xs
xsm
sm
md
lg

สรุปคงตำแหน่ง “กำนัน-ผญบ.” ใน อปท.พิเศษ-วาง กก.บห.ดูยุทธศาสตร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตาก- นายอำเภอแม่สอด นั่งหัวโต๊ะ ถกความคืบหน้าแผนจัดตั้งท้องถิ่นพิเศษ “นครแม่สอด” หารือกรอบอำนาจ-หน้าที่ ย้ำต้องคงตำแหน่ง “กำนัน-ผญบ.”ใน อปท.พิเศษ พร้อมเสนอตั้งคณะกรรมการบริหารพื้นที่ดูยุทธศาสตร์การพัฒนา

วันนี้(15 ก.ย.)นายกิตติศักดิ์ โตมรศักดิ์ นายอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ได้เป็นประธานการประชุมเกี่ยวกับการจัดการพื้นที่พิเศษและการพัฒนาด้านต่างๆ ของพื้นที่เมืองชายแดน บางส่วนของ อ.แม่สอด เพื่อยกฐานะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ “นครแม่สอด” โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ

ประกอบด้วยนายด่านศุลกากรแม่สอด-จัดหางานจังหวัดตาก สาขาแม่สอด-แรงงานจังหวัด-ผู้กำกับการด่านตรวจคนเข้าเมืองตาก(แม่สอด)-เจ้าพนักงานที่ดิน-หัวหน้าสำนักงานขนส่ง-ธนารักษ์จังหวัด-ประธานหอการค้าจังหวัดตาก-ประธานสภาอุตสาหกรรมตาก-นายกเทศมนตรีเมืองแม่สอด-ผู้แทนสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ตาก-นายกเทศมนตรีตำบลท่าสายลวด-กำนันตำบลท่าสายลวด และประธานชุมชนในเขตเทศบาล เข้าร่วมประชุมกว่า 50 คน นี้เพื่อให้หัวหน้าส่วนราชการและภาคเอกชน ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดกรอบอำนาจ-บทบาท-หน้าที่ของคณะผู้บริหาร ท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ “นครแม่สอด”

นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า แม่สอดจะต้องมีการพัฒนาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราต้องยอมรับกับการพัฒนาที่เกิดขึ้น การพัฒนาเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)รูปแบบพิเศษ “นครแม่สอด”เป็นการพัฒนาที่ล้ำค่าและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและท้องถิ่นต่อเนื่องจนไปถึงการพัฒนาประเทศชาติ ซึ่ง อปท. “นครแม่สอด” จะต้องคงไว้ซึ่งตำแหน่งกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ โดยตนเองจะเดินทางเข้าไปชี้แจงกับประชาชนในท้องถิ่นทุกเรื่อง เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องท้องถิ่นพิเศษ

นายอำนาจ นันทหาร รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเป็นเมืองการค้าชายแดนไทย-พม่า ที่มีศักยภาพและเป็นเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ อิสเวตส์อิโคโนมิคคอริดอร์ ถนนสายเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกนั้น ส่งผลให้เมืองแม่สอดมีความเหมาะสมและสมควรยกฐานะเป็น อปท.รูปแบบพิเศษ โดยภาคเอกชนและ อปท.จะได้ร่วมกันพัฒนาเป็นท้องถิ่นพิเศษทางเศรษฐกิจ

รายงานข่าวแจ้งว่าที่ประชุมเห็นควรให้มีโครงสร้างการบริหารและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหาร เช่นกำหนดยุทธศาสตร์-กำกับดูแลนโยบาย-ประสานงาน โดยมีคณะกรรมการบริหารมาจากฝ่ายต่างๆ เช่นผู้ว่าราชการจังหวัดตากหรือผู้แทน นายอำเภอแม่สอด(โดยตำแหน่ง)-ประธานสภาอุตสาหกรรม-ประธานหอการค้าและผู้ทรงคุณวุฒิ-ผู้แทนประชาสังคม-ผู้แทนฝ่ายบริหารนครแม่สอด-ผู้แทนจากสภานครแม่สอด-ประธานชุมชน ฯลฯ รวมทั้งหมดประมาณ 15-20 คน และมีการเลือกประธานคณะกรรมกรรมการบริหาร จากคณะกรรมการ โดยกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งตามวาระของผู้บริหารนครแม่สอดหรือตามวาระของตำแหน่งนั้นๆ โดยคณะกรรมการบริหารจะมีค่าตอบแทนตามความเหมาะสม

สำหรับการประชุมครั้งนี้ ยังได้พิจารณา กรอบแนวคิด-อำนาจ หน้าที่ ในการบริการสาธารณะ รวมทั้งการจัดระบบการจัดการด้านต่างๆ 5 ข้อ คือ 1.ด้านแรงงานต่างด้าว 2.ด้านการอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม 3. ด้านที่ดินและที่ราชพัสดุ 4.ด้านศุลกากร และ 5. ด้านการขนส่งทางบก รวมถึงกฎหมายที่ดิน-ศุลกากร-แรงงานต่างด้าว-การค้า-เกษตร-เกษตรอุตสาหกรรม ฯลฯ โดยระบบการบริหารจัดการต่างๆต้องเป็นประโยชน์ต่อประชาชน-ท้องถิ่นและประเทศชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น