xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนโคราชผวาขาดแคลนน้ำกระทบธุรกิจ-ลงทุน หลังศาลสั่งระงับก่อสร้างประปาฉาว 3 พันล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หอการค้าโคราช เปิดเวทีแสดงความคิดเห็นหาทางออกร่วมกัน กรณีศาลปกครองมีคำสั่งระงับการก่อสร้างโครงการระบบประปาของเทศบาลนครนครราชสีมา ฉาวโฉ่ 3,000 ล้าน ไว้ชั่วคราว วันนี้ (23 ต.ค.)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- ภาคเอกชนโคราชผวาขาดแคลนน้ำกระทบธุรกิจ-การลงทุนหนัก กรณีศาลปกครองมีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างโครงการประปาแย่งชิงน้ำ “เขื่อนลำแชะ” ฉาวโฉ่ 3,000 ล้าน รุดเปิดเวทีให้เทศบาลนครโคราชพร้อมหน่วยงานเกี่ยวข้องชี้แจงข้อเท็จจริงและหาทางออกร่วมกัน ด้านรองนายกเล็กแจงเคารพคำสั่งศาลเตรียมยื่นอุทธรณ์ใน 30 วัน ย้ำมั่นใจในระยะ 3-5 ปี เมืองโคราชมีน้ำประปาใช้เพียงพอ ด้านผู้ว่าฯ เตรียมตั้ง กก.แก้ไขปัญหาร่วมระหว่างชาวบ้านผู้คัดค้านกับเทศบาล

วันนี้ (23 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมชั้น 4 สำนักงานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ได้มีการจัดเวทีชี้แจงข้อเท็จจริงและแสดงความคิดเห็นเพื่อหาทางออกร่วมกัน กรณีโครงการก่อสร้างระบบประปาเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค ของเทศบาลนครนครราชสีมา โดยนำน้ำดิบมาจากเขื่อนลำแซะ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา มูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท ที่ศาลปกครองมีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างไว้ชั่วคราว หลังกลุ่มรักษ์ลำแชะรวม 91 คน ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง และศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา

โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมชี้แจงและแสดงความคิดเห็นประกอบด้วย นางสุบงกช วงศ์วิชยาภรณ์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา, นายพงษ์เลิศ สุภัทรวณิชย์ รองนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา, นายเชิดชัย โชครัตนชัย อดีตนายกเทศมนตรี ในฐานะผู้อนุมัติดำเนินโครงการ, ตัวแทนสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร, ตัวแทนธุรกิจโรงแรม, โรงพยาบาล, สภาอุตสาหกรรมจังหวัด และผู้ประกอบการร้านค้า จ.นครราชสีมา เข้าร่วมประชุม

นายพงษ์เลิศ สุภัทรวณิชย์ รองนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา กำกับดูแลสำนักประปาเทศบาลนครนครราชสีมา เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ที่ผ่านมา ศาลปกครองนครราชสีมา มีคำสั่งให้เทศบาลนครนครราชสีมาระงับโครงการก่อสร้างระบบประปาเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค ของเทศบาลนครนครราชสีมาไว้ชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากกลุ่มรักษ์ลำแชะ นำโดย นายธีรพล รัตนประยูร กับพวกรวม 91 คน ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องในข้อที่ขอให้ยกเลิกโครงการก่อสร้างดังกล่าวของศาลปกครองนครราชสีมาต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้รับฟ้อง ต่อมาวันที่ 31 ก.ค.2552 ศาลปกครองนครราชสีมามีคำสั่งรับฟ้องไว้พิจารณาตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด และล่าสุดศาลปกครองนครราชสีมามีคำสั่งให้เทศบาลนครนครราชสีมา ระงับการก่อสร้างที่อยู่ระหว่างดำเนินการในขณะนี้ไว้ชั่วคราว ดังกล่าว

นายพงษ์เลิศ กล่าวว่า การดำเนินการของเทศบาลนครราชสีมาต่อปัญหาที่เกิดขึ้น แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ เรื่องกระบวนการยุติ ขณะนี้เทศบาลกำลังรอเอกสารคำสั่งศาลปกครอง จากอัยการจังหวัดนครราชสีมา คาดว่า ในสัปดาห์หน้าน่าจะได้รับ ซึ่งเราต้องเคารพการตัดสินของศาลและดำเนินการตามคำสั่งดังกล่าว โดยจะขอให้อัยการจังหวัดฯ ทำการยื่นอุทธรณ์คำสั่ง ซึ่งกฎหมายกำหนดให้สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วันภายหลังศาลมีคำสั่ง

ส่วนที่ 2 คือ การสร้างความมั่นใจให้ประชาชนในเขตเทศบาลนครนครราชสีมาได้เข้าใจและมั่นใจว่า ในช่วง 3-5 ปี นี้ประชาชนในเขตเทศบาลนครฯ จะไม่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำประปาอย่างแน่นอน เพราะน้ำประปาที่ใช้แหล่งน้ำดิบจากเขื่อนลำตะคอง ในปัจจุบัน และโครงการอื่นๆ ที่เทศบาลนครฯ จะดำเนินการ รวมทั้งโครงการแก้มลิง จะสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้

สำหรับการก่อสร้างโครงการระบบประปาดังกล่าว ผู้รับเหมา กิจการร่วมค้าเอส เอ (บริษัท ซิโนไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท อาควาไทย จำกัด) ได้ดำเนินการแล้วเสร็จไปแล้วกว่า 67% เบิกงบประมาณไปแล้วกว่า 2,000 ล้านบาท หลังมีคำสั่งศาล ผู้รับเหมาได้หยุดการก่อสร้างไว้ชั่วคราวมีเพียงการคืนผิวจราจรที่จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร ส่วนการขุดหรือวางท่อรวมถึงการก่อสร้างอื่นๆ ได้หยุดดำเนินการไว้ทั้งหมดแล้ว

“ผมยืนยันว่า ขั้นตอนการประมูลหรือดำเนินการเป็นไปด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นไปตามระเบียบวิธีปฏิบัติ ขอย้ำว่า โครงการนี้มีความจำเป็นมาก เพราะเมืองโคราชมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่แหล่งน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคของชาวโคราชมีเพียงแหล่งเดียว คือ จากอ่างเก็บน้ำลำตะคอง ซึ่งต้องแบ่งน้ำบางส่วนให้กับโครงการลำตะคองแบบสูบกลับ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 10 ล้านลบ.ม. และหากเกิดวิกฤติภัยแล้งเหมือนเช่นปี 2535 หรือ ปี 2548 จะเกิดปัญหาขึ้นอย่างมาก ฉะนั้น โครงการนี้จึงเป็นการแก้ไขปัญหาน้ำในอนาคต และรองรับการเจริญเติบโตของเมืองเทศบาลนครฯ ด้วย” นายพงษ์เลิศ กล่าว

ด้าน นางสุบงกช วงศ์วิชยาภรณ์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า การเปิดเวทีชี้แจงขึ้นในครั้งนี้ ทางหอการค้าจังหวัดต้องการเป็นตัวกลางในการหาทางออกเรื่องดังกล่าวร่วมกัน และต้องการทราบข้อเท็จจริงจากเทศบาลนครนครราชสีมาในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักธุรกิจที่ประกอบการอยู่ในเขตเทศบาลนครนครราชสีมาให้มั่นใจ เวทีนี้ไม่ใช่การคัดค้าน หรือสนับสนุน

“องค์กรเราไม่ได้อิงการเมือง ไม่เข้าข้างใคร ส่วนตัวมองว่าโครงการนี้น่าจะดำเนินการต่อไปให้เสร็จสิ้นเพราะงบประมาณทุกอย่างมีอยู่แล้ว การก่อสร้างก็เดินหน้าไปกว่า 60% แล้ว การขยายตัวของจังหวัดนครราชสีมาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจำนวนประชากร และสถานประกอบการธุรกิจต่างๆ ซึ่งล้วนจะต้องใช้น้ำทั้งนั้น” นางสุบงกช กล่าว

ขณะที่ นายสวัสดิ์ มังกรวิวัฒน์ ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ภาคธุรกิจต่างให้ความสำคัญกับเรื่องน้ำ การเข้ามาลงทุน หรือประกอบธุรกิจจะต้องมองที่ระบบสาธารณูปโภคเป็นหลัก น้ำจึงมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจ หากขาดน้ำ ไม่มีน้ำใช้ ธุรกิจทั้งจังหวัดจะต้องหยุดชะงักไปทั้งหมด นักธุรกิจก็ไม่สนใจเข้ามาลงทุนเพิ่ม และผู้ประกอบการเดิมที่มีอยู่ก็ได้รับความเดือดร้อน

ฉะนั้น การหาแหล่งน้ำเข้ามาเพิ่มเติมสิ่งที่มีอยู่เป็นเรื่องที่ดี แต่เรื่องที่เกิดขึ้นกับเทศบาลนคนครราชสีมา ก็เห็นใจทุกภาคส่วน ทั้งภาคเกษตรกรรรมที่มีความจำเป็นต้องใช้น้ำเพื่อทำการเกษตรเหมือนกัน และในเขตเทศบาลนครนครราชสีมาก็มีความจำเป็นต้องใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ฉะนั้น การทำความเข้าใจกันน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

ที่ผ่านมา ในปี 2548 จังหวัดนครราชสีมา ประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก ส่งผลกระทบต่อธุรกิจต่างๆ มากมาย สถานประกอบการแต่ละแห่งรวมถึงโรงแรมต่างกักตุนน้ำเพื่อสำรองไว้ให้ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ แต่เก็บสำรองไว้ได้ไม่เกิน 3-4 วันก็หมด

“หากยังขาดน้ำอีกทุกอย่างก็พังหมด นักท่องเที่ยวหนีไปใช้บริการภูมิภาคอื่น จังหวัดอื่น สุดท้ายผู้ประกอบการต่างๆ ก็อยู่กันไม่ได้ ฉะนั้น น้ำจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องเร่งดำเนินการแก้ไขไม่ให้เกิดปัญหาการขาดน้ำขึ้น” นายสวัสดิ์ กล่าว

ขณะที่ นายประจักษ์ สุวรรณภักดี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นกับโครงการก่อสร้างระบบประปา ของเทศบาลนครราชสีมา นั้น เรื่องนี้ทุกฝ่ายต้องมาหารือร่วมกันเพื่อหาข้ออธิบายให้ได้ข้อยุติร่วมกัน และหาแนวทางเตรียมการแก้ไขกัน โดยเฉพาะจังหวัดเราได้รับอนุมัติโครงการมามาก และได้งบประมาณมาค่อนข้างมากซึ่งเป็นเรื่องปกติ เพราะโคราชเป็นจังหวัดใหญ่รองจากกรุงเทพฯ มีประชากรกว่า 2 .5 ล้านคน ยังไม่รวมประชากรแฝงอีกจำนวนมาก

ตนอยากให้ทุกคนเดินไปข้างหน้า แต่อย่าอยู่ด้วยความแตกแยก อย่าอยู่ด้วยความสงสัยซึ่งกันและกัน บ้านเมืองมันจะเดินหน้าไม่ได้ เรื่องนี้เราต้องพูดคุยทำความเข้าใจกัน เพราะเราไม่ได้อยู่คนละประเทศ เราเป็นคนไทยด้วยกันอยู่จังหวัดเดียวกัน ฉะนั้นทุกอย่างสามารถพูดกันได้ด้วยเหตุด้วยผล แต่สำคัญว่าพูดกันให้เข้าใจ ให้เขาเห็นข้อเท็จจริงจริงๆ ตนเชื่อว่า อยู่ในวิสัยที่พูดคุยกันได้

“การดำเนินการก่อสร้างโครงการนี้เริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2538 และมีการประมูลเมื่อปี 2550 และลงมือดำเนินการเดินหน้าไปแล้วกว่า 60% ตนว่าเราอย่าไปคิดในแง่ร้าย ฉะนั้น เราต้องช่วยกันทำ ซึ่งจังหวัดเองอาจจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งที่จะมาพูดคุยกันทั้งสองฝ่ายทั้งประชาชนที่คัดค้านโครงการและเทศบาล ได้หันหน้าเข้าหากัน” นายประจักษ์ กล่าว





กำลังโหลดความคิดเห็น