สุรินทร์ – เกษตรกรไทยไร้ที่ทำกินภาคอีสาน-ตะวันออก กลุ่ม “สภาประชาชน 4 ภาค” กว่า 4 หมื่นคน แห่ลงทะเบียนที่ “วัดป่าเขาโต๊ะ” อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ เตรียมเคลื่อนไหวเสนอรัฐบาลขอใช้พื้นที่ป่าเสื่อมโทรมว่างเปล่าตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา 900 กม.จัดสรรให้ ปชช.เข้าใช้ประโยชน์ทำการเกษตรแก้ปัญหาไร้ที่ทำกิน และเป็น “แนวกันชน” พร้อมรักษาป่าสกัดเขมรรุกล้ำ ยึดครองแผ่นดินไทย เผยนัดรวมพลใหญ่ 2 พ.ย.นี้ ขณะที่ทหารเขมรทราบความเคลื่อนไหวส่งกำลังประชิดชายแดนด้าน “ปราสาทตาควาย” แต่สถานการณ์ยังปกติ
วันนี้ (30 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วัดป่าเขาโต๊ะ อุทยานการศึกษา บ.เขาโต๊ะ ม.1 ต.บักได อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ ได้มีกลุ่มประชาชนจากพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี, ศรีสะเกษ, สุรินทร์, บุรีรัมย์, สกลนคร, จันทบุรี และ จังหวัดตราด รวมกว่า 40,000 คน ได้ทยอยเดินทางมา ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ขอเข้าจับจองที่ดินตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ตลอดแนวชายแดนตั้งแต่ จ.อุบลราชธานี ไปจนถึง จ.ตราด ซึ่งมีระยะทางตลอดแนวชายแดนกว่า 900 กิโลเมตร
โดยมี นายประภาส โงกสูงเนิน ประธานสภาเครือข่ายประชาชนภาคอีสาน (สอส.) และ แกนนำสภาประชาชน 4 ภาค เป็นแกนนำ พร้อมด้วย พระครูพนมศีลาจาร เจ้าอาวาสวัดเขาโต๊ะ, นายวินันท์ สุขประสพ กำนัน ต.บักได และ นายอุบลรัตน์ งาตา ผู้ใหญ่บ้านเขาโต๊ะ นายศิริพงษ์ ยั่วยวนดี ชาวบ้านไทยสามัคคี ต.บักได อ.พนมดงรัก แกนนำสภาประชาชน 4 ภาค เป็นผู้ดำเนินการจัดทำเอกสารและหลักฐานในการลงทะเบียน
นายศิริพงษ์ ยั่งยวนดี แกนนำสภาประชาชน 4 ภาค จ.สุรินทร์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า หลังจากเปิดโอกาสให้ประชาชน จากจังหวัดต่างๆ ทั่วภาคอีสาน และจังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกที่ยังไม่มีพื้นที่ทำกิน เดินทางมาลงชื่อ เพื่อขอรับสิทธิในการขอใช้พื้นที่ชายแดนว่างเปล่าจากรัฐบาล เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตร ปลูกยางพารา มันสำปะหลัง ยูคาลิปตัส ซึ่งมีพื้นที่ตลอดแนวชายแดนไทยกัมพูชา กว่า 1,800,000 ไร่ ที่เป็นพื้นที่ว่างเปล่า ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร และหน้าแล้งก็เกิดไฟไหม้ ต้นไม้เสียหาย
ดังนั้น ทางสภาประชาชน 4 ภาค เห็นความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งหลังรับลงทะเบียนแล้ว จะมีการประชุมร่วมกันทั้งหมดในวันที่ 2 พ.ย.นี้ เพื่อหาข้อสรุปและเสนอขอความเห็นต่อรัฐบาล ในการขอใช้พื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ด้วยการแบ่งพื้นที่ให้ประชาชนใช้ประโยชน์ทำกินและเป็นกันชนป้องกันชายแดนให้แก่ประเทศไทย ซึ่งสุดแล้วแต่ว่า รัฐบาลจะเห็นด้วยหรือไม่
พระครูพนมศีลาจาร หรือ พระอาจารย์วสันต์ วังคีโส เจ้าอาวาสวัดป่าเขาโต๊ะ เจ้าคณะสงฆ์ตำบลบักได และรักษาการเจ้าคณะสงฆ์อำเภอกาบเชิง, อำเภอพนมดงรัก จ.สุรินทร์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ประชาชนจากจังหวัดต่างๆ ได้พากันมาลงชื่อล่าสุดจนถึงขณะนี้ กว่า 40,000 คน แล้ว และคาดว่าในวันที่ 2 พ.ย.นี้ จะมีประชาชนมาร่วมประชุมกันที่โรงเรียนวิถีแห่งธรรมวัดป่าเขาโต๊ะกว่า 60,000 คน อย่างแน่นอน
ทั้งนี้ เพราะสภาประชาชน 4 ภาค จะร่วมกันแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนชาวไทยที่ยังไม่มีที่ดินทำกิน เราจะเสนอแผนงาน จัดสรรพื้นที่ดิน ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา กว่า 1,800,000 ไร่ ตั้งแต่ จ.อุบลราชธานีไปยัง จ.ตราด เพื่อนำที่ดินว่างเปล่ามาแบ่งให้ประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกิน ได้ใช้ประโยชน์ ในด้านการเกษตร และยังจะเป็นแนวกันชนในพื้นที่ชายแดน ไทย-กัมพูชา ด้วย
ส่วนพื้นที่ที่ยังเป็นป่าไม้เราจะช่วยกันรักษา สำหรับพื้นที่แล้งแห้งว่างเปล่า จะนำมาแบ่งปันกันทำการเกษตรและรักษาพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ไม่ให้ทั้งทหารกัมพูชา และประชาชนชาวกัมพูชารุกล้ำเข้ายึดที่ดินของไทยอีกต่อไป
พระครูพนมศีลาจาร กล่าวต่อว่า ขณะนี้พื้นที่ชายแดนไทยถูกชาวกัมพูชารุกล้ำพื้นที่ชายแดนเข้ามายึดพื้นที่เราเป็นจำนวนมาก มีการเคลื่อนย้ายหลักเขตแดน และที่สำคัญมีการเข้ามาลักลอบตัดไม้พะยูงตามแนวชายแดนลึกเข้ามาในเขตแดนไทยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะทหารกัมพูชา เพราะวัดป่าเขาโต๊ะก็อยู่ใกล้ชายแดน ชาวกัมพูชา เข้ามารับจ้างทำงาน ในเขตไทยก็เล่าให้ฟังหมดว่าขณะนี้ทหารกัมพูชา เข้ามาตัดไม้พะยูง ในเขตไทยมาก
“สภาประชาชน 4 ภาค เขาเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจึงมาปรึกษาอาตมา ขอใช้พื้นที่วัดป่าเขาโต๊ะในการให้ประชาชนมาลงชื่อ เพื่อเสนอแนะปัญหา ไปยังรัฐบาล และขอใช้พื้นที่ป่าเสื่อมโทรมตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ในการทำกิน และเป็นแนวกันชนชายแดน ไทย-กัมพูชา พร้อมทั้งช่วยรักษาป่าไม้ให้ประเทศอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะเห็นด้วยหรือไม่” พระครูพนมศีลาจาร กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ขณะเดียวกัน ด้านความเคลื่อนไหวของทหารกัมพูชา บริเวณบ้านทมอโดน อ.บันเตียอำปึล จ.อุดร มีชัย ซึ่งตั้งฐานที่มั่นอยู่ในหมู่บ้านดังกล่าว ได้ทราบความเคลื่อนไหวของสภาประชาชน 4 ภาค ที่บริเวณวัดป่าเขาโต๊ะ บ.เขาโต๊ะ ต.บักได อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ ซึ่งอยู่ห่างจากปราสาทตาควาย เพียง 8 กิโลเมตร ก็ได้มีการเคลื่อนกำลังทหาร เข้ามายังบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงปราสาทตาควาย และวางกำลังไว้ ใกล้เคียงกับปราสาทตาควาย
ขณะที่ ทหารพรานของไทย ได้เฝ้าตรวจการณ์ และมีการลาดตระเวน เข้าไปยังปราสาทตาควายอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ซึ่งตามข้อตกลงที่ทหารภูมิภาคที่ 4 จังหวัดอุดรมีชัย ประเทศกัมพูชา ได้ทำข้อตกลงไว้กับ กองกำลังสุรนารี กองทัพภาคที่ 2 ของไทย จะต้องไม่มีการนำกำลังทหารเข้าไปปักหลักในตัวปราสาทตาควาย แต่ให้ทหารทั้งสองฝ่าย วางกำลังห่างจากปราสาทตาควายในระยะ ฝ่ายละ 30 เมตรเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนในบริเวณนี้ยังไม่มีความตึงเครียด ในระดับทหารปฏิบัติการมากนัก แต่ละฝ่ายได้ติดตามคามเคลื่อนในระดับพื้นที่ และรายงานไปยังผู้บังคับบัญชาให้รับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นเท่านั้น