xs
xsm
sm
md
lg

ทุ่มงบฯ 140 ล้านดันผลิตภัณฑ์ผ้าไหม 4 จว.อีสานใต้ลุยเจาะตลาดโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รัฐทุ่มงบฯ  140 ล้าน ผลักดันผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยชื่อดัง 4 จว.อีสานใต้ “กลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์” ลุยขยายตลาดในประเทศ-รุกบุกเบิกตลาดโลกมากขึ้น
สุรินทร์ - ทุ่มงบฯ 140 ล้าน ดันผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยชื่อดัง 4 จว.อีสานใต้ “กลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์” ลุยขยายตลาดในประเทศ-รุกบุกเบิกตลาดโลกมากขึ้น ตามยุทธศาสตร์พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ผ้าไหม ชี้มุ่งเจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม-ตลาดบนกำลังซื้อสูงในประเทศแถบอาหรับ ญี่ปุ่น อเมริกา เผยเน้นพัฒนาสินค้ามีความหลากหลายสอดรับทิศทางตลาดและตรงใจผู้ซื้อ พร้อมร่วมเพื่อนบ้านสร้างเส้นทางการค้าไหมของภูมิภาค

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่นิคมสร้างตนเองเลี้ยงไหมจังหวัดสุรินทร์ ในพระบรมราชานุเคราะห์ อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ ดร.สุพรรณี ฉายบุตร ที่ปรึกษา“กลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์”ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 (นครราชสีมา, ชัยภูมิ, บุรีรัมย์ และ สุรินทร์) พร้อมด้วยนายวิเชียร ชวลิต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันประชุมกำหนดแนวทางการพัฒนาการส่งเสริมการจำหน่ายผ้าไหม ตามยุทธศาสตร์พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ผ้าไหม ของกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์

รวมทั้งการวิเคราะห์ภาพรวมอุตสาหกรรมไหมของโลก ซึ่งประเทศที่มีบทบาทในอุตสาหกรรมไหมโลก แบ่งเป็น 1.ประเทศผู้ผลิตเส้นไหม ได้แก่ จีน และ บราซิล 2.ประเทศผู้ผลิตผ้าไหมดิบ ได้แก่ จีน อินเดีย เวียดนาม 3.ประเทศผู้นำเข้าผ้าไหมดิบ เพื่อนำไปย้อมสี พิมพ์ และตกแต่ง ได้แก่ อิตาลี ฝรั่งเศส อังกฤษ 4.ประเทศผู้นำเข้าผ้าไหม ได้แก่ ญี่ปุ่น อิตาลี ฝรั่งเศส อังกฤษ สหรัฐอเมริกา 5.ประเทศผู้นำเข้าสินค้าสำเร็จรูปจากผ้าไหม ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมัน อิตาลี ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส อังกฤษ สวิตซ์แลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

สำหรับจุดแข็งหรือข้อดีของไหมไทย คือ ชื่อเสียงดี อยู่ในระดับบน ทำสีเหลือบได้ดี ให้สีดีทำให้มีความเงางามมากกว่า โดยจากการวิเคราะห์ความสามารถในการแข่งขันของไหมไทย ในมุมมองของผู้ซื้อรายใหญ่ (Corporate Buyers) ระบุว่า ชื่อเสียง และตำแหน่งทางการตลาดของไหมไทยรองจากไหมอิตาลี แต่สูงกว่าอินเดียและจีน การใช้สีที่แตกต่างกันของเส้นยืนและเส้นพุ่ง ทำให้เกิดสีเหลือบที่สวยและเงา เหมาะกับการนำไปผลิตสินค้าที่ใช้ในบ้านหรือเคหะสิ่งทอ มากกว่าเสื้อผ้า

อย่างไรก็ตาม ผ้าไหมไทยรักษายาก ซักลงเครื่องไม่ได้ ควรมุ่งเน้นในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย โดยใช้ความสามารถในการออกแบบและลวดลายทางศิลปะเพื่อต่อยอด Global Silk Products Import Silk Application

ส่วนทิศทางการพัฒนาไหมไทย ควรพัฒนาให้สามารถผลิตเส้นไหม ที่มีเส้นใยที่ยาว (เฉลี่ยมากกว่า 600 เมตร) และมีคุณภาพสม่ำเสมอ กระบวนการย้อมที่สามารถย้อมได้ในปริมาณมาก และได้สีที่สม่ำเสมอ สามารถควบคุมการย้อมสีที่สม่ำเสมอได้ทุกๆ ครั้ง โดยมีสูตรสีแน่นอน มีห้องอบสี และ Lab สี

การทอ ควรพัฒนาโดยใช้ความสามารถในเชิงหัตถกรรมผสมผสานเพื่อให้ได้รูปแบบที่แตกต่าง เช่น มัดหมี่ในลวดลายต่างๆ รวมถึงการทอผ้าพื้นปกติให้ได้คุณภาพสูง แน่นสม่ำเสมอ

ผลิตภัณฑ์ ต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย มีรูปแบบเหมาะสมกับทิศทางของตลาด โดยนำเสนอสินค้าให้เหมาะกับหลายๆ ระดับ และ รูปแบบของตลาด ควรมีฐานทางการตลาดถาวรในต่างประเทศสำหรับไหมไทย (Thai Silk) เพื่อจับตลาดบนโดยเฉพาะ (Thai Silk Flagship Concept Store /Showroom)

นอกจากนั้นยังต้องมีการส่งเสริมการขายผ้าไหม ในประทศเพื่อนบ้านโดยใช้เส้นทางการขนส่งลอจิสติกส์ หมายเลข R 9 จากประเทศจีน, สปป.ลาว, ไทย, เวียดนาม และประเทศกัมพูชา เป็นเส้นทางในการส่งเสริมการค้า การจำหน่ายผ้าไหม ซึ่งสามารถดำเนินการได้โดยทันที

ดร.สุพรรณี ฉายบุตร ที่ปรึกษากลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ อีสานตอนล่าง เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการจำหน่ายผ้าไหมของจังหวัดนครชัยบุรินทร์ ในปี 2553 จะมุ่งเน้นเรื่องการทำตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ จึงได้มาประชุมร่วมกันกำหนดแนวทางในครั้งนี้ว่าในปีงบประมาณ 2553 ที่กลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ได้รับจัดสรรมาราว 137-140 ล้านบาท นั้น จะนำมาดำเนินการอย่างไรบ้าง

ส่วนปี 2554 เราต้องเน้นกระบวนการพัฒนาการผลิต การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม โดยเฉพาะไหมทองของ จ.สุรินทร์ เป็นไหมที่สวยงามมาก ต้องมีการบุกเบิกตลาดให้มากขึ้น ทั้งตลาดเฉพาะกลุ่ม และตลาดระดับบนที่มีกำลังซื้อสูง อย่างประเทศแถบอาหรับที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งต้องมีการนำคณะนักออกแบบและนักการตลาดมาดูพื้นที่อีกครั้งหนึ่ง เพราะประเทศกลุ่มอาหรับจะชื่นชอบผ้าไหมสีทองและสีดำ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ้าม่าน ผ้าตกแต่งบ้านเรือน ผ้าปูที่นอน เครื่องแต่งกาย ผ้าคลุมผม รวมทั้งตลาดผ้าม่านในประเทศญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกาด้วย

“ปีหน้าต้องเร่งขยายตลาดในต่างประเทศได้แล้ว ต่อไปต้องเอาผู้ซื้อมาดูเลยว่าเขาต้องการสินค้าแบบไหนไปจำหน่าย เพื่อเราจะได้ผลิตสินค้าให้เป็นที่ถูกใจของผู้ซื้อไปเลย จะไม่มีการทำสินค้าแบบเดาสุ่มกันเองอีกต่อไป” ดร.สุพรรณี กล่าว









กำลังโหลดความคิดเห็น