xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.วิสามัญพิจารณาแก้ไขปัญหาที่ดินฯ เร่งแก้ไขปัญหาที่ดินบนเกาะเสม็ด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวศรีราชา - กมธ.วิสามัญพิจารณาแก้ไขปัญหาที่ดินฯ สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่จังหวัดระยอง เร่งแก้ไขปัญหาที่ดินบนเกาะเสม็ด หลังมีปัญหายืดเยื้อมานานหลาย 10 ปี และปัญหาต่างๆ จะยุติได้โดยนายกรัฐมนตรี

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ห้องประชุมชั้น 4 ศูนย์ราชการจังหวัดระยอง นายสุวโรช พะลัง ประธานคณะกรรมิการวิสามัญ พิจารณาแก้ไขปัญหาที่ทำกินกฎหมายเกี่ยวกับที่ดินและเร่งรัดออกเอกสารสิทธิแก่ประชาชน สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและผู้ตรวจราชการแผ่นดิน เดินทางมาร่วมประชุมเรื่อง “แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน” ซึ่งมีนายสยุมพร ลิ่มไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง พร้อมข้าราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง โดยมีประชาชนและผู้ประกอบการบนเกาะเสม็ดเดินทางมาร่วมรับฟังและชี้แจงปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นบนเกาะเสม็ดให้ประธานในที่ประชุมได้รับทราบ

นายสยุมพรกล่าวถึงภาพรวมที่ทำกินบนเกาะเสม็ดนั้น พื้นที่ส่วนใหญ่ก่อนที่จะมีการประกาศเป็นเขตที่ราชพัสดุนั้น มีประชาชนอาศัยและครอบครองมานาน ต่อมามีการประกาศให้พื้นที่บนเกาะเสม็ดเป็นอุทยานแห่งชาติ

สรุปได้ว่าราษฎรได้โต้แย้งสิทธิว่าอยู่มาก่อนที่จะประกาศเป็นเขตอุทยานฯ ซึ่งหน่วยงานราชการมีการยื่นฟ้อง และหลังจากนั้นได้เข้าสู่กระบวนการของศาล และได้พิพากษาว่าผู้ที่เข้าไปครอบครองนั้นมีความผิด โดยประชาชนได้ยื่นอุทรณ์ ก็เข้าสู่ระบบการพิจารณาขอบศาลอุทรณ์ และก็พิพากษาและให้ยืนศาลชั้นต้น โดยศาลอุทรณ์ได้พิพากษาไว้ โดยกล่าวอ้างว่า แม้ประชาชนจะยึดถือครอบครองก็ตาม แต่ต่อมาได้ประกาศเป็นเขตอุทยานฯทั้งสิ้น ดังนั้นจะอยู่ก่อนประกาศก็ไม่สามารถกล่าวอ้างได้

ส่วนพื้นที่ที่กันไว้ นอกเขตอุทยานฯ ซึ่งพื้นที่ส่วนนั้นก็ถือว่าเป็นที่ราชพัสดุ ตาม พ.ร.บ.ราชพัสดุ และล่าสุดมีแนวทางให้ประชาชนที่ครอบครองมาก่อนมาเช่ากับกรมธนารักษ์ โดยมีบางรายเช่าและบางรายไม่ได้เช่า

นายสยุมพรกล่าวอีกว่า กรณีการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย เนื่องจากอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด พบว่าน้ำเสียบนเกาะที่เกิดจากชุมชนหรือที่พักอาศัยจากราษฎรนั้นเริ่มจะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม และน้ำทะเล จึงได้เสนอโครงการดังกล่าวขึ้นมาเพื่อให้ถูกต้องมาหลักวิชาการ จากนั้นได้มีการศึกษาจาก อพท. ในการกำหนดรูปแบบและแนวทาง โดยกำหนดให้สร้างบริเวณดังกล่าว

จากนั้นได้เสนอเรื่องถึงจังหวัด มาเพื่อแก้ไขปัญหา ตามแผนงานที่ศึกษาไว้ โดยเข้าสู่แผนพัฒนาจังหวัด (ซีอีโอ) พร้อมตั้งงบประมาณไว้ในปี พ.ศ.2552 จำนวน 25 ล้านบาท แต่ก็มีการคัดค้านจากประชาชน โดยอ้างปัญหาเรื่องที่ดินในการครอบครอง และไม่ควรจะย้ายพื้นที่ก่อสร้าง เนื่องจากมีพื้นที่เดิมอยู่แล้ว และทำไมต้องย้ายพื้นที่ก่อสร้างใหม่ด้วย ปัญหาจึงล่าช้าอยู่ในขณะนี้

ด้าน นายสุวโรชกล่าวว่า จากการรับฟังข้อมูลจากหลายๆฝ่ายแล้ว ขั้นตอนต่อไป นั้นตนจะรอบรวมหลักฐานต่างๆ เช่น จากรูปถ่าย ,จาการพบปะพูดคุยกับประชาชน, จากเอกสารจากราษฎร พร้อมจัดทำเป็นรูปเล่มเสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรต่อไป และหลังจากนำเสนอแล้ว ก็จะเป็นการนำเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมสภา และเมื่อบรรจุเป็นวาระการประชุมแล้ว จากนั้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะอภิปรายแสดงความคิดเห็นในกรณีดังกล่าว

ปัญหาดังกล่าว ตนได้นำเรื่องพูดคุยกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มาแล้วถึงแนวทางและปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งปัญหาดังกล่าวจะยุติหรือเป็นไปในแนวทางใดขึ้น ต้องขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือว่าเป็นผู้บริหารสูงสุดของประเทศ ที่จะกำหนดแนวทางและทิศทางในเรื่องอย่างไรต่อไป

ด้าน น.ส.จันจิรา สังข์สุวรรณ ราษฎรบนเกาะเสม็ด จังหวัดระยอง กล่าวว่า ปัญหาที่ดินบนเกาะเสม็ดนั้น ประชาชนได้รวมตัวต่อสู้กันมาอย่างต่อเนื่อง เพราะเห็นว่าการดำเนินการของภาครัฐ ที่ผ่านมาไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้ กลุ่มชาวบ้านเกาะเสม็ดจึงได้รวมตัวเรียกร้องต่อหน่วยงานระดับสูง เพื่อให้เข้ามาสนใจดูแลปัญหาที่เกิดขึ้นให้ถูกต้องและชอบธรรม

การต่อสู้ในปัญหาที่ดินตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีปัญหาและผลกระทบอย่างต่อเนื่อง แต่การดำเนินการของชาวบ้านนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องและชอบธรรมและควรได้ในสิทธิที่ทำกิน ที่เป็นมรดกตกทอดมาหายชั่วอายุคนแล้ว แต่ก็ต้องต่อสู้ต่อไป และขณะนี้สถานการณ์การต่อสู้เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น หลังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนและผู้ตรวจการแผ่นดิน เข้ามาช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้ถูกต้องและชอบธรรม

น.ส.จันจิรา กล่าวต่อไปว่า จากข้อมูลของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนและผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่นำข้อมูลต่างๆมาตอบโต้หน่วยงานรัฐในพื้นที่จังหวัดระยอง ที่ยึดข้อกฎหมายเพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงความเดือดร้อนของประชาชนและความถูกต้องและชอบธรรม ซึ่งถือว่าเป็นการ บริหารงานที่ไม่ยึดหลักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์

ที่ผ่านมาประชาชนหรือชาวบ้านบนเกาะเสม็ด พยายามปฏิบัติตามเงื่อนไขของหน่วยงานรัฐ แต่ในทางตรงกันข้าม หน่วยงานรัฐกับไปเอื้อผลประโยชน์ให้กับกลุ่มนายทุนหรือกลุ่มผู้มีผลประโยชน์แอบแฝงเท่านั้น โดยไม่คำนึงถึงปัญหาหรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตแต่อย่างไร ทำให้ประชาชนและชาวบ้านจึงต้องออกมารวมตัวคัดค้าน เพื่อไม่ให้สิ่งที่เกิดขึ้นสร้างความเสียหายบนเกาะเสม็ดอีกต่อไป

น.ส.จันจิรา กล่าวว่า สำหรับปัญหาในช่วงนี้ คือ โครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียบนเกาะเสม็ด ซึ่งในความเป็นจริงแล้วประชาชนในพื้นที่ไม่ได้คัดค้านหรือต่อต้านโครงการนี้ เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ในการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม แต่ที่ประชาชนและชาวบ้านออกมาคัดค้านเนื่องจากพื้นที่ในการก่อสร้างนั้นไม่ถูกต้องและชอบธรรม เนื่องจากพื้นที่ของโครงการเก่าก็มีอยู่แล้ว และทำไมต้องย้ายพื้นที่ไม่สร้างที่ใหม่ด้วย เนื่องจากพื้นที่ใหม่อยู่ใกล้แหล่งชุมชน

ที่สำคัญบริษัทหรือหน่วยงานที่ศึกษาออกแบบการก่อสร้างไม่ได้สอบถามความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่เลย ทั้งๆ ตามรูปแบบของโครงการแล้ว จะต้องสอบถามความคิดเห็นของประชาชนก่อน ในเรื่องความเหมาะสมและตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่ให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม แต่เรื่องนี้ไม่มีเลย
กำลังโหลดความคิดเห็น