xs
xsm
sm
md
lg

เถ้าแก่โรงสีพิษณุโลกสวดไล่หลัง “ยรรยง” ชี้ประกันราคาข้าวเหลว-เงื่อนไขเพียบ เสียเงินค้ำสูง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ พร้อมคณะเดินทางมาที่โรงสีมุ่ยเฮง
พิษณุโลก - เถ้าแก่โรงสีสวดไล่หลัง “ยรรยง พวงราช” หลังลงพื้นที่ตรวจความพร้อมโรงสี-เครื่องวัดความชื้น ชี้ประกันราคาข้าวล้มเหลว ชาวนาเลือกขายเงินสดแทน ขณะที่โรงสีทั่วประเทศเมินร่วมโครงการ เหตุต้องใช้เงินสด 70% ค้ำ แถมเงื่อนไขยุบยับ

วันนี้ (3 พ.ย.) ที่โรงสีมุ่ยเฮง ต.บ้านกร่าง อ.เมือง จ.พิษณุโลก นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ พร้อมคณะเดินทางมาตรวจสอบหน่วยรับซื้อข้าวของ อคส.ตามโครงการแทรกแซงตลาดรับซื้อข้าวเปลือกนาปี 2552/2553 และถือว่าเป็นวันที่สองที่รัฐบาลเริ่มมาตรการแทรกแซงราคาข้าว แต่กลับมีเกษตรกรในพื้นที่ ต.บ้านกร่าง ขนข้าวที่เพิ่งเกี่ยวมาจำหน่าย 3 รายเท่านั้น โดยที่คณะของปลัดกระทรวงพาณิชย์ได้ตรวจเครื่องชั่ง เครื่องวัดความชื้นของโรงสีว่าเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ เพราะซึ่งความชื้น 1% จะถูกหักค่าความชื้นไป 120 บาท

นายยรรยงเปิดเผยว่า ล่าสุดมีโรงสีสมัครเข้าร่วมโครงการแทรกแซงตลาดรับซื้อข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2552-2553 จำนวน 360 ราย วานนี้ (2 พ.ย.) เพิ่งเปิดโครงการใน 17 โรงสี(10 จังหวัด) แต่ปรากฏว่า ไม่มีใครขายข้าว เนื่องจากราคาข้าว ณ ขณะนี้ ไปชนกับราคาเกณฑ์อ้างอิงแล้ว เช่น ข้าวขาว 5% ราคาอ้างอิงอยู่ที่ 8,349 บาทต่อตัน ราคาตลาดอยู่ที่ 8,000-9,000 บาท หรือข้าวหอมจังหวัด ราคาอ้างอิงอยู่ที่ 13,729 บาท ราคาตลาด 13,600 บาท ในแง่หนึ่งรัฐบาลก็ไม่ต้องเสียเงิน ประชาชนก็ไม่ต้องถูกกดราคา เชื่อว่า ต่อไปราคาข้าวอาจสูงกว่าราคาเกณฑ์อ้างอิง

ขณะที่ ชาวนาบ้านกร่าง อ.เมือง จ.พิษณุโลก กล่าวว่า ตนนำข้าวมาขาย หากโรงสีให้ราคาดีก็ขายเลย ไม่เข้าร่วมโครงการของภาครัฐ เพราะรัฐไม่ประชาสัมพันธ์โครงการประกันชัดเจน ชาวนาไม่รู้เรื่อง ปีนี้ตนทำนา 10 ไร่ลงทุนไปกว่า 30,000 บาท กลับได้ข้าวเพียง 3 ตัน ได้เงินประมาณ 13,000 บาท เพราะเพลี้ยกระโดดทำลายเสียหาย 70% ยอมรับว่า เครียด ไม่รู้จะหาเงินจากไหนมาใช้หนี้ ธ.ก.ส.

นายชูชาติ เดชคำรนรัตน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ธนารัตน์ ธัญกิจ จำกัด เปิดเผยว่า ตนได้รับการขอร้องจากพาณิชย์ว่า ให้ช่วยร่วมโครงการประกันราคาข้าว ทั้งๆ ที่โครงการนี้ไม่ดี ล่าช้า ทำไปแล้วก็ไม่รอด ราคาข้าวไหลลง เพราะผู้ส่งออกทุบราคา โรงสีก็ไม่มั่นใจ โรงสีทุกแห่งไม่อยากทำ เพราะหากใครเข้าร่วมก็ต้องมีเงินสด 70 เปอร์เซ็นต์ ไปค้ำประกันไว้ที่ธนาคารเพื่อรับประกันราคา เท่ากับว่าต้องมีเงินสดสำรองจำนวนมาก ฉะนั้น จะเห็นได้ว่า โรงสีเข้าร่วม 300 แห่งทั่วประเทศ จังหวัดพิษณุโลกเข้าร่วมแค่ 3 รายเท่านั้น


นายชูชาติบอกว่า โรงสีตน (ท่าข้าวธนารัตน์) เข้าร่วมโครงการประกันราคาแค่ 500 ตันเท่านั้น ทั้งๆ ที่ปริมาณข้าวที่อำเภอบางกระทุ่ม มีถึงหมื่นตัน เพราะไม่รู้ว่าจะต้องเอาเงินสด ไปแช่แข็งกับโครงการประกันข้าวทำไม แลกกับค่าเก็บตันละ 55 บาท อีกทั้งค่าข้าวยุบ หรือน้ำหนักลดก็ไม่ให้ ทำให้โรงสีส่วนใหญ่ไม่ยอมเข้าร่วมโครงการ หรือร่วมโครงการก็เพราะถูกขอร้อง อีกทั้งราคาข้าวเปลือกช่วงนี้ต่ำสุด หากราคาขยับขึ้น ข้าวราคาประกันก็ไม่ได้ขยับขึ้นตาม แต่ถ้าโรงสีมีสต๊อกข้าวของตนเองอยู่ในมือมาก ราคาข้าวขึ้นก็ขายได้

ส่วนชาวนาก็ไม่อยากเข้าร่วมโครงการ เพราะยุ่งยาก ราคาขายเงินสดกับราคาประกันของรัฐบาลก็เกือบเท่ากัน ชาวนายินดีรับเงินสดจากโรงสีมากกว่า เพราะถ้าเข้าโครงการต้องไปติดต่อรับกับธนาคารเพื่อการเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็ไม่รู้อีกว่า เงินจะได้เมื่อใด

ทางออก รัฐบาลควรลดเงื่อนไขใช้เงินสดค้ำประกันเพียง 20% พอ ลดเงื่อนไขเก็บข้าวในโกดังที่ยุ่งยากลงให้มากที่สุด เพราะวันนี้ทำให้ชาวนา ขอขายเงินสดให้แก่โรงสีไม่สนใจประกันราคาแล้ว

ท่าข้าวธนารัตน์ 1 ใน 3 ของพิษณุโลกที่เข้าร่วมโครงการประกันราคา
ชาวนายินดีขายเงินสดมากกว่าประกัน อีกทั้งผลผลิตน้อยเหตุเพลี้ยระบาด
นายชูชาติ เดชคำรนรัตน์ กรรมการผู้จัดการบริษัทธนารัตน์ ธัญกิจ จำกัด
กำลังโหลดความคิดเห็น