธุรกิจคงแยกแยะได้และไม่มองเฉพาะว่าการเมืองจะเป็นอย่างไร แต่ยังมองว่าประชาชนเดือดร้อนหรือไม่ มีสินค้าตามที่ลูกค้าต้องการหรือไม่ และสินค้าคุณภาพดีพอหรือยัง นี่คือภาพมุมมองของนักธุรกิจ ฉะนั้นตราบใดที่เรายังมีสินค้าที่ดี มีคุณภาพดี ราคาที่เหมาะสม และตราบใดที่เขามีความต้องการสินค้าเหล่านั้นอยู่เชื่อว่าการค้าขายจะเป็นไปด้วยความต่อเนื่อง” นายดุสิต กล่าว
ส่วนหากสถานการณ์ยืดเยื้อถึงขั้นปิดพรมแดนไทย-กัมพูชา จะมีผลเสียหายต่อภาคธุรกิจอย่างไร นั้น นายดุสิต กล่าวว่า หากถึงขั้นมีการปิดพรมแดนหรือ ด่านชายแดนต้องมีผลกระทบแน่ แต่เชื่อว่าถ้าเราสามารถเจรจากันด้วยความเข้าใจ และออกมาตรการต่างๆที่ชัดเจนก็ไม่มีปัญหา
อย่างไรก็ตามจุดยืนของไทยในขณะนี้มีความชัดเจนอยู่แล้ว และทำดีแล้ว เพื่อแสดงให้เขาเห็นถึงความมีสมรรถนะของประเทศไทย เราต้องถือว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่เข้มแข็ง เป็นประเทศที่เป็นผู้นำที่ดี หากเราไปยอมในสิ่งที่ไม่ควรยอมก็คงไม่ได้ ส่วนการแสดงความสามารถทางการทูตจะทำให้เรื่องมันจบได้เร็วมากน้อยแค่ไหนเป็นสิ่งที่จะต้องจับตามองต่อไป
“การตอบโต้ทางการทูตของฝ่ายไทยต่อกัมพูชาที่รัฐบาลทำอยู่นี้ส่วนตัวมองว่า ทำเหมาะสมดีแล้ว จะปล่อยให้คนมาย่ำยีเรา ดูหมิ่นเหยียดหยามเรา และเราไปค้าขายกับความไม่มีศักดิ์ศรี เราคงรับไม่ได้ ซึ่งการตอบโต้ของเราก็มีกรอบกติกาที่ชัดเจนอยู่แล้ว ตราบใดที่เราทำอยู่กรอบนั้น ทั่วโลกก็จะเข้าใจประเทศไทยเอง และเชื่อว่าคนไทยทุกคนรักชาติ ทำทุกอย่างเพื่อประเทศชาติ เพื่อศักดิ์ศรีของประเทศไทย” นายดุสิต
ต่อข้อถามที่ว่า ทางออกในเรื่องนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ควรลาออกจากตำแหน่งที่ปรึกษารัฐบาลกัมพูชา ที่ได้รับการแต่งตั้งหรือไม่ นายดุสิต กล่าวว่า เรื่องการเมืองไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์ แต่ในภาคธุรกิจคงต้องมองว่าอะไรที่เหมาะสมกับประเทศชาติพวกเราทุกคนรู้อยู่แล้ว เพราะทุกคนรักชาติ อะไรที่ทำให้ประเทศชาติเดือดร้อนเราคงไม่อยากทำ เพราะเราถือว่าประเทศชาติต้องมาก่อน เรื่องส่วนตัวมาทีหลัง อันนี้เป็นนิสัยของคนไทยทุกคนและเป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนต้องตระหนัก
นายดุสิต กล่าวต่อว่า การค้าขายระหว่างไทยกับกัมพูชามีมูลค่า 5-6 หมื่นล้านบาท/ปี ซึ่งส่วนใหญ่ไทยส่งออก มีนำเข้ามาบ้างบางส่วน และนักธุรกิจไทยไปลงทุนที่นั่นประมาณ 3 – 4 ร้อยล้านเหรียญสหรัฐ วันนี้คงต้องแยกแยะให้ออกว่า ธุรกิจก็คือธุรกิจ เรื่องของการทูตก็เป็นเรื่องของการทูต ถ้าทำความชัดเจนตรงนี้แล้วนักธุรกิจของเราทุกคนก็ไม่ต้องกังวล ค้าขายก็ค้าขายกันไป การเจรจาทางการทูตก็ทำกันไป การแก้ไขปัญหาต่างๆ ก็ให้รัฐบาลดำเนินการไปเพราะได้อาสามาบริหารประเทศแล้ว ส่วนความสามารถในการค้าขายก็เป็นหน้าที่ของนักธุรกิจ อย่างก็ตามเชื่อว่ารัฐบาลชุดนี้มีความสามารถพอที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้
สำหรับนักธุรกิจที่ค้าขายกับกัมพูชาและประกอบกิจการอยู่ในกัมพูชานั้นเชื่อว่า ทุกคนมีความเข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว เพราะเรื่องแบบนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่เกิดขึ้นหลายครั้งแล้ว ฉะนั้นนักธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุนในกัมพูชา คงได้เตรียมรับความเสี่ยงในเรื่องแบบนี้ไว้อยู่แล้ว และเชื่อว่าทุกคนทำธุรกิจด้วยความระมัดระวังทั้งนั้น การจะลงทุนอะไรเพิ่มเติมก็ต้องศึกษาอย่างรอบด้านและใช้ความระมัดระวังเป็นหลัก
“ในการประชุมใหญ่หอการค้าทั่วประเทศระหว่างวันที่ 27-29 พ.ย. นี้ ที่ จ.เชียงใหม่นั้น หากสถานการณ์ความขัดแย้งไทยกัมพูชายังยืดเยื้ออยู่ เชื่อว่าจะมีการเสนอเรื่องนี้เข้าที่ประชุม เพราะเป็นเวทีที่ผู้นำทางด้านธุรกิจของไทยอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน ซึ่งจะได้ถกกันว่า ทางออกจะเป็นอย่างไร แนวคิดเรื่องนี้ของนักธุรกิจไทยจะเป็นอย่างไร ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมทั้งหมด เพราะผู้ที่อยู่ในจังหวัดชายแดนคงจะทราบสถานการณ์เป็นอย่างดี แต่หากรัฐบาลแก้ไขปัญหาได้เร็วคงไม่ต้องนำมาพูดคุยกัน”