ศูนย์ข่าวขอนแก่น - นักวิชาการ มข.และอดีตคนเดือนตุลา เปิดเสวนาประเด็นร้อน “สังคมไทยจะพ้นสังคมหลากสีได้อย่างไร” บ่ายพรุ่งนี้ที่หอประชุมคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ พร้อมขายบัตรหารายได้จัดตั้งกองทุนดูแลสุขภาพสหายอาวุโส เผยหลังสงครามการเมืองภาคประชาคมยุติ เหล่าสหายกองทัพประชาชนจำนวนไม่น้อยประสบปัญหาคุณภาพชีวิต หากตั้งกองทุนฯสำเร็จจะช่วยเหลือดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของอดีตผู้เสียสละได้ระดับหนึ่ง
นายประกาศิต รูปสูง ผู้ประสานงานโครงการกองทุนดูแลสุขภาพสหายผู้อาวุโส เปิดเผยว่าในวันพรุ่งนี้ (17 ต.ค.) ที่จะถึงนี้ที่หอประชุมคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จะมีการจัดงาน “ดนตรี-เสวนาตุลารำลึก” โดยงานจะเริ่มตั้งแต่เวลา 13.00 น.กิจกรรมมีทั้งภาคบันเทิงและภาคสาระ ไฮไลต์สำคัญคือเวทีเสวนาประเด็นสังไทยจะก้าวพ้นสังคมหลากสีได้อย่างไร วิทยากรประกอบด้วย นายสมพันธ์ เตชะอธิก นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น นายอมรเทพ อมรรัตนานนท์ และนายนิติรัฐ ทรัพย์สมบูรณ์ ตัวแทนอดีตคนตุลา โดยมีนายเจริญลักษณ์ เพ็ชรประดับ เป็นพิธีกร
สำหรับภาคบันเทิงมีศิลปินเพื่อชีวิตมาขับกล่อมบทเพลงรำลึกคนตุลา เริ่มจาก ไก่ แมลงสาป นิด ลายสือ สุทธี ปุราทะกา และวงคาราวาน
การจัดงานดนตรี-เสวนาตุลารำลึกครั้งนี้ เพื่อหารายได้จัดตั้งกองทุนดูแลสุขภาพของสหายผู้อาวุโส โดยรายได้จะมาจาก 2 ทางคือจากการขายบัตร 200 บาท/ที่นั่ง หักค่าใช้จ่ายการจัดงานแล้วจะนำสมทบกองทุนทั้งหมด อีกทางหนึ่งคือรับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมงานยังจะได้รับการเรียนรู้และศึกษาประวัติศาสตร์, ทัศนคติ, ความคิดเห็นระหว่างคนร่วมสมัยและนำไปสู่การประสานงานช่วยเหลือเกื้อกูลของผู้เสียสละในอดีตที่ผ่านมา
นายประกาศิตระบุว่า หลังสงครามการเมืองภาคประชาชน ได้ยุติบทบาทลงตามแผนอันแยบยล 66/23 ของฝ่ายอำนาจรัฐ เหล่าบรรดามิตรสหายแห่งกองทัพประชาชนก็จำต้องออกจากป่าเข้าสู่เมืองเพื่อประกอบอาชีพการงานหาเลี้ยงชีพของตนเองไปตามถนัดและตามภาวะวิสัยของแต่ละบุคคล หลายคนก็ประสบความสำเร็จมากมายและอีกหลายๆ คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสหายชาวนาที่เคยขนเสบียงให้กับทางกองทัพและพรรคฯด้วยความเสียสละกล้าหาญ ที่ถึงแม้เวลาจะผ่านนาน แต่วิถีชีวิตก็ยังคงดำรงอยู่ด้วยความอัตคัด ขัดสน ขาดการเหลียวแลเอาใจใส่จากภาคส่วนต่างๆ
ดังนั้น การจัดทำโครงการครั้งนี้หวังเพื่อที่จะตอบแทนนักสู้นิรนามที่เสียสละเหล่านั้น เพื่อดูแลสุขภาพอันร่วงโรยไปตามกาลเวลา พวกเขาได้เสียสละไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าผู้นำทั้งหลาย ใช้ชีวิตอย่างยากลำบากยามเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย อย่างดีที่สุดก็แค่ใช้สิทธิ์ตามที่รัฐจัดให้ซึ่งไม่อาจเพียงพอต่อความต้องการ
“เพื่อไม่เป็นการทอดทิ้งมิตรสหายในยามยาก โครงการครั้งนี้จึงเกิดขึ้นมาเพื่อแสดงออกซึ่งความมีน้ำใจไมตรีแห่งมิตรสหาย แทนคำขอบคุณที่พวกเขาได้เสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อผู้อื่นมาเกือบทั้งชีวิต”