xs
xsm
sm
md
lg

“คมนาคม” ผลาญชาติ 5.6 หมื่นล้าน เร่งมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แบบจำลอง มอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-โคราช ช่วงทางยกระดับ บริเวณเขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา
นครราชสีมา- ก.คมนาคม เร่งผุดบิ๊กโปรเจกต์ มอเตอร์เวย์ “บางปะอิน-โคราช” ดึง“อบจ.โคราช” ร่วมสังฆกรรม ผลาญงบฯก่อสร้าง-เวนคืนพุ่ง 5.6 หมื่นล้าน อ้างปรับแนวเส้นทางใหม่ 5 จุดหวังลดกระแสต้าน พร้อมเพิ่มทางช่องจราจร 4 เลนเป็น 6 เลนยาว 54 กม. รวมทั้งขยายระยะทางยกระดับ-เพิ่มทางแยกต่างระดับอื้อ ชี้จ่อออก “พ.ร.ฎ.เวนคืน” หลังออกแบบ-EIA ฉลุย คาดรัฐแบกหนี้อานกู้ตปท.และเอกชนร่วมทุน ด้านภาค ปชช.ลั่นระดมพลต้านถึงที่สุดจี้สร้างระบบรถไฟรางคู่แทน


เมื่อเร็วๆ นี้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา นำโดย นายแพทย์สำเริง แหยงกระโทก นายกอบจ.ร่วมกับกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม เปิดเวทีประชาคมรับฟังความคิดเห็นโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-นครราชสีมา ซึ่งมีตัวแทนจากกระทรวงคมนาคมและบริษัทที่ปรึกษาเข้าร่วมชี้แจงรายละเอียดโครงการ ท่ามกลางตัวแทนองค์กรเอกชน นักธุรกิจ นักวิชาการ ภาคประชาชน และชาว จ.นครราชสีมาเข้าร่วมกว่า 100 คน

การรับฟังความเห็นครั้งนี้ มีทั้งที่ผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างโครงการ โดยฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย มองว่าเป็นการพยายามผลาญงบประมาณมหาศาลอย่างไม่คุ้มค่า ได้ประโยชน์เฉพาะกลุ่มผู้ใช้รถยนต์ที่มีกำลังจ่ายสูงและอุตสาหกรรมยานยนต์เท่านั้น พร้อมเสนอให้กระทรวงคมนาคมหันไปพัฒนาระบบการขนส่งมวลชนและสินค้าด้วยรถไฟรางคู่แทน เนื่องจากใช้เงินลงทุนต่ำกว่าหลายเท่าตัว ประหยัดพลังงานเชื้อเพลิง คุ้มค่าด้านเศรษฐกิจและเกิดผลประโยชน์ต่อประเทศชาติโดยรวมมากกว่า รวมทั้งส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมน้อยและไม่ต้องเวนคืนที่ดิน พร้อมประกาศจะรวมตัวระดมมวลชนคัดค้านต่อต้านโครงการมอเตอร์เวย์นี้อย่างถึงที่สุด

ปรับแนวเส้นทางใหม่ 5 จุด หวังลดกระแสต้าน

ผศ.ดร.วีริศ อันระปาล ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการจัดระบบการจราจร (คจร.) กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า โครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 สายบางปะอิน – นครราชสีมา เป็น 1 ใน 13 เส้นทางที่กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม บรรจุไว้ในแผนแม่บทการก่อสร้างทางหลวงพิเศษ ตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) 22 เมษายน 2540 ซึ่งได้ว่าจ้างบริษัทวิศวกรรมที่ปรึกษาดำเนินงานสำรวจและออกแบบรายละเอียดเรียบร้อยแล้วเพื่อเตรียมการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและก่อสร้าง

แบ่งออกเป็น 2 ตอน คือ ตอน 1 จาก อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา – อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ระยะทาง 104 กิโลเมตร (กม.) และ ตอน 2 จาก อ.ปากช่อง – อ.เมือง จ.นครราชสีมา ระยะทาง 93 กม. รวมระยะทาง 197 กม.

ทั้งนี้ จากการรับฟังความเห็นของประชาชนในพื้นที่เส้นทางมอเตอร์เวย์ตัดผ่านหลายครั้ง ได้เสนอให้มีการปรับเปลี่ยนแนวเส้นทางที่เคยสำรวจออกแบบไว้ตอนต้น ซึ่งกรมทางหลวงมอบหมายให้บริษัทที่ปรึกษากลับไปออกแบบรายละเอียดโครงการใหม่ ล่าสุดแนวเส้นทางโครงการทางหลวงพิเศษ สายบางปะอิน–นครราชสีมา ได้ปรับเปลี่ยนใหม่ 5 จุด สำคัญ ดังนี้

1. บริเวณจุดเริ่มต้นโครงการ 2.บริเวณเขตประกอบการอุตสาหกรรม เอสไอแอล อินดัสเตรียล แลนด์ 3.บริเวณสุสานมูลนิธิฮูลิน 4. บริเวณพื้นที่สัมปทานหินของบริษัทปูนซีเมนต์ TPI และ 5.บริเวณพื้นที่เขตทหาร (คลังแสง) แนวเส้นทางผ่านทางแยกต่างระดับปากช่อง แล้วเบนไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ขนานไปกับทางหลวงหมายเลข 2 ( ถ.มิตรภาพ ) และ เขื่อนลำตะคอง โดยก่อสร้างเป็นทางยกระดับมีความยาวเพิ่มขึ้นจากการศึกษาเดิมอีก 8 กม.

เพิ่มรายการอื้อผลาญงบฯพุ่ง 5.6 หมื่นล.

ผศ.ดร.วีริศ กล่าวต่อว่า ส่วนค่าก่อสร้างและเวนคืนที่ดินโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์สาย บางปะอิน-นครราชสีมา รวมประมาณ 56,000 ล้านบาท เพิ่มจากเดิมที่สำรวจออกแบบไว้เมื่อปี 2543 จำนวน 29,000 ล้านบาท โดยมีรายการเปลี่ยนแปลงที่เป็นปัจจัยหลักส่งผลกระทบต่อราคาค่าลงทุน ประกอบด้วย จำนวนช่องจราจรของทางหลวงและสะพานเพิ่มจาก 4 ช่องจราจร (ตามผลการศึกษา F.S.) เป็น 6 ช่องจราจร จากช่วง อ.บางปะอิน – อ.แก่งคอย ระยะทาง 54 กม.

รวมทั้ง เพิ่มทางแยกต่างระดับ 2 แห่ง คือ ทางแยกต่างระดับบางปะอิน และ ทางแยกต่างระดับสระบุรี ,เพิ่มจำนวนการเชื่อมต่อของชุมชนในพื้นที่ ทางลอดทางข้ามและทางคู่ขนานจากผลการศึกษาเดิม, เปลี่ยนรูปแบบถนนเป็นทางยกระดับบริเวณเลี่ยงเมืองสระบุรี 7 กม. , การปรับแนวเส้นทางช่วงพื้นที่สัมปทานหินของ บริษัทปูนซีเมนต์ TPI ทำให้ระยะทางของทางยกระดับยาวขึ้น 2 กม. , การปรับแนวเส้นทางช่วงผ่านพื้นที่ทหาร (คลังแสง) และ เขื่อนลำตะคองทำให้สะพานยกระดับมีความยาวเพิ่มขึ้น 8 กม.รวมเป็น 18 กม.

นอกจากนี้ยังมี การปรับเปลี่ยนรูปแบบโครงสร้างบริเวณพื้นที่สัมปทานหินของ บริษัทปูนซีเมนต์ TPI จากการศึกษาเดิม เป็นรูปแบบโครงสร้างแบบ คานยื่นสมดุล (Balanced Cantilever) เป็น Segmental Box Girder และ มีรูปแบบโครงสร้างประเภทอื่นเพิ่มขึ้น เช่น U Girder และBox Girder เป็นต้น และอาคารด่านพร้อมงานระบบ และ Service Area มีจำนวนมากและขนาดใหญ่ขึ้น

จ่อออก “พ.ร.ฎ.เวนคืน” เร่งผุด

ผศ.ดร.วีริศ กล่าวอีกว่า โครงการมอเตอร์เวย์ บางปะอิน-นครราชสีมา หากก่อสร้างได้ จะเป็นประโยชน์ในการเพิ่มโครงข่ายทางหลวงใหม่จากกรุงเทพฯ สู่ จ.นครราชสีมา เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดบน ถ.พหลโยธิน และ ถ.มิตรภาพ ที่หนาแน่นตลอดเส้นทาง เพิ่มทางเลือกและความปลอดภัยของการเดินทางสู่ภาคอีสานเพราะมอเตอร์เวย์เป็นทางหลวงพิเศษมีมาตรฐานสูง สามารถใช้ความเร็วได้ถึง 120 กม.ต่อชั่วโมง มีการควบคุมการเข้า-ออกแบบสมบูรณ์ตลอดเส้นทาง ที่สำคัญเป็นการส่งเสริมการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้

“โครงการนี้ สำรวจออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ และผ่านการศึกษารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาประกาศ พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.)เวนคืน และเตรียมงานสำรวจอสังหาริมทรัพย์ หากประชาชนเห็นด้วยคาดว่าจะใช้เวลา 2-3 ปี จึงสามารถลงมือก่อสร้างได้ ซึ่งที่มาของงบประมาณก่อสร้างและเวนคืนที่ดินมี 2 รูปแบบ คือ รัฐดำเนินการเองโดยงบประมาณเงินกู้ต่างประเทศ และ เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน” ผศ.ดร.วีริศ กล่าว

ทั้งนี้ ล่าสุด วันที่ 8 ตุลาคม ที่ผ่านมานายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ประกาศมอบนโยบายแก่ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงคมนาคมว่า ในปีงบประมาณ 2553 จะผลักดันมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-โคราช เป็นโครงการนำร่องร่วมทุนกับเอกชน

โฉมหน้า“มอเตอร์เวย์”ภูมิใจห้อย 5.6 หมื่นล้าน

รูปแบบโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 (มอเตอร์เวย์) สาย บางปะอิน – นครราชสีมา จะเริ่มต้นที่ อ.บางปะอิน (ต่อจากวงแหวนรอบนอก กทม.ด้านตะวันออก) ผ่าน อ.วังน้อย – อ.อุทัย – อ.หนองแค – อ.เมืองสระบุรี – อ.แก่งคอย – อ.มวกเหล็ก – อ.ปากช่อง – อ.สีคิ้ว – อ.สูงเนิน – อ.ขามทะเลสอ – สิ้นสุดที่ อ.เมืองนครราชสีมา (บรรจบทางเลี่ยงเมือง ถ.มิตรภาพ ) รวมระยะทางโครงการ 197 กิโลเมตร (กม.) ประกอบด้วย

-เวนคืนเขตทาง 70 เมตร ถนนขนาด 6 ช่องจราจร ระยะทาง 45 กม. จาก อ.บางปะอิน – อ.แก่งคอย และ ถนนขนาด 4 ช่องจราจร ระยะทาง 120 กม. จาก อ.แก่งคอย – อ.เมืองนครราชสีมา

-ทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร รวมระยะทาง 14 กม. แบ่งเป็น 3 ช่วง คือ กม.40 – กม.47 (ทางเลี่ยงเมืองสระบุรี) , กม.69 – กม.75 (บริเวณโรงปูนซีเมนต์ TPI) , กม.82 – กม.84 (องค์การส่งเสริมกิจการโคนม อสค.) ทางยกระดับบริเวณเขื่อนลำตะคองขนาด 4 ช่องจราจร ระยะทาง 18 กม. (จากกม.125 - กม.143)

-ทางแยกต่างระดับ 9 แห่ง 1. บางปะอิน 2. วังน้อย 3. หินกอง 4. สระบุรี 5. แก่งคอย6. มวกเหล็ก 7. ปากช่อ 8. สีคิ้ว และ 9. นครราชสีมา

-ด่านเก็บค่าผ่านทาง (ระบบปิด) รวม 9 แห่ง 1. บางปะอิน 2. วังน้อย 3. หินกอง 4. สระบุรี5. แก่งคอย 6. มวกเหล็ก 7. ปากช่อง 8. สีคิ้ว 9.ขามทะเลสอ

-สถานที่บริการทางหลวง (จุดพักรถ) รวม 8 แห่ง 1. วังน้อย 2. หนองแค 3. สระบุรี 4. ทับกวาง 5. ปากช่อง 6. ลำตะคอง 7. สีคิ้ว 8. ขามทะเลสอ
กำลังโหลดความคิดเห็น