อุบลราชธานี-แม้เจ้าหน้าที่รัฐจะใช้มาตรการปราบปรามการลักลอบขนยาเสพติดตามแนวชายแดนริมฝั่งโขงอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ได้ทำให้ปัญหาลักลอบยาเสพติดลดลง เนื่องจากพรมแดนสองฝั่งโขงมีแม่น้ำกั้นเป็นแนวยาว การปราบปรามทำได้ลำบาก อีกทั้งวิถีชีวิตของคนสองฝั่งต่างผูกพันและเดินทางไปมาหาสู่กันเป็นเรื่องปกติ จนเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา อำเภอเขมราฐ จ.อุบลราชธานี ได้ประกาศนโยบายสร้างชุมชนเข้มแข็งสู้ภัยยาเสพติด โดยให้คนชุมชนริมแม่น้ำร่วมแก้ปัญหายาเสพติดด้วยตนเอง หมู่บ้านชายแดนแห่งนี้จึงเป็นอีกกรณีศึกษาที่ชุมชนชายแดนอื่นๆนำไปเป็นต้นแบบ
อำเภอเขมราฐ จ.อุบลราชธานี เป็นอำเภอที่ถูกภัยคุกคามร้ายแรงจากยาเสพติด ซึ่งมาจากประเทศเพื่อนบ้านคือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตลอดกว่า 20 ปีที่ผ่านมา อำเภอเขมราฐถูกขบวนการค้ายาเสพติดตามแนวชายแดนใช้เป็นเส้นทางลำเลียงยาเสพติดทั้งฝิ่น กัญชา ยาบ้า และเจ้าหน้าที่พยายามปราบปรามการเคลื่อนย้ายยาเสพติดเข้าประเทศผ่านช่องทางชายแดนอำเภอนี้มาตลอด
แต่ไม่ได้ผล เพราะลักษณะภูมิประเทศที่มีแม่น้ำโขงขวางกั้นเป็นทางยาวกว่าร้อยกิโลเมตร ทำให้การตรวจจับเป็นเรื่องยาก และยังมีปัจจัยจากรากฐานชุมชนสองฝั่งแม่น้ำ ซึ่งมีความเกี่ยวดองเป็นญาติพี่น้องมาแต่บรรพบุรุษ ทางการไม่สามารถออกกฏห้ามคนสองฝั่งโขงไม่ให้เดินทางข้ามแดนไปมาระหว่างกันได้
จากอุปสรรคต่างๆเหล่านั้น ทำให้เป็นช่องทางที่ขบวนการใช้เป็นโอกาสลักลอบนำยาเสพติดผ่านการเดินทางของคนเหล่านี้เข้าสู่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง กระทั่งเมื่อราว 4-5 ปีที่ผ่านมา อำเภอเขมราฐประกาศนโยบายสร้างชุมชนเข้มแข็งสู้ภัยยาเสพติด โดยให้ชุมชนตามริมฝั่งแม่น้ำโขงบริหารจัดการแก้ปัญหาการระบาดยาเสพติดด้วยตนเอง
ชุมชนบ้านบุ่งซวย หมู่ที่ 2 ต.เขมราฐ ซึ่งวันนี้เป็นหมู่บ้านสีขาวปลอดจากยาเสพติดอย่างเด็ดขาด เป็นหมู่บ้านตัวอย่างที่สามารถใช้สังคมในหมู่บ้านสยบการเคลื่อนไหวของผู้ลักลอบค้ายาเสพติดได้อย่างสิ้นเชิง ทั้งที่ถ้าย้อนเวลากลับไปกว่า 10 ปี บ้านบุ่งซวยเป็นชุมชนที่ได้รับภัยคุกคามจากยาเสพติอย่างหนัก เพราะคนในชุมชนนอกจากเป็นผู้เสพแล้วยังเป็นผู้ค้าด้วย
สำหรับมาตรการที่ชุมชนนำมาใช้ป้องกันหมู่บ้านให้ปลอดภัยจากยาเสพติด มีทั้งมาตรการทางสังคมของหมู่บ้าน การจัดระเบียบการนำเรือเข้า-ออกท่าเทียบเรืออย่างเป็นระบบ การจดบันทึกสิ่งของและการเดินทางไปมาระหว่างคนสองฝั่งโขง
นายเกษมฉัตร ชูวงศ์ ผู้ใหญ่บ้านบุ่งซวยเล่าถึงกระบวนการบริหารจัดการทางมาตรการสังคมว่า อดีตคนในชุมชนเป็นทาสยาเสพติด โดยเป็นผู้เสพก่อนแล้วพัฒนาเข้าไปเป็นผู้ร่วมค้าอยู่ในขบวนการค้ายาเสพติด จึงหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างสันติ โดยใช้ชุมชนกดดันให้ผู้เสพไปรับการบำบัดรักษา ส่วนผู้ค้าให้เลิกยุ่งเกี่ยวกับขบวนการค้ายาเสพติดอย่างเด็ดขาด หากไม่เชื่อฟังและถูกชุมชนจับได้ จะใช้มาตรการทางสังคมปรับเป็นเงินนำเข้าเป็นกองทุนหมู่บ้าน แต่หากไม่เชื่อฟังอีกก็จะส่งตัวให้ทางการดำเนินคดีทางกฎหมาย
สำหรับมาตรการควบคุมไม่เปิดช่องว่างให้มีการลักลอบเคลื่อนย้ายยาเสพติดเข้ามาพักในหมู่บ้าน ชุมชนได้ออกกฏระเบียบ การนำเรือเข้า-ออกท่าเทียบเรือของหมู่บ้าน โดยผู้ประกอบอาชีพรับจ้างขนส่งผู้โดยสารทางน้ำ หรือชาวบ้านที่นำเรือออกหาปลาในแม่น้ำโขง ต้องนำเรือเข้าจอดที่ท่าจอดเรือที่จัดไว้ให้เพียงแห่งเดียว และอนุญาตให้นำเรือเข้า-ออกได้ระหว่างเวลา 06.00-18.00 น.เท่านั้น แต่หากมีกรณีจำเป็นเร่งด่วนสำคัญจริงๆ ต้องขออนุญาตนำเรือเข้า-ออกจากกรรมการประจำหมู่บ้านก่อน
มาตรการต่อมาคือ การเดินทางข้ามแดนระหว่างกัน นายท้ายเรือและผู้โดยสาร ต้องถูกตรวจค้นจากกรรมการหมู่บ้านที่ประจำอยู่จุดจอดเรือ พร้อมมีการจดบันทึกการเดินทางทั้งคนไทยและคนลาว โดยต้องระบุต้นทางที่มาและปลายทางที่จะไป รวมทั้งช่วงระยะเวลาเข้า-ออกที่แน่นอน หลังชุมชนบ้านบุ่งซวยดำเนินมาตรการป้องกันตรวจจับการลักลอบนำยาเสพติดเข้ามาในหมู่บ้านอย่างเข้มงวด ทำให้การระบาดของยาเสพติดในหมู่บ้านลดลงจนเข้าสู่ภาวะปกติ
ความสำเร็จที่เกิดขึ้น นายเกษมฉัตรบอกว่า เมื่อสังคมในหมู่บ้านไม่ยอมรับผู้เสพและผู้ค้า จนไม่สามารถอยู่ร่วมในสังคมอย่างปกติสุข ผู้เสพและผู้ค้า จึงต้องปรับตัว และเกิดเป็นผลต่อเนื่องถึงขบวนการค้ายาเสพติดที่เคยใช้หมู่บ้านเป็นที่พักยา ต้องเลิกใช้เป็นฐานค้ายาเสพติดไปสู่ส่วนต่างๆของประเทศ โดยปริยาย
“และเกิดเป็นผลดีกับชาวบ้านบุ่งซวย ซึ่งเคยได้ชื่อเป็นแหล่งค้ายาสำคัญของอำเภอ แต่วันนี้กลายเป็นหมู่บ้านสีขาว ซึ่งปลอดภัยจากยาเสพติดอย่างเด็กขาดแล้ว”
ด้านนายวัฒนา วุฒิชาติ นายอำเภอเขมราฐที่มีบทบาทสำคัญร่วมสร้างรั้วป้องกันยาเสพติดจากประเทศเพื่อนบ้านตามนโยบายของรัฐบาลกล่าวว่า การเดินทางข้ามลำน้ำโขงไปมาระหว่างประชาชนสองฝั่งเป็นวัฒนธรรมที่มานานตามประวัติศาสตร์ และยังมีความสำคัญทางเศรษฐกิจที่มีการซื้อขายสินค้าแลกเปลี่ยนไปมา รวมทั้งการเดินทางเข้ามารับการตรวจรักษาจากแพทย์ ซึ่งถือเป็นเรื่องมนุษยธรรมที่ไทยต้องให้การช่วยเหลือประชาชนประเทศเพื่อนบ้าน การจัดระเบียบการจอดเรือ จึงเป็นช่องทางให้ประชาชนตามแนวชายแดนเข้ามามีส่วนร่วมเฝ้าระวังดูแล ช่วยควบคุมคน ควบคุมการเดินทางเข้าออก ควบคุมยานพาหนะ
แต่ถ้าปล่อยไม่มีการควบคุม จะเป็นการเพิ่มช่องทางให้ขบวนการค้ายาเสพติด เพราะตลอดแนวชายแดนตามลำน้ำโขงที่มีความยาวมาก ยากที่เจ้าหน้าที่จะเข้าไปควบคุมดูแลได้ทั้งหมด การทำชุมชนเข้มแข็ง โดยมีประชาชนตามแนวชายแดนเข้ามาร่วม จะทำให้ช่องทางการเคลื่อนไหวของขบวนการค้ายาเสพติดแคบลงเรื่อยๆ จึงมีความจำเป็นต่อการดำรงอยู่ของสังคมหมู่บ้านตามแนวชายแดน และต้องได้รับการสนับสนุนส่งเสริม จนกว่ามีวิธีอื่นที่ดีกว่านี้มาใช้ควบคุมดูแลในอนาคต
นี่คือตัวอย่างที่ราชการมองเห็นความสำคัญของชุมชน และเอาชุมชนมาร่วมเป็นไม้เป็นมือ ช่วยขจัดภัยคุกคามยาเสพติดที่มาจากนอกประเทศ ทำให้มองเห็นผลสำฤทธิ์ของการแก้ปัญหา มากกว่าใช้นโยบายปราบปรามด้วยกำลังเหมือนในอดีต เพราะการใช้กำลังยิ่งเป็นการสร้างรอยร้าวที่ฝังรากลึกสร้างความเจ็บปวดให้ชุมชนคนสองฝั่งโขงที่มีมาต่อกันตั้งแต่ครั้งบรรพกาล