ตาก - กรรมาธิการการปกครองฯถกแผนตั้ง อปท.พิเศษ-จังหวัดแม่สอด ผู้นำท้องถิ่นชายแดนจังหวัดตาก ยกทีมชี้แจงข้อมูลหนุนเต็มที่ ขณะที่จังหวัดฯ-กรมการปกครองยังแบ่งรับแบ่งสู้แผนตั้งจังหวัดใหม่ฯ แต่หนุนตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิเศษ “นครแม่สอด” เต็มที่
วานนี้ (9 ก.ย.52) นายเทอดเกียรติ ชินสรนันท์ นายกเทศมนตรีเมืองแม่สอด เทศบาลเมืองแม่สอด จ.ตาก ได้นำคณะผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นในพื้นที่ อ.แม่สอด และ 5 อำเภอชายแดน (แม่สอด-พบพระ-แม่ระมาด-อุ้มผางและ อ.ท่าสองยาง) พร้อมผู้แทนภาคเอกชน และนายสาโรจน์ แสงอรุณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ที่ได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดฯ เดินทางเข้าชี้แจงต่อนายภุชงค์ รุ่งโรจน์ ประธานคณะกรรมาธิการการปกครองสภาผู้แทนราษฎรและคณะกรรมาธิการ ที่ห้องประชุมคณะกรรมาธิการฯ หมายเลข 205 ชั้น 2 อาคารรัฐสภา กรุงเทพฯ เพื่อพิจารณาสนับสนุนและผลักดันการยกฐานะ 5 อำเภอชายแดนจังหวัดตากเป็นจังหวัดแม่สอด ซึ่งจะเป็นจังหวัดที่ 77 ของประเทศไทย
นายกเทศมนตรีเมืองแม่สอด ได้นำข้อมูลที่แสดงถึงศักยภาพของ 5 อำเภอชายแดนที่อยู่ติดต่อกับพม่า เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการ โดยเฉพาะด้านการค้าชายแดน ที่มีมูลค่าการค้ามากกว่าปีละ 23,000-24,000 ล้านบาท รวมทั้งเป็นเมืองท่องเที่ยว-เมืองศิลปวัฒนธรรม-เมืองพาณิชย์และอุตสาหกรรมด้านต่างๆ ประกอบกับข้อมูลที่มีประชาชนในพื้นที่นับ 100,000 คนสนับสนุนให้ตั้งแม่สอด-5 อำเภอชายแดนตากเป็นจังหวัดที่ 77 ของไทย
นอกจากนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังได้เสนอปัญหาเพื่อเป็นแนวทางการแก้ไขเพื่อการพัฒนาจังหวัดใหม่ 1.ปัญหาความห่างไกลของพื้นที่ การเดินทางการติดต่อราชการ-การทำการค้าของประชาชน มีระบบคมนาคมไม่สะดวก 2.ปัญหาความมั่นคง 3.เศรษฐกิจ 4.ไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร 5.มีหน่วยราชการครบถ้วนรองรับไว้แล้ว เช่นขนส่งจังหวัด ศาล สำนักงานอัยการ เรือนจำ ที่ดิน จัดหางาน ไฟฟ้า-ประปา จวนผู้ว่าราชการจังหวัดใหม่ ด่านศุลกากร ฯลฯ
“เมืองแม่สอด กำลังมีการพัฒนาการศึกษาครั้งใหญ่ มีการก่อสร้างอุทยานการเรียนรู้-มหาวิทยาลัย-และมหาวิทยาลัยนานาชาติ เพื่อการพัฒนาควบคู่จังหวัดแม่สอด”
นายอำนาจ นันทหาร รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่าแม่สอดเป็นเมืองชายแดนบนระเบียงเศรษฐกิจอีสต์เวตส์อีโคโนมิกคอร์ริดอร์ ตะวันออก-ตะวันตก เป็นเมืองเศรษฐกิจที่ต้องมีปัจจัยเอื้อในการสนับสนุนการบริหารจัดการที่จะต้องผลักดันให้เกิดจังหวัดแม่สอด
นายธนิตพล ไชยนันทน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัด (ส.ส.) ตาก กล่าวว่า หากมีการตั้งจังหวัดแม่สอดจริง จะสามารถสร้างความเจริญได้อย่างรวดเร็ว และประโยชน์นั้นจะเป็นของประเทศชาติ และตนอยากจะให้มีการพัฒนาจังหวัดตากควบคู่จังหวัดแม่สอด
“ผมขอเสนอการเตรียมความพร้อมในการแบ่งพื้นที่และระบบราชการและสถานที่ราชการ ให้มีครบทั้ง 2 พื้นที่คือในเขตจังหวัดตากและเขตเมืองแม่สอด” ส.ส.ตาก กล่าว
นายสาโรช แสงอรุณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวในที่ประชุมว่า แม่สอดมีความเหมาะสมในการพัฒนาเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ “นครแม่สอด” ส่วนการเป็นจังหวัดใหม่นั้น ทางจังหวัดยังไม่มีข้อมูลเพียงพอ
เจ้าหน้าที่จากกรมการปกครอง กล่าวชี้แจงว่า การแยกจังหวัดใหม่ ต้องเข้าหลักเกณฑ์ ทั้งจำนวนประชากรและจำนวนอำเภอ ซึ่งทุกความเห็นต้องฟังนโยบายของรัฐและรายละเอียดของหลักเกณฑ์ที่บางอย่างยกเว้นได้
นายภุชงค์ รุ่งโรจน์ ประธานคณะกรรมาธิการการปกครองสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า จากการได้ฟังการชี้แจงแล้ว มีทั้งเห็นด้วยและความเห็นที่แตกต่าง อย่างไรก็ตามจากการศึกษาข้อมูลที่ท้องถิ่นเสนอให้มานั้น สามารถยกเว้นให้ตั้ง จ.แม่สอด เป็นจังหวัดที่ 77 ได้แต่เราต้องมาดูในส่วนของอำเภอที่เหลือในจังหวัดตากด้วย
“หากเราไม่สนับสนุนการตั้งจังหวัดแม่สอด ก็เหมือนไม่อยากให้แม่สอด มีการพัฒนา” นายภุงชงค์ กล่าว
นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ กรรมาธิการการปกครองสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า แม่สอด เหมาะสมกับการเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ “นครแม่สอด” และจะเป็น อปท.พิเศษ ที่มีการพัฒนาใหญ่โตมาก จะเป็นต้นแบบท้องถิ่นพิเศษของประเทศที่จะเป็นแหล่งศึกษาด้านการปกครองส่วนท้องถิ่นที่แข็งแรง ส่วนการยกฐานะ จ.แม่สอดนั้น ตนเองยังเห็นว่า การเป็น อปท.พิเศษ “นครแม่สอด” จะดีกว่าเพราะเป็นเรื่องใหม่ในยุคโลกปัจจุบันในการสร้างท้องถิ่นพิเศษ “นครแม่สอด”
อย่างไรก็ตาม นายภุชงค์ กล่าวสรุปว่า กรรมาธิการฯมีความเห็นว่ายุทธศาสตร์การพัฒนาปัจจุบันอยู่ที่การพัฒนาท้องถิ่น โดยจะส่งเสริมความเข้มแข็งของท้องถิ่นพิเศษ "นครแม่สอด" ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้สนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างความเจริญเติบโตให้แม่สอด และขับเคลื่อนอย่างจริงจังก่อนที่จะเป็นจังหวัดแม่สอดต่อไป