ลำปาง - ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยจัดพิธีรับชื่อพระราชทาน “พลายปฐมสมภพ” ช้างเชือกแรกของประเทศไทยและเอเชีย ที่เกิดจากการผสมเทียม
ในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานชื่อลูกช้างพลายที่เกิดจากผสมเทียมด้วยน้ำเชื้อสดเชือกแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย และในทวีปเอเชีย ว่า “พลายปฐมสมภพ” ซึ่งมีความหมายว่า ช้างพลายเชือกแรกที่เกิดจากการผสมเทียมน้ำเชื้อ
วันนี้ (6 ต.ค.) ที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ และมูลนิธิกองทุนรักษ์ช้าง จึงได้จัดพิธีรับชื่อพระราชทาน โดยจัดให้มีพิธีทางศาสนา เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลและจัดพิธีฮ้องขวัญช้าง เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่พลายปฐมสมภพ
โดยตั้งแต่เช้าก่อนที่จะเข้าพิธีรับพระราชทานชื่อควาญช้างได้พาพลายปฐมสมภพเดินกับสหายอีกสองเชือก อาบน้ำ แต่งตัว เพื่อรอเข้าพิธี ซึ่งได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งเด็กนักเรียน ชาวไทย และต่างชาติ ที่เข้าร่วมงานร่วมขอถ่ายรูปและเข้าสัมผัสตัวของช้างลายปฐมสมภพ ซึ่งพลายปฐมสมภพไม่ได้มีอาการตื่นตกใจแต่อย่างใด กลับเล่นกับผู้ที่เข้ามาหาอย่างสนุกสนาน
สำหรับโครงการผสมเทียมได้เริ่มต้นด้วยการใช้น้ำเชื้อแช่แข็ง ก่อนโดยได้ทดลองกับช้างจำนวน 5 เชือก แต่ไม่สบความสำเร็จ เนื่องจากติดปัญหาหลายอย่าง ทางคณะผู้ทำการวิจัยจึงได้หันมาทดลองใช้น้ำเชื้อสด เมื่อต้นปี 2545 และเริ่มทดลองกับช้างพังขอด อายุ 28 ปี เป็นช้างของศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย เริ่มผสมเทียมเมื่อวันที่ 8-10 มิถุนายน 2548 โดยใช้น้ำเชื้อจากช้างเพศผู้ชื่อ “จาปาตี” อายุ 14 ปี และประสบผลสำเร็จ เมื่อพังขอดตั้งท้องและได้ตกลูกเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2550 เป็นลูกช้างพลาย ที่มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงทุกประการ ถือได้ว่าคณะนักวิจัยไทยเป็นคณะแรกของประเทศไทยและเอเชียที่ประสบความสำเร็จในการผสมเทียมช้างด้วยน้ำเชื้อสด
ขณะนี้ลูกช้าง "พลายปฐมสมภพ” อาศัยอยู่ที่ ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย มีอายุได้ 2 ปี 7 เดือน น้ำหนักตัว 600 กิโลกรัม มีลักษณะพิเศษคือเมื่อกินอ้อยแล้วมักจะคายชานอ้อยทิ้ง หรือเมื่อจะกินกล้วยจะปลอกเปลือกก่อน ซึ่งช้างเชือกอื่นจะไม่ทำ และมีความเป็นศิลปิน คือ วาดภาพด้วยงวดได้สวยงาม