ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง “พิเชษฐ์ แก้วสามดวง” หรือ ส.ทักษิณ จำเลยคดีร่วมฆ่า “ไมเคิล วันสเลย์” ผู้ตรวจสอบทุจริตโรงงานน้ำตาล ระบุไม่มีประจักษ์พยานเห็น แถมพยานแวดล้อมให้การขัดกัน จึงยกประโยชน์ให้จำเลย พิพากษายกฟ้อง แต่ให้ขังจำเลยไว้ระหว่างฎีกา
วันนี้ (2 ก.ย.) เมื่อเวลา 10.00 น.ที่ห้องพิจารณาคดี 714 ศาลอาญา ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีที่ พนักงานอัยการจังหวัดนครสวรรค์ เป็นโจทก์ฟ้อง นายพิเชษฐ์ แก้วสามดวง หรือ ส.ทักษิณ เป็นจำเลยในคดีร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 มี.ค.42 เวลากลางวัน จำเลยเป็นมือปืนร่วมกับ นายสมชาย ใจห้าว ทำหน้าที่ขี่รถจักรยานยนต์ ได้ร่วมกันฆ่า นายไมเคิล เออร์วิน วันสเลย์ หัวหน้าฝ่ายตรวจสอบบัญชีของบริษัท เซ้าท์สารธร แพลนเนอร์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบการทุจริตของโรงงานน้ำตาลเกษตรไทยที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ ถึงแก่ความตาย เหตุเกิดที่บริเวณทางเข้าโรงงานน้ำตาล ตำบลหนองโพ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ โดยศาลจังหวัดนครสวรรค์มีคำพิพากษาให้จำคุกนายสมชายตลอดชีวิต ขณะที่นายพิเชษฐ์นั้น ศาลอาญามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 24 ก.ค.51 ให้ยกฟ้อง แต่ให้ขังไว้ระหว่างอุทธรณ์ โจทก์ยื่นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยร่วมกับนายสมชายกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่าโจทก์ไม่มีประจักษ์พยานเห็นว่าจำเลยกระทำผิด มีเพียงบันทึกคำให้การของนายสมชาย คนขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ระบุว่าจำเลยเป็นคนนั่งซ้อนรถไปก่อเหตุ ซึ่งถือเป็นคำให้การซัดทอดจำเลย ขณะที่พยานแวดล้อมเองก็ให้การขัดกันในเรื่องเวลาที่เกิดเหตุ และเรื่องที่นายสมชายนำรถจักรยานยนต์ไปคืน กรณีจึงยังมีความสงสัยว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย พิพากษายกฟ้องแต่ให้ขังจำเลยไว้ระหว่างฎีกา
หลังจากนั้นญาตินายพิเชษฐ์ จำเลย ได้ยื่นคำร้องขอประกันตัว พร้อมหลักทรัพย์เป็นห้องอาคารชุดย่านปากเกร็ด จ.นนทบุรี เนื้อที่ 28.40 ตารางเมตร ราคาประเมิน 440,200 บาท พร้อมเงินสดอีกจำนวน 60,000 บาท รวมราคาทั้งสิ้น 500,200 บาท ศาลพิจารณาแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยระหว่างฎีกา โดยตีราคาประกัน 500,000 บาท
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับคดีฆ่านายไมเคิลนั้น ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 5 ก.ย.49 คดีที่พนักงานอัยการจังหวัดนครสวรรค์ และนายอดัม เออร์วิน วันสเลย์ บุตรชายนายไมเคิล ร่วมกันเป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายบุญพรรณ สุทธิวิริวรรณ, นายสมโชค สุทธิวิริวรรณ น้องชายนายบุญพรรณ, นายประดิษฐ์ ศิริวิริยะกุล กรรมการบริหารโรงงานน้ำตาลเกษตรไทย และนายสมพงษ์ บัวสกุล หรือพงษ์ ปากพนัง ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานจ้างวาน ฆ่า และร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งศาลอาญา พิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต จำเลยที่ 1 ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.289 (4) และฐานเป็นผู้ให้การช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกผู้อื่นกระทำผิด ตาม ม.86 และให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 2 และ 4 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.289 (4) และม.83 สำหรับจำเลยที่ 3 พิพากษาให้ยกฟ้อง
สำหรับคดีนี้เป็นข่าวครึกโครมเมื่อ 10 ปีก่อน เมื่อนายไมเคิล เออร์วิน วันสเลย์ หัวหน้าฝ่ายตรวจสอบบัญชีของบริษัท เซ้าท์สารธร แพลนเนอร์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบการทุจริตของโรงงานน้ำตาลเกษตรไทยที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ ถูกคนร้ายประกบยิงเสียชีวิต ขณะนั่งรถตู้เดินทางเข้าไปตรวจสอบการทุจริตในโรงงานน้ำตาลเกษตรไทย ต.หนองโพ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ เมื่อวันที่ 10 มี.ค.2542 หลังเกิดเหตุตำรวจนครสวรรค์ร่วมกับกองปราบปรามออกสืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิด กระทั่งสามารถจับกุม นายสมชาย ใจห้าว คนขี่รถจักรยานยนต์ให้มือปืน ซึ่งให้การว่า กรรมการบริหารโรงงานน้ำตาลเกษตรไทยได้จ้างวานนายบุญพรรณ สุทธิวิริวรรณ นายสมโชค สุทธิวิริวรรณ (น้องชาย) นายสมพงษ์ บัวสกุล หรือ พงษ์ ปากพนัง และนายสมชาย ใจห้าว จำเลยร่วมในคดีนี้ ขี่รถจักรยานยนต์ตามประกบยิงนายไมเคิลเสียชีวิต และให้การซัดทอดนายพิเชษฐ์ แก้วสามดวง หรือ ส.ทักษิณ ว่าเป็นคนใช้ปืน 11 มม.ระดมยิงเข้าใส่เหยื่อจนเสียชีวิต
ต่อมา ศาลอาญาได้พิพากษาเมื่อวันที่ 5 ก.ย.2549 ให้จำคุกนายบุญพรรณ ตลอดชีวิต ประหารชีวิตนายสมโชค และนายสมพงษ์ ส่วนกรรมการโรงงานน้ำตาลเกษตรไทยไม่มีพยานหลักฐานชี้ชัดพิพากษาให้ยกฟ้อง ต่อมาตำรวจติดตามจับกุม ส.ทักษิณ และเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีในชั้นศาล กระทั่งมีคำพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 23 ก.ค.2551