xs
xsm
sm
md
lg

จุดยืนและความหมาย ในเทศกาลหนังฯ ของไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมื่อไม่กี่วันมานี้ หากใครเปิดหนังสือพิมพ์คงต้องสะดุดกับข่าวใหญ่ที่กระทบกับชื่อเสียงของประเทศไทย เมื่อศาลสูงของสหรัฐอเมริกา ตัดสินจำคุก นายเจอรัลด์ กรีนส์ และนางแพทริเซีย กรีนส์ สองสามีภรรยา เจ้าของบริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์ในข้อหาให้สินบนแก่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อมาจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ เมื่อปี 2550

จนนำมาสู่การที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีมติให้สอบสวนนางจุฑามาศ ศิริวรรณ อดีตผู้ว่าการ ททท. ในฐานะผู้มีเอี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยงานอีกคนที่ยังไม่เปิดเผยชื่อด้วย
จากเหตุการณ์ ทำให้ทุกคนหันมาจับตามองเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ว่าแท้จริงแล้วมีประโยชน์กับประเทศจริงๆ หรือไม่ หรือเป็นแค่เพียงเครื่องมือหาเงินของกลุ่มคนบางกลุ่มก็เท่านั้น ด้วยเหตุนี้เอง เราจึงไปพูดคุยกับผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะผู้ที่คร่ำหวอดในแวดวงภาพยนตร์ เพื่อให้ช่วยอธิบายอะไรๆ ที่เกี่ยวกับเทศกาลนี้ เพื่อความกระจ่างที่มากขึ้นกว่าเดิม


อะไรเอ่ย? เทศกาลหนัง

ทุกวันนี้ โลกเรานั้นมีเทศกาลหนังมากมายหลายประเภท โดยหนังที่นำมาฉายในงาน ก็มักจะเป็นหนังนอกกระแส หรือมีรูปแบบเฉพาะ อย่างหนังแอนิเมชัน หรือหนังเกย์-เลสเบี้ยน โดยทั้งนี้ ก็จะขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของงานเป็นหลัก

โดยเทศกาลภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมก็มีอยู่หลากหลายงาน อาทิ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2475 เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน จัดเป็นประจำในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ตั้งแต่ปี 2494 เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ เป็นเทศกาลภาพยนตร์ที่มีมาตั้งแต่ปี 2489 ถือเป็นเทศกาลภาพยนตร์ที่มีอิทธิพลมากที่สุด รวมถึง จัดขึ้นทุกปีราวเดือนพฤษภาคม ที่ Palais des Festivals et des Congrès ในเมืองคานส์ ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส

เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน เป็นเทศกาลภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดของเอเชีย มีภาพยนตร์จาก 80 ประเทศทั่วโลก เน้นหนังจากเอเชียเป็นส่วนใหญ่ ที่สำคัญเทศกาลนี้ยังถือเป็นแหล่งเงินสำคัญที่เปิดโอกาสให้ผู้สร้างหนังเข้ามาเสนองานและหาทุนในการสร้างหนัง รวมถึงยังเป็นเทศกาลหนังที่เป็นจุดนัดพบและรวมตัวของคนในอุตสาหกรรมหนังของเอเชีย

สำหรับงานเทศกาลในเมืองไทยนั้น หลักๆ ก็มีอยู่ประมาณ 2-3 งาน อย่างเช่นเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ซึ่งก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2546 มีวัตถุประสงค์ เป็นการร่วมส่งเสริมวงการภาพยนตร์ในประเทศไทย ผ่านทางการจัดงานเทศกาลฯ ในระดับนานาชาติ ตัวงานประกอบด้วยการคัดเลือกภาพยนตร์คุณภาพจากทั่วโลก ซึ่งหาดูได้ยาก มาจัดฉายให้ผู้ชมในประเทศได้มีโอกาสรับชม และจัดฉายภาพยนตร์ไทย ให้ผู้เข้าร่วมงานจากทั้งในและต่างประเทศได้ชม รวมไปถึงการจัดกิจกรรมพิเศษ สัมมนา ฝึกอบรม และงานตลาดภาพยนตร์อีกด้วย

นอกจากนี้ก็มีงาน Word Film Festival และ Short Film Festival และรวมไปถึงงานเทศกาลหนังที่จัดโดยสถานทูตต่างๆ อีกด้วย

เทศกาลหนัง สำคัญที่เป้าหมาย

พิมพกา โตวิระ ผู้กำกับหนังอิสระชื่อดัง ในฐานะ Programming Director ของงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ปี 2552 กล่าวถึงสาเหตุที่ในปัจจุบันนี้มีงานเทศกาลออกมาเป็นจำนวนมากว่า น่าเป็นเพราะทุกวันนี้คนดูเริ่มมีความต้องการดูอะไรที่มันแตกต่างจากในระบบ อยากเปิดโลกทัศน์อะไรบางอย่าง ที่อาจจะขาดหายไป ซึ่งเทศกาลหนังเหล่านี้ถือเป็นทางออกที่ดีสำหรับบุคคลเหล่านี้

แล้วเมื่อเราให้ลองเปรียบเทียบระหว่างเทศกาลในประเทศกับต่างประเทศว่าเป็นอย่างไร ผู้กำกับฯ หญิงกล่าวว่า เรื่องนี้คงพูดลำบาก เพราะเทศกาลแต่ละงานนั้นจุดประสงค์และเป้าหมายที่แตกต่างกัน

“ถ้าเราจะพูดว่า เทศกาลเมืองนอกมันดีกว่าเมืองไทย ก็คงไม่ใช่นะ เพราะหลายๆ งานในเมืองนอกก็แย่มากๆ บางเทศกาลก็ไม่ได้เป็นที่ยอมรับ แต่มันอาจจะถูกจัดขึ้นมาเพื่อที่คนดูหนังอย่างเดียว คือทุกงานมันมีจุดโฟกัสที่ไม่เหมือนกัน อย่างเทศกาลใหญ่ๆ เขาก็ต้องการหนังพรีเมียร์ หรือหนังที่มันเพิ่งเสร็จ มีความน่าสนใจ มีความสด คือเขาตั้งใจจะทำหน้าที่เหมือนดิสคัฟเวอร์ หรือเป็นผู้ค้นพบเป็นหลัก”

นอกจากนี้ พิมพกา ยังกล่าวต่อถึงองค์ประกอบสำคัญของเทศกาลภาพยนตร์ด้วยว่า เรื่องที่สำคัญมากก็คือการหาเอกลักษณ์ของตัวเองให้เจอ อย่างงานเทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพฯ จุดน่าสนใจมากที่สุด ก็คือการที่งานส่วนหนึ่งโฟกัสไปที่การฉายหนังของกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งตอนนี้เริ่มทำอย่างจริงจังมาได้ 2 ปีแล้ว และโดยส่วนตัวคิดว่าต่อไป ตรงนี้จะกลายเป็นจุดแข็งของงานในอนาคต

“จริงๆ ในอาเซียนเองก็มีเทศกาลอยู่เยอะนะ แต่ที่กรุงเทพฯ มันโดดเด่น เพราะเราทำชัด และทำต่อเนื่อง อย่างปีที่แล้วเราเห็นเลย พวกอาจารย์ที่สนใจศึกษาเรื่อง อาเซียนศึกษา แล้วเห็นชื่อหนังที่เราฉาย เขาพร้อมเลยนะที่จะบินมาดู เพื่อดูพัฒนาการของหนังอาเซียนว่าไปถึงไหนแล้ว พี่เชื่อว่าต่อไปหากเราทำให้ตรงนี้เริ่มเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น โอกาสที่เราจะได้รับการยอมรับจากระดับนานาชาติก็มีมากขึ้น”

ขณะเดียวกัน ทุกวันนี้ ทางทีมงาน ได้พัฒนาให้งานเทศกาลมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น อย่างเมื่อปีที่แล้วก็เริ่มมีการทำคำบรรยายภาษาไทยในภาพยนตร์แต่ละเรื่องด้วย

“มันเป็นสิ่งที่ดีมากเลย เพราะมันช่วยทำให้คนอยากเดินเข้าไปมากขึ้น แล้วเทศกาลต่างๆ เขาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก ไปดูได้เลย คานส์ เบอร์ลิน เวนิส เขามีซับภาษาของประเทศเขา ปูซานมีซับเกาหลี อันนี้ถือเป็นการขยายกลุ่มให้เพิ่มขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ก็ต้องยอมรับว่า การที่ทำงานแบบนี้นั้นมีปัญหาอีกมากมาย โดยเฉพาะเรื่องหนังที่จะนำมาฉาย เพราะเดี๋ยวนี้งานแบบนี้มีเยอะมาก เพราะฉะนั้นทุกคนต้องมาแย่งหนัง หลายๆ เรื่องก็ต้องใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวถึงจะได้หนังมาฉาย

“ก่อนงานที่กรุงเทพฯ ก็คือปูซาน ซึ่งถือเป็นเทศกาลในเอเชียที่ใหญ่ที่สุดแล้ว และเขาก็ประสบความสำเร็จมากในวงการนานาชาติ จากวันที่เขาเริ่มถึงวันนี้ เขามีนโยบายที่ชัดเจน ที่ปูซานทำเนี่ย เขามีเป้าหมายเลยว่าเขาจะเป็นประตูแห่งเอเชีย ซึ่งตรงนี้มันก็เลยกลายเป็นปัญหาสำหรับเราเหมือนกันนะ เพราะว่าหนังที่เราอยากได้ ก็จะไม่ได้ เพราะปูซานเขาก็อยากหนังที่สดใหม่ โดยเฉพาะหนังในเอเชีย เราเองก็ลำบากเหมือนกันนะที่จะไปสู้กับเขา หรือหาหนังใหม่ๆ ที่เพิ่งออกมา เพราะเขาใหญ่ แล้วก็มีเครดิต

“เพราะฉะนั้นในฐานะของคนทำเทศกาล พี่จะไม่คิดถึงเรื่องแข่งขันกับการแข่งขันแบบนี้ พี่ก็เลยคิดว่า จริงๆ เทศกาลมันควรจะต้องทำหน้าที่อย่างอื่นด้วย อย่างเช่นทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนกันเองระหว่างอาเซียนที่ไม่ใช่แค่การฉายหนัง หรือการมาพบปะระหว่างคนทำหนัง ซึ่งมันจะเป็นจุดที่ช่วยต่อยอดการทำหนังของคนในประเทศนั้นๆ ด้วย”

สำหรับเรื่องความคุ้มค่าที่จะมีการจัดงานประเภทนี้ในประเทศไทย เจ้าของรางวัลศิลปาธร กล่าวว่า เรื่องนี้ก็คงต้องแล้วว่าเป็นมุมมองของใคร หากมองว่ามันเป็นแค่งานอีเวนต์ หรือแค่มาดูหนังก็จบ อย่างนี้ก็คงไม่คุ้ม แต่ในฐานะที่ตัวเองเป็นคนดูแลเรื่องหนังที่เอามาฉาย ก็ถือว่าคุ้ม เพราะเรามองว่าเทศกาลแบบนี้ มันเป็นอุณหภูมิวัดความก้าวหน้าของงานศิลปวัฒนธรรมภายในประเทศด้วย อย่างเกาหลีใต้ก็เห็นได้ชัดๆ เลย เพราะพอมีเทศกาลภาพยนตร์เมืองปูซาน อุตสาหกรรมภาพยนตร์ก็ยิ่งเติบโตมากขึ้น

เทศกาลหนัง (ของ) ไทย ต้องให้คนไทยทำ

ด้านผู้มีประสบการณ์อีกคนอย่าง เกรียงศักดิ์ ศิลากอง ผู้อำนวยการเทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพฯ กล่าวถึงการจัดเทศกาลภาพยนตร์ในประเทศไทยว่า กรุงเทพฯ หรือประเทศไทยเป็นเป้าหมายที่ชาวต่างชาติสนใจ โดยเฉพาะหนังไทยที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่หนังไทยอย่าง ‘นางนาก’ หรือ ‘องค์บาก’ ไปเปิดตลาดหนังเอเชีย

แต่ทว่า ดูเหมือนเทศกาลภาพยนตร์ในประเทศไทยจะไม่ไปไกลเท่าที่ควร อุปสรรคสำคัญก็มาจากภาครัฐนั้นเอง เพราะภาครัฐมักใช้ความเข้าใจในแบบของรัฐในการตัดสิน อะไรที่เสื่อมเสียชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของประเทศมักจะถูกแบน และห้ามนำเสนอ มุมมองของรัฐกับคนทำหนังจึงเป็นคนละเรื่องกัน ซึ่งจุดนี้ยิ่งทำให้ประเทศไทยดูล้าหลัง และไม่มีความเป็นประชาธิปไตยในการนำเสนอภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์สังคม

“ในอดีตตอนที่ทาง ททท. เขาไม่เอาเราแล้ว เราร่วมงานกันตั้งแต่ครั้งแรกในเทศกาลบางกอกฟิล์ม หลังจากนั้นเขาก็จ้างฝรั่งในปี 2546 เมื่อเอาไปให้ฝรั่งทำ ฝรั่งก็ไม่เข้าใจว่าจะช่วยเหลืออุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยยังไง ซึ่งเรารู้ว่าอีกฝั่งหนึ่งเขาต้องทำแบบอื่นแน่นอน มีดาราฮอลลีวูด เป็นหนังตลาดใหญ่ๆ เรารู้อยู่แล้วว่าเขาต้องไปทางนั้น เราก็ตั้งใจฉีกออกมาส่งเสริมภาพยนตร์นอกกระแส

“เราตั้งใจว่าเราต้องเป็น independent สปิริตของ independent ก็หมายความว่า เราไม่ขึ้นกับคำสั่งของรัฐ หรือใครมาสั่งเราว่าแบบนี้ไม่เอา แบบนี้ไม่ดี เรามีสีแบบหนังนอกกระแส เพราะเราไม่จำเป็นต้องฉายหนังที่ได้รางวัลมาแล้ว เราอยากจะได้หนังที่ไม่มีรางวัลด้วยซ้ำ ว่านี่แหละเป็นหนังที่เราค้นพบและอยากจะนำเสนอ”

ต่อคำถามว่า การจัดเทศกาลภาพยนตร์ในเมืองไทยนั้นเป็นการลงทุนแบบตำน้ำพริกละลายแม่น้ำหรือไม่ เกรียงศักดิ์ยอมรับว่า ใช่…

“ผมว่าเทศกาลหนังหลายเทศกาลก็ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ แต่จะตำน้ำพริกอย่างไรให้มันเข้มข้นและออกมารสชาติดี กินแล้วรู้สึกว่าดีแล้วล่ะที่เขาทุ่มเทเอายอดฝีมือมาตำน้ำพริก แต่ในขณะเดียวกันผลลัพธ์ที่ผ่านมาที่เขาจ้างฝรั่งทำ อันนั้นคือการใช้เงินที่เกินกว่าเหตุ ผมเห็นด้วยว่าไม่จำเป็น แล้วทำไมจะต้องพาเขาไปเที่ยว ต้องเซอร์วิสทุกอย่าง”

ที่เห็นๆ ก็คงจะเป็นงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปี 2550 ซึ่งใช้งบประมาณสูงยิ่งกว่า "เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน" ที่เกาหลีใต้ซะอีก

“สิ่งที่เป็นข้อครหา ผมว่าผู้จัดงานทำตัวเอง ไม่ใช่เฉพาะงานนี้อีกเยอะแยะเลยที่ภาครัฐเอง miss the point อันนี้เป็นเงินภาษีเรา แทนที่เงินส่วนนี้จะเอาไปช่วยเหลือคนทั้งประเทศที่เดือดร้อน ดันมาใช้สุรุ่ยสุร่าย ผมว่าคงไม่ใช่เป็นเฉพาะไทยแลนด์ ที่อื่นก็เป็น แต่ตรงนี้เป็นของเรา เราก็ต้องเดือดร้อน เรามีความรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เราต้องรู้ว่าเรายอมไม่ได้ ขอบคุณประเทศอเมริกาที่เขาไม่ยอม และคนของเขาเองก็จัดการกับคนของเขาแล้ว”
……….

ว่าไปแล้ว เทศกาลนี้ก็มีความสำคัญและมีประโยชน์ไม่น้อย ในฐานะที่ประเทศเราเป็นประเทศที่ร่ำรวยอารยะมากมาย แต่หากเจตนาและวัตถุประสงค์ของคนรับผิดชอบนั้นมีผลประโยชน์แอบแฝงก็เชื่อได้เลยว่า สิ่งดีๆ จะกลายเป็นเรื่องร้ายๆ ไปทันที

แต่อย่างว่า ประเทศไทยนั้นเป็นประเทศพุทธที่เชื่อในเรื่องของกฎแห่งกรรม หากใครทำชั่วไม่นานนักสิ่งที่ทำไว้ก็ต้องออกมาในที่สุด เหมือนกับใครบางทีก็กำลังจะได้รับอีกไม่นานนี้
……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK









กำลังโหลดความคิดเห็น