xs
xsm
sm
md
lg

ติวเข้มควาญช้างไทย-ลาว/สกัดช้างไทยสูญพันธุ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ลำปาง - สถาบันคชบาลแห่งชาติ ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยลำปาง ร่วมกับมูลนิธิเอเซียเฮาส์ ประเทศเดนมาร์ก จัดอบรมควาญช้างก่อนช้างไทยจะสูญพันธุ์ หลังประชากรช้างในประเทศลดเหลือเพียง 5,000 เชือก จากเดิมที่เคยมีนับแสนเชือก เผยการอบรมครั้งแรกมีควาญทั้งของไทย และลาว รวม 50 คนเข้าร่วม

วันนี้ (9 ส.ค.) ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง และ มูลนิธิเอเซียเฮาส์ ประเทศเดนมาร์ก ได้ร่วมกันทำพิธีเปิดโครงการฝึกอบรมควาญช้างทั่วประเทศเพื่อดูแลช้าง รุ่นที่ 1 โดยมีควาญช้างจากจังหวัดลำปาง แพร่ น่าน ตาก อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย และจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอีก 2 คน รวม 50 คน

การจัดฝึกอบรมในครั้งนี้ เน้นให้ความรู้ ด้านวิชาการ การดูแลเลี้ยงช้างให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี อีกทั้งได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ตรงและการฝึกปฏิบัติการดูแลรักษาพยาบาลช้างเบื้องต้น ให้แก่คนเลี้ยงช้าง หรือควาญช้าง ซึ่งในอดีตควาญช้างจะเรียนรู้การเลี้ยงช้างจากภูมิปัญญาที่ถูกส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น-จากพ่อสู่ลูก ช้างเหล่านั้นจะได้รับการเลี้ยงดูและเอาใจใส่ดุจคนในครอบครัว แต่ในปัจจุบันความสัมพันธ์เช่นนี้ได้เลือนหายไปพร้อมกาลเวลา

ดังนั้น การพัฒนาควาญผู้ดูแลช้างให้สามารถดูแลช้างให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีให้เหมือนหรืออย่างน้อยให้เทียบเท่ากับในอดีต ให้สามารถนำความรู้ที่ได้รับ ไปถ่ายทอดให้แก่ควาญช้างคนอื่นๆ ในปางช้างของตน เพื่อเลี้ยงดูช้าง ให้อยู่ดี กินดี มีที่อยู่อาศัยที่ดี และมีสุขภาพดี เพื่อมิให้สูญพันธุ์ได้ในอนาคต

ทั้งนี้ เนื่องจากอดีตประเทศไทยมีช้างเลี้ยงและช้างป่า ประมาณ 100,000 เชือก แต่ปัจจุบันพบว่า ประชากรช้างไทยมีจำนวนลดน้อยลงอย่างน่าใจหาย จากการสำรวจล่าสุดพบมีช้างที่เหลืออยู่ในประเทศไทยเพียง 5,000 เชือกเท่านั้น ซึ่งเป็นที่น่าวิตกเป็นอย่างยิ่งว่า หากไม่มีการรณรงค์ช่วยเหลือช้างแล้ว เชื่อแน่ว่าภายในเวลาอันใกล้นี้ช้างไทยอาจจะสูญพันธุ์แน่นอน

สำหรับการฝึกอบรม ควาญช้างจะได้เรียนรู้ในเรื่องต่างๆ อาทิ เรื่องสถานะช้างไทย,กฎหมายเกี่ยวกับช้าง, การขนย้ายช้างอย่างปลอดภัย, อาหาร และความจำเป็นขั้นพื้นฐานสำหรับช้าง, ชีววิทยาและวงชีวิตของช้าง, ช้างตกมันและการจัดการที่เหมาะสม, โรคและอาการบาดเจ็บในช้าง, การดูแลจัดการซากช้าง, การป้องกันโรคติดต่อเชื้อในช้าง

ทั้งนี้ จะมีการฝึกอบรมรวม 4 ครั้ง คือ ครั้งแรก กำหนดจัดที่ ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ระหว่างวันที่ 9-11 สิงหาคม 2552, ครั้งที่สอง กำหนดจัดที่จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 5-7 ตุลาคม 2552, ครั้งที่สาม ประมาณต้นปี 2553 ที่จังหวัดกาญจนบุรี หรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และ ครั้งที่สี่ ประมาณกลางปี 2553 ที่จังหวัดพังงา

กำลังโหลดความคิดเห็น