xs
xsm
sm
md
lg

ปปช.เรียกเถ้าแก่โรงสีทั่วเหนือล่างสอบ เดินเครื่องเอาผิดขบวนการทุจริตข้าวพิจิตร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พิจิตร - ปปช.เอาจริงสางคดีทุจริตข้าวเมืองชาละวัน เอาผิดทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ-เอกชนร่วมมือโกงโครงการจำนำข้าวรัฐปี 46/47 ระบุ“โจ เพรสซิเด้นท์พิจิตร” เป็นตัวการนายหน้าเจรจาให้สินบนรับข้าวเสื่อมคุณภาพเข้าคลังสินค้าจนรัฐขาดทุนขาย/ส่งออก ไม่ได้ เสียหายหลายพันล้านบาท เรียกสอบเถ้าแก่โรงสี 5 จังหวัดเกือบร้อยคน ชี้มีเอี่ยวมีสิทธิติดคุกกันระนาว

รายงานข่าวจากจังหวัดพิจิตร แจ้งถึงความคืบหน้าในการเอาผิดกับขบวนการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวของ จ.พิจิตร ตั้งแต่ปี 2546 / 2547 ที่ทำให้รัฐบาลเสียหายหลายพันล้านบาท ซึ่งสำนักงานปปช.ได้มีคำสั่งที่ 9 / 2550 และ 369 / 2551 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2551 แต่งตั้งศาสตราจารย์เมธี ครองแก้ว เป็นประธานอนุกรรมการในการสอบการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวของ จ.พิจิตร นั้นปรากฏว่า บัดนี้ ได้มีการรวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาเสร็จแล้ว

พร้อมกับได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อนายนิมล รักดี หรือ “โจ เพรสซิเด้นท์พิจิตร” ได้รับทราบข้อกล่าวหาในฐานมีความผิดเป็นผู้สนับสนุนพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ประกอบด้วย ป.อาญา ม.86 โดยเหตุได้เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 – 30 มกราคม 2547 ซึ่งขณะนี้ผู้ถูกกล่าวหาได้เข้าให้การกับ ปปช. แล้ว

ทั้งมีรายงานเพิ่มเติมว่า ปปช. ยังส่งหมายเรียกถึงเถ้าแก่โรงสีจาก 5 จังหวัด อันได้แก่ จังหวัดพิจิตร , พิษณุโลก ,กำแพงเพชร ,เพชรบูรณ์ และอุตรดิตถ์ เกือบร้อยโรง ที่คาดว่าอาจมีเอี่ยวในการทุจริตครั้งนี้ไปสอบปากคำ ซึ่งคาดว่าภายในปี 2553 จะมีการสรุปสำนวนเพื่อส่งฟ้องศาลเอาผิดพวกขบวนการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวของ จ.พิจิตร ปี 2546 / 2547 เป็นกลุ่มแรก และยังมีอีกหลายสิบคดีที่รอการสะสางต่อไป

ในหมายเรียกดังกล่าว ระบุว่า กรณีทุจริตโครงการจำนำข้าวพิจิตร ปี 2546/47 นั้น เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2546 และ วันที่ 31 ธันวาคม 2546 อตก.ได้มีคำสั่งให้นายประทีป อยู่สถาพร ขณะนั้นดำรงตำแหน่ง รองผจก.เขต9 จ. อุทัยธานี ไปปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าคลังสินค้าของบริษัทพิจิตรโรงสีร่วมเจริญ 2 ไรซ์ จำกัด และหัวหน้าคลังสินค้าของบริษัทสยามกสิกิจไรซ์มิลล์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.วังตะกู อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร โดยทำหน้าที่ตรวจสอบและรับมอบข้าวสารที่ต้องส่งมาจากโรงสี 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพิจิตร , พิษณุโลก ,กำแพงเพชร ,เพชรบูรณ์ และอุตรดิตถ์

แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 ซึ่งเป็นวันแรกที่คลังสินค้าทั้งสองเปิดรับข้าวสารเพื่อเก็บรักษา ได้มีรถยนต์บรรทุกข้าวสารมาเก็บไว้ในคลังสินค้า ระหว่างนั้นปรากฏข้อเท็จจริงว่า (นายนิมล รักดี) ในฐานะพนักงานของบริษัท เพรสซิเด้นท์ อะกริเทรดดิ้ง จำกัด มาติดต่อขอนำข้าวสารที่ไม่ใช่ข้าวตามโครงการรับจำนำข้าวปีการผลิต2546 / 2547 เข้าเก็บในคลังสินค้าดังกล่าว พร้อมกับยืนยันว่า บริษัท เพรสซิเด้นท์ อะกริเทรดดิ้ง จำกัด จะรับซื้อคืนไปทั้งหมดในอนาคต

และปรากฏข้อเท็จจริงจากการรับสารภาพของ นายประทีป ต่อพนักงานสอบสวนด้วยว่า นายประทีป ได้รับเงินสดจากนายนิมล รักดี หรือ “โจ เพรสซิเด้นท์พิจิตร” เพื่อตอบแทนในการอำนวยความสะดวกดังกล่าวคราวละ 30,000 -40,000 บาท รวมแล้วทั้งหมดประมาณ 200,000 – 300,000 บาท และปรากฏว่าพนักงานของบริษัทตรวจสอบคุณภาพข้าว คือ บริษัท ซัลมาน อินสเปคชั่น จำกัด มีส่วนรู้เห็นและได้รับค่าตอบแทนเช่นเดียวกันด้วย

ต่อมาองค์การตลาดเพื่อการเกษตรมีคำสั่งที่ 40 /2547 ลงวันที่ 2 มีนาคม 2547 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบการเก็บรักษาข้าวสารในคลังสินค้า โดรงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2546 / 2547 ของคลังสินค้าบริษัทสยามกสิกิจไรซ์มิลล์ จำกัด

โดยมี นายพีรศักดิ์ แม้นสมุทร ผู้จัดการ อ.ต.ก.เขต10 เป็นประธานกรรมการ สรุปผลการตรวจสอบคลังสินค้าบริษัทสยามกสิกิจไรซ์มิลล์ จำกัด มีข้าวสารที่ไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข คือ ไม่ใช่ข้าวตามโครงการปี 2546 / 2547 โดยเป็นข้าวสารในโครงการปี 2544 / 2545 , ปี 2546 / 2547 รวมเป็นจำนวน 73,297 กระสอบ

คำสั่งที่ 41 / 2547 ลงวันที่ 2 มีนาคม 2547 ขององค์การตลาดเพื่อการเกษตร แต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบการเก็บรักษาข้าวสารในคลังสินค้า โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2546/ 2547 ของคลังสินค้าบริษัทพิจิตรร่วมเจริญ 2 ไรซ์จำกัด โดยมีนายไมตรี วิฑรูย์ ผู้จัดการ อ.ต.ก.เขต 9 เป็นประธานกรรมการ สรุปผลการตรวจสอบคลังสินค้าบริษัทพิจิตรร่วมเจริญ 2 ไรซ์จำกัด มีข้าวสารที่ไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข คือ ไม่ใช่ข้าวตามโครงการปี 2546 / 2547 โดยเป็นข้าวสารโครงการอื่น ปี 2544 / 2545 , ปี 2545 / 2546 รวมเป็นจำนวน 93,311 กระสอบ

กรณีดังกล่าวทำให้ทางราชการได้รับความเสียหาย กล่าวคือ โรงสีที่ร่วมโครงการรับจำนำข้าว รัฐบาลจะจ่ายเงินค่าดำเนินการให้กับโรงสี เช่น ค่ากระสอบใบละ 37 บาท ค่าขนส่งข้าวกระสอบละ 25 บาท ละค่าสีข้าว ( มูลค่า) เกวียนละ 450 บาท แต่โรงสีไปซื้อข้าวเก่ามาจากผู้รับซื้อข้าวตามโครงการเก่าจากรัฐบาลในราคากระสอบละ 600 บาทเศษ มาสวมแทนเป็นข้าวฤดูกาลใหม่ ( ปี 2546 / 2547 )ซึ่งตามความจริงจะต้องเป็นราคากระสอบละ 900 บาทเศษ มาส่งให้ อ.ต.ก.เก็บไว้ในคลังสินค้า ผู้กระทำผิดจะได้ผลประโยชน์จากส่วนต่างของราคาข้าวเก่าและใหม่ อีกทั้งค่าดำเนินการที่รัฐบาลจ่ายให้กับโรงสีด้วย

ข้าวตามโครงการก่อนปี 2546/47 ที่รัฐบาลขายในราคากระสอบละ 600 บาทเศษ มีเงื่อนไขว่าจะต้องนำข้าวไปจำหน่ายต่างประเทศ ห้ามเวียนกลับมาขายใหม่ในประเทศ การที่นายนิมล รักดี หรือ “โจ” ในฐานะพนักงานของบริษัทเพรสซิเด้นซ์ อะกริเทรดดิ้ง จำกัด ที่ติดต่อขอโควต้าข้าวสารที่จะต้องส่งคืนคลังสินค้าจากโรงสีที่เข้าร่วมโครงการ โดยทำหน้าที่ส่งข้าวสารแทนโรงสี ทำให้มีการนำข้าวสารตามโครงการปีก่อนๆของรัฐบาลเข้ามาเก็บในคลังสินค้าทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ เนื่องจากทำให้โครงการับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2546 / 2547 ไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์

การกระทำของ นายนิมล รักดี หรือ “โจ เพรสซิเด้นท์พิจิตร” จึงมีมูลความผิดทางอาญาเป็นผู้สนับสนุนพนักงาน เรียกรับ หรือ ยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำหรือไม่กระทำการอย่างใดในหน้าที่ ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ และผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือหาทรัพย์ใดๆใช้อำนาจในหน้าที่โดยทุจริตอันเป็นการเสียหายองค์กร บรัษัท จำกัด ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น

รวมทั้งมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติ ว่า ด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ประกอบกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86 เหตุเกิดระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 ถึง วันที่ 30 มกราคม พ.ศ.2547 ตำบลวังตะกู อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน







กำลังโหลดความคิดเห็น