ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ห่วงประชาชนมีบ้านเรือนใกล้เสาส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถืออาจได้รับอันตรายจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า สมาคมผู้บริโภคขอนแก่นยกผลสำรวจประชาชนใน 5 จังหวัดภาคอีสาน ร่วม 2 พันราย ระบุกว่า 61% มีอาการปวดและวิงเวียนศีรษะ ทั้งเสี่ยงเกิดอาการสั่นและสายตาพร่ามัว ผนึกพลังองค์กรเครือข่ายผู้บริโภค จี้กทช.บังคับใช้กฎหมายการตั้งเสาส่งสัญญาณให้เข้มงวด รุกตั้งหน่วยวัดความเข้มของสนามแม่เหล็กในบริเวณตั้งเสาส่งสัญญาณด้วย
เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น ร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสาน และสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) จัดแถลงผลการสำรวจข้อมูลพื้นที่ใกล้เคียงเสาส่งสัญญาณโทรคมนาคม ที่เกี่ยวข้องกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า โดยมีตัวแทนจากองค์กรเครือข่ายคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก ณ โรงแรมโฆษะ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
ปัจจุบันเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน แต่อุปกรณ์เหล่านี้เป็นแหล่งแผ่ คลื่นวิทยุ หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า แม้จะมีคลื่นความถี่ต่ำ (คลื่นความถี่ต่ำกว่า 3,000 Hz เช่นไฟฟ้าในบ้าน) แต่สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์ได้ หากรับคลื่นแรงเกินควรหรือเป็นเวลานานเกินไป อันตรายไม่แพ้โทรศัพท์มือถือ และเสาส่งสัญญาณ ซึ่งเป็นแหล่งแผ่คลื่นความถี่สูง (ความถี่ระหว่าง 3,000 Hz ถึง 300,000 Hz) ที่อาจส่งผลเป็นโรคมะเร็งและโรคร้ายต่างๆได้
สำหรับการสำรวจดังกล่าว สืบเนื่องจากการขยายตัวด้านการสื่อสารโทรคมนาคมที่รวดเร็ว ปริมาณการใช้โทรศัพท์มือถือเฉลี่ยมากกว่า 1 เลขหมาย ต่อ 1 คน ทำให้การให้บริการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วเช่นกัน ซึ่งผลกระทบจากการให้บริการด้านการสื่อสาร ทั้งมลภาวะจากขยะอิเลกโทรนิกส์ และผลกระทบจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือ อาจก่ออันตรายต่อสุขภาพประชาชนและปัญหาโลกร้อนตามมา
นายปฏิวัติ เฉลิมชาติ ผู้ประสานงาน สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า ผลการสอบถามประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เสาส่งสัญญาณโทรคมนาคม จำนวน 2,000 คนจากบริเวณรอบๆ เสาส่งสัญญาณ 125 แห่ง ใน 5 จังหวัดประกอบด้วย ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และสกลนคร โดยมีประชาชนจำนวนมากถึง 1,727 คน หรือร้อยละ 86.3 ไม่ทราบข้อมูลผลกระทบจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า มีเพียง 273 คน คิดเป็นร้อยละ 13.7 ที่ทราบข้อมูลผลกระทบจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
ที่น่าสนใจข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคลและสุขภาพในครอบครัว ประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เสาส่งสัญญาณโทรคมนาคมป่วยเป็นโรคต่างๆ จำนวน 410 คน คิดเป็นร้อยละ 20.5 ส่วนใหญ่เป็นโรคความดันโลหิตคิดเป็นร้อยละ 41.0 รองลงเป็นโรคเบาหวานร้อยละ 30.0 ส่วนใหญ่ป่วยมา 1-3 ปี ร้อยละ 33.9
ข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคลที่ผ่านมาในระยะเวลา 6 เดือน พบว่ามีอาการปวดศีรษะ 1,227 คน คิดเป็นร้อยละ 61.4 รองลงมามีอาการวิงเวียน 1,041 คน คิดเป็นร้อยละ 52.0 ส่วนข้อมูลคนในครอบครัว พบว่า ส่วนใหญ่คนในครอบครัวมีอาการปวดศีรษะ คิดเป็นร้อยละ 33.3 รองลงมามีอาการวิงเวียนและนอนไม่หลับ คิดเป็นร้อยละ 23.0 และ 21.0 ตามลำดับ
นอกจากนี้ อาการสั่นและสายตาพร่ามัว มีปัญหาในการมองเห็น มีความสัมพันธ์กับระยะห่างจากเสาส่งสัญญาณโทรคมนาคม ผู้ที่อยู่ห่างจากเสาส่งสัญญาณโทรคมนาคม ไม่เกิน 300 เมตร มีโอกาเสี่ยงเป็น 2 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่อยู่ห่างจากเสาส่งสัญญาณโทรคมนาคม เกินกว่า 300 เมตร และเสาส่งสัญญาณโทรคมนาคมที่ตั้งมานานกว่า 5 ปี มีโอกาสเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการหรือความรู้สึกสั่นเป็น 2 เท่า เมื่อเทียบกับเสาส่งสัญญาณโทรคมนาคมที่ตั้งมาน้อยกว่า 5 ปี
ใกล้เสาส่งสัญญาณมือถือเสี่ยงเป็นมะเร็ง 3 เท่า
ทั้งนี้ มีผลการศึกษาที่น่าสนใจของ ดร.สุเมธ วงศ์พานิชเลิศ นักวิชาการอิสระและกรรมการ สบท. เรื่อง “ผลกระทบต่อสุขภาพจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า” พบว่า คลื่นความถี่ต่ำ ส่งผลกระทบต่อระบบควบคุมในสมองมนุษย์ ทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น ปวดหัว หน้ามืด คลื่นเหียน สับสน อ่อนเพลีย ความจำเสื่อม ซึมเศร้า นอนไม่หลับ ชักกระตุก ฯลฯ
คลื่นความถี่ต่ำยังส่งผลกระทบต่อเด็ก โดยเด็กที่ได้รับคลื่นแม่เหล็กเกินกว่า 4 mG เป็นเวลานานๆ มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (ลูคิเมีย) ถึง 2 เท่าตัว ดังนั้นเด็กจึงไม่ควรอยู่ใกล้โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ ไมโครเวฟ และอื่นๆ
ด้านผลกระทบจากคลื่นความถี่สูง ผู้ที่อยู่ใกล้เสาสัญญาณโทรศัพท์ ในรัศมี 400 เมตร เสี่ยงต่ออาการผิดปรกติต่างๆ เช่น ปวดหัว นอนไม่หลับ ความจำเสื่อม สายตาพร่ามัว และผู้อาศัยในรัศมี 400 เมตรจากเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ เป็นเวลา 5 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งสูงขึ้น 3 เท่าตัว , การใช้โทรศัพท์มือถือมากๆ อาจก่อให้เกิดเนื้องอกในสมอง มะเร็งประสาทใกล้บริเวณหู
ส่วนข้อเสนอแนะ การตั้งเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถืออย่างปลอดภัยนั้น ควรลดระดับความเข้มของคลื่นฯ ควรตั้งเสา ห่างจากโรงเรียน โรงพยาบาล หรือชุมชนอย่างต่ำ 300-400 เมตร และไม่ควรตั้งเสาบนหลังคาอาคาร หากเลี่ยงไม่ได้ควรใช้อุปกรณ์กำลังรับส่งต่ำ ติดตั้งตามจุดต่างๆ อาทิ เสาไฟฟ้า แทนตั้งเสาส่งขนาดใหญ่
การใช้โทรศัพท์มือถือให้ปลอดภัยต่อสุขภาพ ควรใช้มือถือด้วยเวลาน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ควรใช้โทรศัพท์บ้านที่ไม่ใช่แบบไร้สาย ควรเปิดลำโพงมือถือแทนการใช้หูฟังแบบใช้สายและหูฟังบลูทูธ และควรหลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือในบริเวณที่มีคลื่นสัญญาณต่ำ เนื่องจากผู้ใช้จะได้รับปริมาณคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ส่งออกมาจากตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือสูงกว่าปกติ
ยื่นข้อเสนอต่อ กทช.ช่วยเหลือผู้บริโภค
นายปฏิวัติกล่าวต่อว่า เสาส่งสัญญาณโทรคมนาคม อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งทุกคนมีสิทธิที่จะดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างปลอดภัย เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสาน จึงได้นำเสนอผลการศึกษาเรื่องดังกล่าว และร่วมกันทำหนังสือยื่นข้อเสนอต่อคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ โดย กทช.ต้องบังคับใช้ระเบียบ ประกาศ และคำสั่ง ที่เกี่ยวข้องกับการตั้งเสาส่งสัญญาณโทรคมนาคมอย่างเข้มงวด จริงจัง
ประการต่อมา เมื่อผู้ประกอบการขออนุญาตตั้งเสาส่งสัญญาณ ณ ที่แห่งใด กทช.จะต้องตรวจสอบความถูกต้องของการขออนุญาตอย่างถี่ถ้วน โดยกทช.ต้องมีหน่วยติดตามตรวจวัดความเข้มของสนามแม่เหล็กในบริเวณที่มีการตั้งเสาส่งสัญญาณโทรคมนาคม สุดท้ายกทช.ต้องสนับสนุนสถาบันการศึกษา นักวิชาการ และหน่วยงานเกี่ยวข้อง ต่อการศึกษา วิจัยอย่างจริงจัง เกี่ยวกับผลกระทบและอันตรายจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า