xs
xsm
sm
md
lg

ทำเงินบนโลกไอที (17) : 2 เรื่องแผนที่ที่ทุกธุรกิจไม่ควรพลาด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

Longdo Map แผนที่ออนไลน์ของคนไทย
สัปดาห์นี้"ทำเงินบนโลกไอที" จะพาคุณไปพบกับ 2 กิจกรรมพื้นฐานที่ทุกองค์กรธุรกิจไม่ควรพลาดโอกาสในการเก็บเกี่ยวประโยชน์จากบริการแผนที่ออนไลน์ ทั้ง 2 กิจกรรมไม่ต้องอาศัยความรู้ไอที และสามารถทำได้เลยหลังอ่านบทความจบ ที่สำคัญคือ ชื่อบริษัทหรือธุรกิจของคุณจะสามารถปรากฏต่อสายตาผู้ใช้งานแผนที่ออนไลน์ทั่วไทยและทั่วโลกได้ฟรี

***การตลาดผ่านแผนที่ออนไลน์ – ลงมือปฏิบัติ
(บทความโดย ดร.ภัทระ เกียรติเสวี www.mm.co.th)

จากตอนที่แล้ว เราพอได้เห็นภาพคร่าวๆว่าแผนที่ออนไลน์ยุคปัจจุบันเป็นอย่างไร พัฒนาไปถึงไหนกันแล้ว เพียงมีแค่เว็บเบราเซอร์ธรรมดาๆ เราก็สามารถเปิดดูแผนที่ได้ทั่วโลกจากเว็บผู้ให้บริการแผนที่รายต่างๆ ซึ่งก็มีหลากหลายทั้งไทยทั้งเทศ เช่น Google, Yahoo! หรือ Bing ของไมโครซอฟท์ หรือว่าจะเป็นผู้ให้บริการของไทย เช่น Longdo Map (ตอนที่แล้ว review ตกไปหน่อย), PointAsia หรือ MapGuideThailand

บริการของแต่ละค่ายนั้นมีจุดเด่นจุดด้อยต่างกันไป โดยมากการใช้งานพื้นฐานส่วนใหญ่ก็จะคล้ายๆ กัน จะต่างกันแค่ในรายละเอียดและในความสามารถขั้นสูงขึ้นไป เช่น ภาพแผนที่ของผู้ให้บริการไทยจะเน้นแสดงผลตำแหน่งสถานที่ต่างๆ ด้วย ขณะที่ค่ายของเมืองนอกจะไม่ค่อยเน้นเท่าไหร่ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะระบบบ้านเลขที่/ที่อยู่ของเมืองนอกเขาสามารถระบุตำแหน่งได้ชัดเจน จึงไม่มีความจำเป็นจำเป็นต้องแสดงตำแหน่งสถานที่ แค่บอกที่อยู่ก็ทราบตำแหน่งแล้ว ไม่เหมือนบ้านเรา รวมถึงการค้นหาจะเก่งมากเก่งน้อย และการอนุญาตให้นำแผนที่ไปใช้งานต่อ ก็จะมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป ฯลฯ

ถึงตรงนี้ หลายท่านอาจมีคำถามว่า ไอ้การเปิดแผนที่ดูว่าอะไรอยู่ที่ไหนน่ะ ใช้เป็นแล้ว แต่ในแง่ของผู้ประกอบการล่ะ จะใช้ประโยชน์จากบริการแผนที่ออนไลน์เหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง?

คำตอบจริงๆ มีหลากหลายมากครับ ตั้งแต่อะไรง่ายๆ ไปจนถึงการจัดทำระบบ GIS (ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์) ที่ซับซ้อนเลยทีเดียว แต่ในตอนนี้เราจะมาแนะนำ 2 วิธีง่ายๆ ในการใช้บริการแผนที่เหล่านี้ให้เป็นประโยชน์กับธุรกิจของท่านครับ

อันดับแรกเลยก็คือ เราสามารถนำแผนที่เหล่านี้มาแปะในเว็บไซต์ของเราได้ กรณีที่เราต้องการแสดงผลภาพแผนที่ ไม่ว่าจะเป็นแสดงตำแหน่งขององค์กรให้ลูกค้าของเรารู้ หรือ แสดงผลข้อมูลอะไรที่วิลิศมาหราไปกว่านั้น แทนที่จะต้องไปนั่งวาดกันเอง ถูกบ้างผิดบ้าง

ผู้ให้บริการแผนที่ออนไลน์ต่างๆ ส่วนใหญ่จะมีบริการให้เรานำแผนที่มาแสดงได้ฟรีๆ อยู่แล้วครับ (หมายถึง ตามช่องทางที่เขาอนุญาตนะครับ ไม่ใช่ไปทำ screenshot เอาดื้อๆ การทำ screenshot นั้นมีข้อเสียที่สำคัญด้วย คือเวลาเขาปรับปรุงแผนที่ ภาพ screenshot นั้นจะไม่ปรับปรุงตาม)

การแปะแผนที่ออนไลน์บนเว็บไซต์นั้นแบ่งเป็นแบบง่ายและยาก แบบง่ายคือการติดแผนที่เฉพาะส่วนที่แสดงตำแหน่งของธุรกิจเราแห่งเดียว แบบนี้สามารถทำได้โดยนำโค้ด HTML บรรทัดเดียวไปแปะในเว็บไซต์ ก็เสร็จแล้ว

เว็บให้บริการแผนที่ส่วนใหญ่จะมีบริการนี้ทั้งสิ้นครับ ยกตัวอย่าง เช่น Google Maps เขาเรียกว่า “ลิงก์” ส่วน Longdo Map เขาเรียกว่า “Snippet” ของ PointAsia เขาเรียก “MiniMap” เป็นต้น วิธีทำคือคุณต้องเข้าไปลากๆ เลื่อนๆ แผนที่แล้วมองหาปุ่มที่จะสร้าง ลิงก์ หรือ Snippet ตามที่ต้องการ เมื่อกดปุ่มแล้วจะได้เป็น HTML code สำหรับมาแปะในเว็บไซต์คุณเอง เมื่อเอาไปแปะก็จะได้ภาพแผนที่โผล่ขึ้นมาครับ

นอกจากนี้ เราสามารถสั่งแสดงข้อมูลอื่นๆ เช่น ตำแหน่งลูกค้า หรือ ยานพาหนะ หรือ ข้อมูลเชิงวิเคราะห์อื่นๆ ซ้อนไปบนแผนที่ได้ด้วย โดยผู้ให้บริการแผนที่ออนไลน์ต่างๆ มักจะมีสิ่งที่เรียกว่า API หรือ Application Programming Interfaces ซึ่งพูดภาษาชาวบ้านก็คือ ช่องทางสำหรับให้ระบบเว็บของเราไปเรียกใช้บริการแผนที่มาแสดงในหน้าเว็บของเรา ซึ่งอาจจะซับซ้อนกว่าตัวอย่าง HTML code ข้างต้น แต่โดยมากก็มักจะเป็นภาษา JavaScript ซึ่งเป็นมาตรฐาน เว็บโปรแกรมเมอร์ทั่วๆ ไป น่าจะสามารถทำความเข้าใจได้ไม่มีปัญหา โดยเว็บที่นำเอา API มาใช้ในลักษณะนี้เราจะเรียกกันว่า mash-up นั่นเองครับ

ด้วย API นี้ เราสามารถทำอะไรที่มันหวือหวาขึ้นนอกเหนือจากแสดงแผนที่นิ่งๆ เช่น สั่งเลื่อนตำแหน่ง, วาดวัตถุซ้อนลงบนแผนที่, รวมถึงคำนวณเส้นทางจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งได้ ฯลฯ เรียกได้ว่าสามารถพัฒนาเป็น web application ทาง GIS ได้เลย โดยบริการในรูปแบบ API นี้ ส่วนใหญ่จะมีแบบให้ใช้ฟรี แต่เราต้องดูในรายละเอียดด้วยว่ามีเงื่อนไขการใช้งานหรือไม่อย่างไรครับ

เช่น บางเจ้าอนุญาตให้ใช้ฟรีไม่จำกัดปริมาณข้อมูล แต่จะจำกัดประเภทของงาน และ การเข้าถึงเว็บไซต์ เช่น ถ้านำไปใช้ในงานติดตามยานพาหนะ หรือ ใช้ในเว็บ Intranet องค์กรที่ชาวบ้านไม่สามารถเข้าถึงได้ ก็จะต้องเสียค่าใช้จ่าย ในขณะที่บางเจ้าไม่จำกัดประเภทของงานและการเข้าถึงเว็บไซต์ แต่ไปจำกัดที่ปริมาณข้อมูลแทน เป็นต้น

ตัวอย่างการนำไปใช้ในรูปแบบ API นี้มีได้หลากหลายมาก ยกตัวอย่าง เช่น BigC ใช้แผนที่ Google Maps ในการแสดงตำแหน่งสาขาของตน, Agoda ใช้ Google Maps ในการแสดงตำแหน่งของโรงแรมต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของผู้ใช้ หรือ NECTEC ที่ใช้ API ของ Longdo Map ในการพัฒนาเว็บสำหรับรายงานข้อมูลสภาพจราจร

มาถึงอันดับที่สอง คือ นอกจากที่เราจะนำแผนที่มาใส่ในเว็บเราแล้ว กลับกัน เราสามารถเอาข้อมูลธุรกิจของเราไปใส่ในเว็บแผนที่เหล่านี้ได้ด้วย ซึ่งเรามักจะเรียกกันว่าการไป “ปักหมุด” นั่นเอง

การปักหมุดเป็นช่องทางหนึ่งในการประชาสัมพันธ์องค์กรของเราโดย “ง่าย” และที่สำคัญ “ฟรี” การที่เราไปปักหมุดตามเว็บต่างๆ เหล่านี้ จะทำให้ผู้ใช้ที่ใช้บริการแผนที่ออนไลน์เหล่านี้อยู่ รวมถึงผู้ใช้ทั่วๆ ไปที่ค้นหาด้วย Google หรือ search engine อื่นๆ ก็มีแนวโน้มที่จะเจอธุรกิจของเราได้ง่ายขึ้นด้วย โดยที่ยังไม่ต้องไปลงโฆษณาให้เสียเงินเลย ขอแค่อย่าไปปักหมุดหลอกๆ หรือ ปักซ้ำๆ จนโดนเขาแบนเท่านั้น

วิธีการปักหมุดก็จะขึ้นอยู่กับบริการของแต่ละเจ้า เช่น ของ Google เขาจะเรียกว่า บริการ Local Business Center ที่อนุญาตให้เจ้าของกิจการ เข้ามาปักหมุดตำแหน่งธุรกิจของตัวเอง ซึ่งเมื่อเข้าไปแล้ว เมื่อค้นหาด้วย Google หรือ Google Maps ก็จะเจอธุรกิจของเรา

ใน Local Business Center เราสามารถกรอกรายละเอียดทั่วๆ ไปของธุรกิจ เช่น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทร เวลาเปิดปิด ไปจนถึง รูปภาพ วีดีโอ เงื่อนไขการชำระเงิน ซึ่งหลังจากที่กรอกข้อมูลแล้ว ผู้ใช้บริการแผยที่ของกูเกิลทั่วโลกก็จะค้นหาเจอชื่อธุรกิจที่คุณป้อนเข้าไป

มาดูค่ายแผนที่ออนไลน์ของไทยกันบ้าง เริ่มด้วย PointAsia จะมีบริการ directory ที่เรียกว่า PointThailand โดยจะมีการจัดกลุ่มรวบรวมตำแหน่งธุรกิจบนแผนที่เป็นหมวดๆ โดยเราสามารถ login และเข้าไปกรอกรายละเอียดของธุรกิจเราได้ ส่วน Longdo Map ก็เปิดให้ปักหมุดสถานที่เช่นกัน สามารถป้อนรายละเอียด, อัพโหลดรูปและไฟล์ต่างๆ ได้ รวมถึงสามารถใส่ “tag” ให้กับสถานที่ได้ด้วย มีประโยชน์มากสำหรับธุรกิจที่มีหลายสาขา เพราะมีการค้นหา tag ชื่อนั้นๆ ระบบก็จะแสดงผลหมุดของทุกๆ สาขาของธุรกิจเราได้

หลักการทำงานของบริการไทยนั้นไม่ต่างกับกูเกิล เมื่อป้อนข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท ก็จะค้นหาเจอในบริการนั้นๆ ซึ่งเมื่อผู้ใช้ค้นหาชื่อสถานที่ในเสิร์ชเอนจิ้นทั่วๆ ไป ก็จะเพิ่มโอกาสที่จะเจอสถานที่ของเรา จากหน้าที่ไปปักหมุดไว้ด้วย

บริการแผนที่ต่างๆ นอกจากดูทางเว็บแล้ว บางทีเราก็ยังสามารถดูแผนที่ได้จากโทรศัพท์มือถือได้ด้วย เช่น Ovi Maps ของค่ายโนเกีย, Google Maps รุ่นมือถือ ที่บางทีติดตั้งมากับมือถือที่ซื้อมาใหม่เลย หรือจะเป็น Longdo Mobile ก็มีรุ่นสำหรับ Windows Mobile, iPhone, Android, และ Java ซึ่งเมื่อปักหมุดธุรกิจของเราบนเว็บผู้ให้บริการแผนที่ออนไลน์เหล่านี้แล้ว ผู้ใช้จะสามารถเข้าถึงข้อมูลธุรกิจของเราได้ผ่านโปรแกรมบนโทรศัพท์มือถือ นำไปสู่บริการประเภท"แนะนำร้านอาหารที่อยู่ใกล้" ฯลฯ

นอกเหนือจากนี้ก็ยังมีเว็บไซต์ที่นำบริการแผนที่ออนไลน์เหล่านี้มาต่อยอดให้เกิดเป็นธุรกิจและบริการใหม่ๆ เช่น yelp เป็นเว็บไซด์ที่ให้บริการในการค้นหาธุรกิจในท้องถิ่น เช่น ร้านอาหาร ร้านค้าบริการต่างๆ โดยเน้นให้เจ้าของธุรกิจมาสร้างข้อมูลธุรกิจของตนบนเว็บไซด์ และให้ผู้ใช้งานทั่วไปเข้ามาเขียนความเห็นเกี่ยวกับธุรกิจนั้นๆ โดยตั้งอยู่บนหลักความคิดที่ว่า คนส่วนใหญ่มักจะอยากฟังความเห็น แลกเปลี่ยนกับผู้อื่นๆ ก่อนที่จะตัดสินใจใช้บริการหนึ่งๆ

หรือจะเป็นทางด้านอสังหาริมทรัพย์ ก็สามารถนำแผนที่มาใช้แสดงตำแหน่งของบ้าน/ห้องเช่า ค้นหาแล้วก็เห็นตำแหน่งเลย อย่าง housingmap.com

ส่วนของไทยเราก็มีบริการ mashup ที่น่าสนใจชื่อ EDT Guide เป็นศูนย์รวมข้อมูล กิน ดื่ม เที่ยว โดยมีการนำแผนที่ไปใช้ในการค้นหาร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว

ส่วนทางฝั่งญี่ปุ่น ความก้าวหน้าด้านแผนที่ออนไลน์นั้นไปไกลมาก ตัวแผนที่นั้นละเอียดมากถึงขอบอาคาร แนวฟุตบาท เกาะกลางถนน สะพานคนข้าม ฯลฯ กันเลยทีเดียว และบริการค้นหาสถานที่ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร, ที่พัก, สถานที่ช๊อปปิ้งก็ทำได้ละเอียดมาก

หวังว่าท่านจะได้ประโยชน์จากการใช้แผนที่ออนไลน์มาช่วยในการประชาสัมพันธ์และเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจของท่าน และได้เห็นภาพแนวทางการนำแผนที่ออนไลน์ไปประยุกต์ใช้ไม่มากก็น้อยครับ!
โครงการ PERCH-CIC ใช้ Longdo Map ในการแสดงที่ตั้งตำแหน่งของโรงแรมที่จัดงานประชุมนานาชาติ
BigC ใช้แผนที่ Google Maps ในการแสดงตำแหน่งสาขาของตน
Agoda ใช้ Google Maps ในการแสดงตำแหน่งของโรงแรมต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของผู้ใช้
NECTEC http://traffic.thai.net ใช้ API ของ Longdo Map ในการพัฒนาเว็บสำหรับรายงานข้อมูลสภาพจราจร
กรอกข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรของตนใน Google Local Business Center
หลังจากที่กรอกข้อมูลแล้ว ก็จะค้นหาเจอธุรกิจที่ป้อนเข้าไป
เพจป้อนข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทใน PointThailand
หน้าจอหนึ่งของเว็บ yelp.com
หน้าจอเว็บ housingmap.com
หน้าจอหนึ่งของเว็บ edtguide.com
ตัวอย่างภาพแผนที่ของ Yahoo Maps Japan สี่แยกแห่งหนึ่งในกรุงโตเกียว
ตัวอย่างหน้าเว็บของ Mapion แสดงผลการค้นหาร้านอาหารในย่านชินจูกุ
กำลังโหลดความคิดเห็น