xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ท้องถิ่นสภาฯรับฟังปัญหาจัดการขยะบนเกาะเสม็ด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิรัช  ร่มเย็น ประธานคณะกรรมาธิการการปกครองส่วนท้องถิ่น สภาผู้แทนราษฎร และคณะ ร่วมรับฟังปัญหาขยะมูลฝอยมาบตาพุดและขยะบนเกาะเสม็ด
ระยอง-คณะกรรมาธิการส่วนท้องถิ่นสภาผู้แทน รับฟังปัญหาการจัดการขยะมูลฝอย เทศบาลมาบตาพุดและขยะบนเกาะเสม็ด เมืองระยอง

วันนี้ (11 ก.ย.52) ที่ห้องประชุมชั้น 4 สำนักงานเทศบาลเมืองมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง นายวิรัช ร่มเย็น ประธานคณะกรรมาธิการการปกครองส่วนท้องถิ่น สภาผู้แทนราษฎร พร้อมคณะประกอบด้วยนายบรรจบ รุ่งโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) จ.ชลบุรี นายวิชัย ล้ำสุทธิ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ ฯลฯ เดินทางมาร่วมรับฟังการจัดการมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลของเทศบาลเมืองมาบตาพุด และองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) เพ โดยนายสุรินทร์ สินรัตน์ เลขานุการนายกเทศมนตรี นายนภดล โสภณ ส.จ.ระยอง ฯ นายวิริยะ บุญกุล ปลัดเทศบาล นายพงศธร ถาวรวงศ์ รองปลัดเทศบาลฯ นายชินณดิฐ ปานพริ้ง รองนายก อบต.เพ และนักวิชาการ เข้าร่วมรับฟังและชี้แจงในการแก้ไขปัญหา

นายวิชัย ส.ส. จังหวัดระยอง กล่าวว่าปัญหาการสร้างโครงการกำจัดขยะมูลฝอยรวมแบบครบวงจร ซึ่งจะมีการก่อสร้างในพื้นที่ ตำบลน้ำคอก ตำบล ทับมา ตำบลหนองตะพาน ที่ทางเทศบาลเมืองมาบตาพุดและเทศบาลนครระยอง ได้จัดซื้อที่ดินไว้ประมาร 400 ไร่เศษ ปัจจุบันรัฐได้จัดสรรงบลงมาให้ 100 กว่าล้านบาท แต่ชาวบ้านไม่ยอมให้ก่อสร้าง เกรงได้รับผลกระทบมลภาวะสิ่งแวดล้อม ปัญหาบ่อเก็บขยะเทศบาลนครระยอง และเทศบาลเมืองมาบตาพุด ใกล้เต็มแล้ว ปัจจุบันจังหวัดระยองร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ระยอง ทำโครงการวิจัยบ่อขยะรวมครบวงจรทั้งสิ้น จำนวน 3 แห่ง คือ แห่งที่ 1พื้นที่เทศบาลตำบลทับมาและอบต.น้ำคอก แห่งที่ 2 พื้นที่อำเภอแกลง และแห่งที่ 3 อำเภอปลวกแดง เพื่อรองรับขยะแบบครบวงจร

นายสุรินทร์ กล่าวว่า หลุมฝังกลบขยะของเทศบาลเมืองมาบตาพุด เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ ปี2544 มีพื้นที่ประมาณ 33 ไร่เศษ รองรับขยะมูลฝอยได้ 300,000 คิว ขณะนี้หลุมฝังกลบขยะเต็มแล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการเปิดหลุมขยะแห่งใหม่ พื้นที่ 8 ไร่เศษ รองรับขยะได้เพียง 2 ปี เท่านั้น เรื่องปัญหาขยะได้เสนอคณะกรรมาธิการฯจัดหาพื้นที่สาธารณะที่เป็นของรัฐบาลห่างไกลชุมชน และไม่มีผลกระทบต่อชุมชน เพื่อจัดทำเป็นหลุมขยะรวมของจังหวัด และอุดหนุนเงินงบประมาณในการดำเนินการคัดแยก เผา ทำปุ๋ย และพลังงานทดแทน ทั้งในส่วนของท้องถิ่นเองและของอบจ.ระยอง

รวมทั้งเรื่องบูรณาการโครงการ อปท. ในด้านการจัดการขยะที่สอดคล้องกัน ให้มีการลงทุนร่วมกัน เพื่อให้เกิดเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับและแก้ไขปัญหาครอบคลุมในพื้นที่คาบเกี่ยว อาทิ การแลกเปลี่ยนวัตถุดิบ เช่นขยะเปียกนำมาทำปุ๋ย ไบโอแก๊ส และผลติน้ำมันจากพลาสติก ให้ช่วยผลักดันการจัดการขยะมูลฝอย กากอุตสาหกรรม ที่อยู่ในแผนลดและขจัดมลพิษ ของเทศบาลเมืองมาบตาพุด นำไปสู่การบังคับใช้ให้เป็นรูปธรรม

นายชินณดิฐ ปานพริ้ง รองนายก อบต.เพ กล่าวว่าขยะมูลฝอยบนเกาะเสม็ด ที่ฝังกลบอยู่ใต้ดินและบนดิน ประมาณนับ1,000 ตัน ถ้ามีการจัดการบริหารที่ดีโดยการขุดขึ้นมาเผาทำลายทิ้ง แล้วมาร่วมกันวางแนวทางในการจัดการใหม่ อาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปี ส่วนขยะใหม่ที่มีวันละ 7 ตัน นำมาคัดแยกอย่างเป็นระบบขยะเปียกนำไปให้ผู้ประกอบการผลิตไบโอแก๊ส โดยให้ชาวบ้านเข้าไปเรียนรู้ในการทำไบโอแก๊ส ส่วนพลาสติกและขวดแก้ว คัดแยกออกจากกัน หลังคัดแยกขยะมูลฝอยเสร็จแล้ว จาก จำนวน 7 ตัน ขยะน่าจะเหลืออยู่ประมาณ 2 ตัน/วัน

ปัญหาขยะบนเกาะเสม็ด ถ้ามีอุปกรณ์เครื่องมือ และมีแผนงานที่ดี ขยะไม่ใช่เป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องหนักใจ ในอนาคต อบต.เพ จะเป็นแม่แบบให้กับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาศึกษาการจัดการขยะมูลฝอยอย่างถูกวิธีและอย่างยั่งยืน แต่ต้องให้ท้องถิ่นเป็นผู้กำหนดทิศทาง วางแนวทางในการบริหารชุมชน การท่องเที่ยว กันเอง

นายชินณดิฐ กล่าวอีกว่า ปัญหาบนเกาะเสม็ดที่เป็นปัญหาเรื้อรังมานาน คือเรื่องที่ดินที่ประชาชนอาศัยทำกิน ตั้งรกรากกันมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่มีการประกาศพื้นที่เป็นเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด เมื่อปี 2524 ปัจจุบันให้กรมธนารักษ์เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ เป็นการเอากฎระเบียบมาทับประชาชน ปัญหาบนเกาะเสม็ด หน่วยงานภาครัฐในส่วนอุทยานฯทำงานผิดพลาด ควรจะยอมรับความผิดพลาดแล้วหันหน้ามาจัดการพื้นที่ให้ชัดเจน ปัญหาก็คงจบ

กำลังโหลดความคิดเห็น