xs
xsm
sm
md
lg

นักศึกษา 30 สถาบัน 9 ปท.แข่งเขียนโปรแกรมคอมพ์ระดับเอเชียที่ภูเก็ต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต -นักศึกษา 30 สถาบัน 9 ประเทศร่วมแข่งเขียนโปรแกรมคอมพ์ระดับเอเชียที่ภูเก็ต หวังพัฒนาความสามารถนักศึกษาในภูมิภาคเอเชีย เลือกทีมที่ชนะการแข่งขันครเข้าร่วมการแข่งขันระดับโลก

วันนี้ ( 3 พฤศจิกายน 2552) นายตรี อัครเดชา รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการแข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ACM-ICPC (ACM International Collegiate Programming Contest) ระดับเอเชีย ซึ่งทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า จัดขึ้น ที่ห้องประชุมอนุภาษภูเก็ตการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต โดยมีมหาวิทยาลัยทั้งในประเทศและในภูมิภาคเอเชีย ส่งนักศึกษาเข้าร่วมแข่งขัน 60 ทีม จาก 30 สถาบัน ใน 9 ประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย เวียดนาม

นายธรรมรัฏฐ์ สมิตะลัมพะ รองหัวหน้าภาควิชาวิศกรรมคมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต กล่าวถึงการจัดการแข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ACM-ICPC ว่า ปัจจุบันความก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์มีมากขึ้น ทำให้ความต้องการบุคลากรที่มีทักษะด้านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทักษะที่เกี่ยวข้อง คือ เทคนิคการเขียนโปรแกรม โครงสร้างข้อมูลและการวิเคราะห์อัลกอริทึม ซึ่งต้องอาศัยการพัฒนาตั้งแต่ระดับนักเรียนมัธยมศึกษาจนถึงระดับอุดมศึกษา

ที่ผ่านมา มีการจัดเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในระดับอุดมศึกษายังมีน้อยมาก ซึ่งหากมีการจัดการแข่งขันการเขียนโปรแกรมในระดับอุดมศึกษา ก็เป็นการช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาทักษะการเขียนโปรแกรมในระดับอุดมศึกษาก็จะเป็นการช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาทักษะการเขียนโปรแกรมสำหรับนิสิตนักศึกษาในประเทศไทยจึงได้จัดให้มีการแข่งขันขึ้น

สำหรับการแข่งขัครั้งนี้เป็นการแข่งขันระดับภูมิภาคเอเชีย เพื่อส่งเสริมการสร้างทักษะและความสามารถในการเขียนโปรแกรมของนิสิตนักศึกษา กระตุ้นความสนใจด้านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ระดับอุดมศึกษาสำหรับมหาวิทยาลัยในประเทศและต่างประเทศ สร้างกิจกรรมทางวิชาการระดับนานาชาติด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และเป็นเวทีในการสร้างนักเขียนโปรแกรมรุ่นใหม่ของประเทศ สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยในการจัดงานระดับเอเชีย สามารถเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการจัดแข่งขันระดับโลกในโอกาสต่อไป รวมทั้งยังเป็นการประชาสัมพันธ์และแสดงศักยภาพ โครงการ Phuket ICT Innovation Paradise รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการลงทุนจากต่างประเทศด้วย

ด้านนายศิริพนธ์ เมฆธนาทิพย์ ผู้จัดการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สาขาภูเก็ต กล่าวว่า การจัดแข่งขันครั้งนี้จะเป็นส่วนช่วยกระตุ้นให้นักศึกษาเกิดความสนใจและให้ความสำคัญในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์มากขึ้น สร้างกิจกรรมทางวิชาการเพื่อให้นักศึกษาที่เรียนเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์มีเวทีในการแสดงความสามารถ สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศ เป็นการช่วยฝึกฝนและพัฒนาทักษะในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งทีมที่ชนะการแข่งขันครั้งนี้จะได้เข้าร่วมการแข่งขันระดับโลก (World Final Contest) ที่ฮาร์บิน มณฑลเฮย์หลงเจียง ประเทศจีน ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2553
กำลังโหลดความคิดเห็น