xs
xsm
sm
md
lg

กินอาหารไขมันสูง อาจทำร่างกายพลังลดแถมความจำแย่ลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิจัยอังกฤษเตือน กินอาหารอาหารที่มีไขมันสูงมากเกินไป อาจทำให้ความอดทนของร่างกายลดลง และเสี่ยงความจำเสื่อมเร็วขึ้น (ไซน์เดลี/Leigh Schindler)
กินอาหารไขมันสูงอาจเสี่ยงเป็นโรคอ้วนหรือโรคหัวใจในระยะยาวได้ แต่ในระยะสั้นอาจทำให้คนเราออกกำลังกายได้น้อยลง แถมเสี่ยงความจำเสื่อมเร็วขึ้น หลังนักวิทย์อังกฤษทดลองเลี้ยงหนูด้วยอาหารไขมันสูง พบหนูวิ่งได้ระยะทางสั้นลง และหลงทางในเขาวงกตมากขึ้น

ดร.แอนดรูว์ เมอร์เรย์ (Dr Andrew Murray) และทีมวิจัยที่มหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด (Oxford University) สหราชอาณาจักร ศึกษาผลของการบริโภคอาหารที่มีไขมันสูงมากเกินไปในหนูทดลอง พบว่าทำให้หนูมีความอดทนทางร่างกายน้อยลง และความสามารถของระบบความจำแย่ลง ซึ่งไซน์เดลีระบุว่าผลงานวิจัยนี้ได้ตีพิมพ์ในวารสารเอฟเอเอสอีบี (FASEB)

"เราพบว่าเมื่อเลี้ยงหนูด้วยอาหารที่มีไขมันสูง แทนอาหารสูตรมาตรฐานแบบเดิมที่มีไขมันต่ำ ทำให้พวกมันมีการแสดงออกทางกายภาพลดลงอย่างรวดเร็วจนน่าตกใจมาก ซึ่งหลังจากผ่านไปแล้ว 9 วัน พวกมันวิ่งได้ไกลเพียง 50% ของระยะทางที่พวกมันเคยวิ่งเมื่อครั้งที่ยังถูกเลี้ยงด้วยอาหารไขมันต่ำ" ดร.เมอร์เรย์ เผยผลการวิจัยดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันเขาได้ย้ายไปเป็นนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (University of Cambridge)

อาหารที่อุดมไปด้วยไขมัน เป็นอาหารที่พบได้ทั่วไปในประเทศตะวันตก และเป็นที่ทราบกันดีว่า มันจะส่งผลเสียต่อร่างกายได้ในระยะยาว และจะทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา เช่น โรคอ้วน เบาหวาน และหัวใจล้มเหลว เป็นต้น อีกทั้งยังมีส่วนทำให้ความสามารถของสมองส่วนความจำเสื่อมลงด้วย ทว่าผลกระทบในระยะสั้นของการบริโภคอาหารไขมันสูงยังไม่ได้รับความสนใจมากเท่าใดนัก

นักวิจัยทำการทดลองโดยใช้หนูแรทเป็นต้นแบบ จำนวน 42 ตัว เริ่มต้นเลี้ยงหนูทุกตัวด้วยอาหารมาตรฐานที่มีไขมันต่ำและให้พลังงานเพียง 7.5% และวัดความอดทนของร่างกาย (Physical endurance) โดยวัดจากระยะทางที่พวกมันวิ่งได้บนลู่วิ่ง และตรวจสอบการทำงานของระบบความจำโดยให้หนูเดินในเขาวงกต

จากนั้นแบ่งหนูเป็น 2 กลุ่ม จำนวนเท่าๆ กัน โดยกลุ่มหนึ่งเลี้ยงด้วยอาหารแบบเดิม และอีกกลุ่มหนึ่งเปลี่ยนมาเลี้ยงด้วยอาหารที่มีไขมันสูง ซึ่งให้พลังงาน 55% และเปรียบเทียบผลเมื่อทดลองเปลี่ยนอาหารไป 9 วัน

ทั้งนี้ นักวิจัยระบุว่า อาหารไขมันต่ำที่ใช้เลี้ยงหนูในที่นี้ เทียบเท่ากับอาหารจำพวกธัญญาพืช ถั่ว และผลไม้ ที่คนเราบริโภคกัน ส่วนอาหารไขมันสูงที่ใช้ในการทดลอง ซึ่งดูเหมือนมีไขมันสูงมากก็จริง แต่ก็ไม่มากไปกว่าอาหารไขมันสูงที่คนเราบริโภคกันอยู่ทุกวันนี้ หรือจำพวกอาหารขยะทั้งหลายนั่นเอง

หลังจากเลี้ยงอาหารด้วยไขมันสูงไปแล้ว 4 วัน นักวิจัยทดสอบให้หนูกลุ่มดังกล่าววิ่งบนลู่วิ่งเป็นวันแรก พบว่าพวกมันสามารถวิ่งได้ระยะทางน้อยลงจากเดิม 30% และเมื่อผ่านไป 9 วัน พวกมันวิ่งได้ระยะทางน้อยลงถึง 50% เทียบกับหนูกลุ่มที่ได้กินอาหารไขมันต่ำตลอดการทดลอง

ทั้งนี้ ความอดทนของร่างกาย ขึ้นอยู่กับว่ามีออกซิเจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อมากเท่าใด และกล้ามเนื้อของเรามีประสิทธิภาพแค่ไหน ในการปลดปล่อยพลังงานจากการเผาผลาญอาหาร ซึ่งประสิทธิภาพการใช้ไขมันเป็นเชื้อเพลิงจะน้อยกว่าการใช้น้ำตาลกลูโคสจากอาหารพวกคาร์โบไฮเดรต

ทว่าระบบเผาผลาญในร่างกายสามารถเปลี่ยนแปลงได้เมื่อถูกเหนี่ยวนำด้วยอาหารที่มีรูปแบบแตกต่างไปจากเดิม ซึ่งก็ยังเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมากและยังถกเถียงกันอยู่ว่า ถ้าเลี้ยงหนูด้วยอาหารไขมันสูงเป็นช่วงเวลาสั้นๆ จะมีผลไปเพิ่มหรือลดการแสดงออกทางกายภาพได้หรือไม่

นอกจากนั้น เมื่อนักวิจัยทดลองให้หนูเดินในเขาวงกต ปรากฏว่าหนูที่กินอาหารไขมันสูง จะทำผิดพลาดเร็วกว่าด้วย และอัตราการตัดสินใจไปถูกทางก็ลดต่ำลงเดิมด้วย ชี้ให้เห็นว่าความสามารถในการจดจำของหนูกลุ่มนี้ได้รับผลจากการกินอาหารที่มีไขมันสูง

นักวิจัยยังได้ศึกษาด้วยว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้างในระบบการเผาผลาญอาหาร ซึ่งพบว่ามีระดับโปรตีนยูซีพี (uncoupling protein: UCP) สูงขึ้นในเซลล์กล้ามเนื้อและหัวใจของหนูกลุ่มที่เลี้ยงด้วยอาหารไขมันต่ำ ซึ่งโปรตีนชนิดนี้ เกี่ยวข้องในกระบวนการเผาผลาญอาหาร เพื่อให้ได้พลังงานสำหรับเซลล์ และไปลดประสิทธิภาพของหัวใจและกล้ามเนื้อ ซึ่งส่วนหนึ่งอธิบายได้จากระยะทางที่หนูวิ่งได้น้อยลงหลังจากถูกเลี้ยงด้วยอาหารที่มีไขมันสูง

อีกทั้งยังพบว่า หนูที่ถูกเลี้ยงด้วยอาหารไขมันสูงนาน 9 วัน แล้วนำมาวิ่งบนลู่วิ่ง มีหัวใจโตกว่าปกติอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งบ่งบอกว่าหัวใจจะต้องขยายขนาดให้ใหญ่ขึ้น เพื่อปั๊มเลือดไปเลี้ยงร่างกายมากขึ้น และให้กล้ามเนื้อได้รับออกซิเจนมากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่การทดลองในหนูเสร็จสิ้นลง ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ดได้ร่วมกับทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ทำการศึกษาต่อในคนอาสาสมัครด้วยการทดลองที่คล้ายกัน ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเก็บข้อมูล

นักวิจัยหวังว่าผลการทดลองที่ได้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการบริโภคอาหารของนักกีฬา รวมถึงคนทั่วไปที่ชอบบริโภคอาหารขยะที่มีไขมันสูง และอาจนำแนวทางนี้ไปพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับผู้ป่วย ที่มีความมบกพร่องของระบบเผาผลาญอาหารในร่างกายได้ด้วยเช่นกัน เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคอ้วน ซึ่งบุคคลกลุ่มนี้จะมีไขมันในเลือดสูง มีความอดทนต่อการออกกำลังกายน้อย บางคนอาจมีปัญหาด้านระบบความจำร่วมด้วย และอาจนำไปสู่โรคจิตเสื่อมได้.
กำลังโหลดความคิดเห็น