รายงาน
ศูนย์ข่าวภูเก็ต
ปัญหาเจ็ตสกีเอาเปรียบนักท่องเที่ยว ไม่ใช่ปัญหาใหม่สำหรับภูเก็ต แต่เป็นปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นควบคู่กับการท่องเที่ยวของภูเก็ต เมื่อย้อนหลังไป 10 กว่าปีที่ผ่านมา ปัญหานักท่องเที่ยวถูกผู้ประกอบการเจ็ตสกีเอาเปรียบเรียกค่าเสียหายสูงเกินความเป็นจริง ส่งเสียงดังรบกวนนักท่องเที่ยว พูดจาหยาบคายเข้าข่ายลวนลาม ฯลฯ ล้วนแต่เป็นปัญหาที่ถูกนักท่องเที่ยวร้องเรียนเกือบทุกชาติร้องเรียนเข้ามาโดยตลอด และปัญหาที่ถูกหยิบหยกมาเป็นปัญหาหนึ่งที่ทำลายภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของภูเก็ตอย่างรุนแรง
จนกระทั่งจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเห็นร่วมกัน ออกประกาศจังหวัดภูเก็ตให้ภูเก็ตเป็นเขตปลอดเจ็ตสกี
มาตรการดังกล่าวช่วยแก้ปัญหาไม่ได้ ภูเก็ตไม่สามารถทำให้เจ็ตสกีหมดไปตามที่ต้องการได้ เพราะผู้ประกอบการอ้างถึงความเดือดร้อน จึงต้องใช้วิธีคุมกำเนิดไม่ให้เจ็ตสกีเพิ่มขึ้นกว่าเดิม ให้คงไว้ที่ 219 ลำ และเห็นได้เฉพาะ 5 หาดเท่านั้น พร้อมวางกฎกติกาในการประกอบการเจ็ตสกีที่จะไม่ให้สร้างปัญหาให้แก่นักท่องเที่ยว โดยใช้วีธีนำเครื่องใหม่มาสวมแทนเครื่องเก่าที่ชำรุดเสียหาย จึงทำให้เจ็ตสกีอยู่คู่กับชายหาดของภูเก็ตมาจนถึงทุกวันนี้ พร้อมกับปัญหาการเอาเปรียบนักท่องเที่ยวมาโดยตลอด
จากสถิติของสถานีตำรวจภูธรกะทู้ กรณีที่เกิดปัญหาเจ็ตสกีเฉียวชนที่ไม่สามารถตกลงกันได้ระหว่างผู้ประกอบการกับนักท่องเที่ยว ที่ต้องมาตกลงกันที่สถานีตำรวจและต้องลงบันทึกประจำวันนั้น ในปี 2550 ที่ได้มีการเก็บสถิติตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงสิ้นปีมีทั้งสิ้น 12 ราย ปี 2551 มีจำนวน 40 ราย และในปี 2552 จนถึงขณะนี้มีทั้งสิ้น 20 ราย นี่ถือว่าเป็นเพียงจำนวนน้อยมากที่เรื่องถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ที่ผู้ประกอบการสามารถตกลงกับนักท่องเที่ยวได้ โดยที่นักท่องเที่ยวต้องจำยอมจ่ายค่าเสียหายในอัตราที่สูงเกินความเป็นจริงนั้นมีอีกเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ เพราะหากนักท่องเที่ยวเต็มใจจ่ายค่าเสียหายในราคาที่สมเหตุสมผล สถานทูตและสถานกงสุลของประเทศต่างๆ คงจะไม่ทำหนังสือร้องเรียนถึงรองนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายวิชัย ไพรสงบ และผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต พล.ต.ต.พิกัด ตันติพงษ์ เข้าไปแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเด็ดขาด เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการเจ็คสกีที่หาดป่าตองเอาเปรียบนักท่องเที่ยวอีก
เจ็ตสกีโหดเรื่องจริงผ่านเรียลิตี้โชว์
ระหว่างที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ภูเก็ตกำลังคิดหาวิธีที่จะทำอย่างไรไม่ให้ผู้ประกอบการเจ็ตสกีที่หาดป่าตองเอาเปรียบและสร้างปัญหาให้แก่นักท่องเที่ยวนั้นอีกครั้งหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวกลับมาเป็นปัญหาที่โด่งดังไปทั่วโลกอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเว็บไซต์ www.youtube.com ได้เผยแพร่ภาพทหารเรืออังกฤษมาท่องเที่ยวที่จังหวัดภูเก็ต พร้อมทั้งใช้บริการเจ็ตสกีที่หาดป่าตอง
ระหว่างเช่าเจ็ตสกีไปเล่นโฉบเฉี่ยวอยู่ในทะเล ปรากฏว่าเจ็ตสกีเกิดเสียหายขึ้นมา ผู้ประกอบการกับทหารเรืออังกฤษคนดังกล่าวไม่สามารถที่จะตกลงเรื่องราคาค่าเสียหายกันได้ที่ชายหาด จึงได้นำเจ็ตสกีดังกล่าวไปตกลงราคากันที่อู่ซ่อมแห่งหนึ่งที่ป่าตอง โดยผู้ประกอบการเรียกค่าเสียหาย 45,000 บาท แต่ทหารอังกฤษขอต่อรองเหลือ 35,000 ในขณะที่กำลังต่อรองกัน ผู้ประกอบการได้ถือปืนเข้ามาข่มขู่ทหารอังกฤษคนดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีการเผยแพร่ไปทาง www.youtube.com เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตามจับตัวผู้ประกอบการที่ถือปืนข่มขู่นักท่องเที่ยวที่อยู่ในรูปดังกล่าวได้ คือ นายวินัย ในมัน (หรั่ง หรือ เจเจ) ซึ่งจากการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่า นายวินัย มีพฤติกรรมในการข่มขู่ต่อรองค่าเสียหายจากนักท่องเที่ยวให้แก่ผู้ประกอบการเจ็ทสกีที่หาดป่าตองจริง แต่ภาพที่เผยแพร่ผ่านทาง www.youtube.com เป็นการถ่ายทำรายการที่ชื่อว่า “บราโว่เรียลิตี้โชว์” ที่มีนายวินัยเป็นตัวแสดงด้วย
แม้ว่าภาพที่เผยแพร่ผ่าน www.youtube.com จะเป็นเพียงรายการเรียลิตี้โชว์ แต่เป็นการนำเรื่องจริงมาถ่ายทำทั้งสิ้น ซึ่งนายวินัย เองก็ออกมายอมรับว่ารายการเคเบิ้ลทีวีในประเทศอังกฤษรายการนี้ เคยคิดต่อขอถ่ายทำการให้บริการเจ็ตสกีที่ชายหาดมาหลายครั้งแล้ว และภาพที่ออกมาในการต่อรองค่าเสียหายนั้นเป็นจริง แต่ภาพถือปืนเป็นเพียงการล่อเล่นหลังเจรจาตกลงค่าเสียหายกันเรียบร้อยแล้ว
ล้อมคอกเจ็ตสกียัดทำประกันภัยทุกลำ
พล.ต.ต.พิกัด ตันติพงษ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต ระบุว่า ปัญหาเจ็ตสกีเอาเปรียบและข่มขู่นักท่องเที่ยวเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นที่หาดป่าตอง ซึ่งก่อนที่จะมีการเผยแพร่ภาพดังกล่าว ตำรวจได้มีการประชุมหารือเพื่อที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวตามคำสั่งของรองนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แล้ว และได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลนักท่องเที่ยว และหากพบว่าผู้ประกอบการยังเรียกค่าเสียหายที่เกินจริงให้ดำเนินคดีในข้อหากรรโชกทรัพย์ พร้อมทั้งได้กำชับไม่ให้ผู้ประกอบการกับนักท่องเที่ยวต่อรองราคาค่าเสียหายกันเอง แต่จะต้องหาคนกลางมาตีราคาค่าเสียหาย ด้วยการให้เจ็ตสกีทำประกันภัยทุกลำ ลำใดที่ไม่ทำประกันภัยจะไม่มีสิทธิ์นำมาให้บริการนักท่องเที่ยว
พร้อมทั้งมีการจัดทำประวัติเจ็ตสกีแต่ละลำว่า เกิดเหตุอุบัติเหตุมากน้อยแค่ไหน เพื่อป้องกันปัญหาผู้ประกอบการหากินกับนักท่องเที่ยวด้วยการทำให้อุปกรณ์เจ็ตสกีเกิดเสียหายบ่อยๆ จัดทำประวัติผู้ประกอบการทั้งที่จดทะเบียนถูกต้องและไม่ถูกต้อง รวมไปถึงเด็กให้บริการเจ็ตสกี ที่บริเวณชายหาด
ขณะที่นายวิชัย ไพรสงบ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมด้วยผู้ประกอบการเจ็ตสกีทั้งหมดมาประชุมหารือ ถึงมาตรการในการป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบการเจ็ตสกีเอาเปรียบนักท่องเที่ยวอีก
จากการหารือร่วมกันได้ข้อสรุปที่ทุกฝ่ายเห็นฟ้องต้องกันว่า ทางออกที่จะแก้ปัญหาได้ คือ กำหนดให้เจ็ตสกีทุกลำทำประกันภัย เพราะเมื่อเหตุอุบัติเหตุเจ็ตสกีเสียหายนักท่องเที่ยวไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายที่เกิดขึ้น นักท่องเที่ยวไม่ต้องมารับผิดชอบ โดยให้ผู้ประกอบการบวกค่าประกันภัยเพิ่มไปในค่าบริการ ซึ่งเรื่องนี้จะมีการนัดหารือร่วมกันระหว่างบริษัทประกันภัยกับผู้ประกอบการอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 18 กันยายน
ทั้งนี้ จะมีการทำป้ายประชาสัมพันธ์ภาษาต่างๆ ให้นักท่องเที่ยวทราบว่าเมื่อเกิดอุบัติเหตุและมีค่าเสียหายนักท่องเที่ยวจะต้องแจ้งไปยังหน่วยงานใดให้รับทราบ ก่อนที่จะตกลงกับผู้ประกอบการ มีการกำหนดราคาค่าบริการที่ชัดเจน หากเป็นเจ็ตสกีลำใหญ่ราคานั่งได้ 2 คน ค่าบริการครึ่งชั่วโมง 1,500 บาท ลำเล็กค่าบริการ 1,200 บาท มีการกำหนดโซนนิ่งการเล่นเจ็ตสกีและทำทุ่นในจุดที่อันตรายมีโหดหิน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุเจ็ตสกีชนโขดหิน เจ็ตสกีที่เกิดอุบัติเหตุจะต้องนำมาตกลงราคาค่าเสียหายกันที่สถานีตำรวจ และเรือที่จะนำไปจดทะเบียนกับขนส่งทางน้ำฯจะต้องได้รับการรับรองจากท้องถิ่นเท่านั้น
ผู้ประกอบการตกลงกฎกติกาให้บริการ
นายอนุสรณ์ สาเหล่ ประธานชมรมผู้ประกอบการเจ็ตสกีภูเก็ต กล่าวถึงกรณีที่มีการมีเผยภาพผู้ประกอบการเจ็ตสกีใช้ข่มขู่นักท่องเที่ยว ว่า เป็นการทำลายภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตและประเทศไทย เมื่อภาพดังกล่าวเผยแพร่ออกไปทั่วโลก โดยขณะนี้ผู้ประกอบการเจ็ตสกีในภูเก็ตได้กำหนดมาตรการเบื้องต้น ที่จะไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่นักท่องเที่ยว คือ มีการกำหนดเขตการเล่นเจ็ตสกีที่แน่นอน มีการวางทุ่น เพื่อป้องกันไม่ให้เจ็ตสกีเข้าไปในบริเวณที่มีโหดหิน ซึ่งอาจจะทำให้เจ็ทสกีเกิดความเสียหาย ซึ่งจะนำซึ่งปัญหาการเรียกร้องค่าเสียหายกันอีก
เมื่อนักท่องเที่ยวตกลงเช่าเจ็ตสกีแล้ว ก่อนที่จะนำเจ็ตสกีไปเล่นนั้นจะต้องมีการตรวจสอบเจ็ตสกีพร้อมๆกันระหว่างนักท่องเที่ยวกับผู้ประกอบการว่า มีจุดไหนที่รอยหรือชำรุดบ้าง และเมื่อนำเจ็ตสกีมาส่งก็จะต้องตรวจสอบความเรียบร้อยอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพบว่าเจ็ตสกีมีรอยหรือชำรุด ผู้ประกอบการได้ตกลงกันแล้วว่า จะคิดค่าเสียหายในอัตราเดียวกันทั้งหมด คือ ชำรุดหรือเสียหายตารางนิ้วละ 250 บาท หากชำรุดเกิน 10 ตารางนิ้วละ 200 บาท รวมถึงพนักงานที่ให้บริการเจ็ตสกีอยู่ที่หน้าหาดจะต้องมีป้ายแสดงตนอย่างชัดเจนที่ออกโดยชมรมเจ็ตสกีในพื้นที่นั้นและได้รับการรับรองจากหน่วยงานของรัฐ
วันนี้ ปัญหาผู้ประกอบการเจ็ตสกีเอาเปรียบนักท่องเที่ยวจะหมดไปหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของผู้ประกอบการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องว่า จะเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งที่ผ่านมามีตัวอย่างให้เห็นหลายๆครั้งแล้วว่า การล้อมคอกเจ็ตสกีล้มเหลวมาโดยตลอด