ตาก - ตามรอยโรงเรียนสอนการทำเครื่องเงินเอกลักษณ์ของชนเผ่าแห่งเดียวของภาคเหนือตอนล่าง สนองพระราชดำริสมเด็จพระเทพฯ ล่าสุดยังเดินหน้าผลิตช่างเครื่องเงินชนเผ่าต่อเนื่อง หลังเปิดสอนมาตั้งแต่ปี 36
รายงานข่าวจากจังหวัดตาก แจ้งว่า ที่โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ตาก ต.แม่ท้อ อ.เมืองตาก จ.ตาก ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำกินนอน นักเรียนส่วนใหญ่จะเป็นชาวเขาเผ่าต่างๆ ทั้งม้ง กะเหรี่ยง มูเซอ อีก้อ อาข่า ฯลฯ โดยเปิดสอนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษานั้น นอกจากจะมีการเรียนการสอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ ยังเพิ่มวิชาชีพการทำเครื่องเงินแห่งเดียวของภาคเหนือตอนล่าง เพื่อสนองพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ที่พระราชทานเงินเริ่มต้นในการก่อสร้างอาคารเรียนวิชาชีพเครื่องเงิน
นายประพิณ ปันตาคำ ครูสอนวิชาชีพการทำเครื่องเงินจากช่างทองหลวง กล่าวว่า ทางโรงเรียนจะเริ่มให้เด็กเรียนวิชาชีพเครื่องเงินตั้งแต่ระดับมัธยมปีที่ 1-5 โดยเริ่มตั้งแต่หัดทำจนกระทั่งมีความชำนาญสามารถทำเป็นเครื่องประดับ เช่น สร้อย แหวน กำไล เงิน รวมทั้งเครื่องประดับของชนเผ่าแต่ละเผ่าได้อย่างสวยงาม
โดยที่ผ่านมามีประชาชน ครู และร้านค้าในเมือง เข้ามาสั่งทำเครื่องประดับในแต่ละวันจำนวนมาก โดยนักเรียนจะแบ่งรายได้จากผู้มาสั่งทำ โดยจะเป็นการจ่ายเงินปันผลให้กับนักเรียนทุกปี
นายประพิณบอกว่า ในแต่ละเทอมจะมีนักเรียนจบหลักสูตรทำเครื่องเงินประมาณ 30 คน ซึ่งเด็กเหล่านี้บางคนอาจจะไปศึกษาต่อในวิชาชีพอื่นๆ แต่ส่วนใหญ่จะไปทำงานในโรงงานจิวเวอร์รี่ ร้านทอง บางคนก็กลับไปเปิดร้านรับทำเครื่องเงินในท้องถิ่นของตน สามารถสร้างรายได้เลี้ยงชีพได้อย่างสบาย
ทั้งนี้ โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ตาก อ.เมือง จ.ตาก เป็นโรงเรียนสหศึกษา รับนักเรียนที่ผู้ปกครองมีฐานะยากจน เสียเปรียบทางเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรมและการศึกษา เพื่อเข้ารับการศึกษาในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา โดยรัฐจัดสวัสดิการค่าใช้จ่ายจำเป็นทางการศึกษา และอยู่ประจำกิน นอนในโรงเรียน โดยมีเป้าหมายมุ่งส่งเสริมพัฒนาเด็กขาดโอกาสให้ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานฝึกอาชีพกลับพัฒนาท้องถิ่นตนและมุ่งเข้าสู่ตลาดแรงงานตามวุฒิภาวะและระดับความรู้
ปัจจุบันโรงเรียนเข้าโครงการ โรงเรียนในโครงการสนองพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งสมเด็จพระเทพฯ ทรงเสด็จเยี่ยมโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ตาก มีพระกระแสรับสั่งถึงเรื่องการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมว่า “ต้องอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไว้ซึ่งนับวันจะสูญไป เด็กรุ่นหลังจะไม่ได้เห็น พวกฝรั่งเขามาเห็นของดีๆ เขาก็นำไป ถ้าช่วยกันรักษาไว้ก็จะดี”
จากนั้นทางโรงเรียนได้จัดทำโครงการทูลเกล้าฯ เสนอผ่านรองผู้อำนวยการโครงการส่วนพระองค์ สมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงทราบ โปรดพระราชทานเงินเป็นค่าวัสดุก่อสร้างอาคารและเป็นค่าเครื่องมือ 96,000 บาท และมีพระกระแสรับสั่งผ่านเลขาพระราชวัง ว่า “ต้องอนุรักษ์ศิลปะเดิมของชาวเขาแต่ละเผ่าไว้ การฝึกหัดขั้นแรกใช้วัสดุอื่นไปก่อน เมื่อเก่งแล้วจึงจะใช้เงินจริง”
โรงเรียนฯ ก็ได้สนองพระราชดำริ จัดดำเนินงานโครงการช่างเครื่องเงินชาวเขา มาตั้งแต่พุทธศักราช 2536