xs
xsm
sm
md
lg

ชาวไร่อ้อยพื้นที่เสี่ยงปนเปื้อนแคดเมียมร้อง บ.ผลิตเอทานอลขอปรับราคาเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตาก- เกษตรกรชาวไร่อ้อยแม่สอด บุกเจรจาบอร์ดบริษัท แม่สอดพลังงานสะอาดฯ ยื่นเงื่อนไขขอปรับราคารับซื้อเพิ่มอีก 200 บาท/ตัน จากราคาขั้นต่ำตามประกาศ พร้อมปรับมาตรฐานการกำหนดราคาใหม่ ขู่ตัดอ้อย 40,000 ไร่ทิ้ง หันกลับไปปลูกข้าวบนพื้นที่เสี่ยงปนเปื้อนแคดเมียมเหมือนเดิม หากถูกเมินอีก


วันนี้ (11 ก.ย.) แกนนำกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยเพื่อผลิตเอทานอลในพื้นที่ปนเปื้อนสารแคดเมียม 3 ตำบลลุ่มน้ำแม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก ได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม เพื่อให้คณะกรรมการบริหารชุดใหญ่ของบริษัท แม่สอดพลังงานสะอาด จำกัด แก้ไขปัญหาราคาอ้อยที่บริษัทรับซื้ออ้อยเพื่อผลิตเอทานอล ปีการผลิต 2552/2553 เพิ่มจากราคาขั้นต่ำตามประกาศ สำนักคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล อีกตันละ 200 บาท หลังประสบปัญหาขาดทุนจากการขายผลผลิตอ้อยให้กับบริษัท และขอให้มีมาตรฐานในการกำหนดราคารับซื้ออ้อย เพื่อผลิตเอทานอล และการแบ่งปันผลประโยชน์ ระหว่างโรงงานกับชาวไร่อ้อย

รายงานข่าวแจ้งว่า กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยลุ่มน้ำแม่ตาว ได้เข้าพบปะกับผู้บริหารบริษัท เพื่อหาทางออกในเรื่องราคารับซื้ออ้อยเพื่อให้ได้ราคาที่เป็นธรรม และการจัดการส่งเสริมการปลูกอ้อย ตัดอ้อย และการเคลื่อนย้ายอ้อยเข้าโรงงานที่ได้ประโยชน์ทั้งเกษตรกร และผู้ประกอบการ มาแล้ว 2-3 ครั้ง แต่เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน จึงออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องไปยังคณะกรรมการบริหารชุดใหญ่ (บอร์ดใหญ่) ของบริษัท แม่สอดพลังงานสะอาด จำกัด เพื่อลงมาแก้ปัญหา และหาข้อเท็จจริงเพื่อความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย

ทั้งนี้ กลุ่มเกษตรกรได้ยื่นเงื่อนไขว่า หากบริษัทไม่แก้ปัญหาตามข้อเรียกร้องจะรวมตัวกันถางไร่อ้อยกว่า 40,000 ไร่ทิ้งทั้งหมด และอาจจะหันมาปลูกข้าวแทนการปลูกอ้อย เพื่อความอยู่รอดต่อไป

แกนนำเกษตรกรรายใหญ่ผู้ปลูกอ้อยในพื้นที่ อ.พบพระ กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นระยะเวลาฟื้นฟูไร่อ้อย และปลูกอ้อยเพิ่ม เมื่อไม่ได้รับคำตอบการขายอ้อยในราคาประกัน และข้อเรียกร้องปรับราคาเพิ่มตันละ 200 บาท เกษตรกรก็ไม่มีความหวัง ซึ่งปีที่ผ่านมาประสบปัญหาการขาดทุนกันถ้วนหน้า ปลูกอ้อยมากขาดทุนมาก ปีนี้เกษตรกรไม่ได้เรียกร้องราคาประกันมากเกิน
และการปลูกอ้อยในพื้นที่ 3 อำเภอของตาก ไม่มีค่า CCS เป็นค่าทดแทน

ขณะที่ราคาอ้อยฤดูกาลเพาะปลูกปีนี้ คาดการณ์ว่าจะมีราคาไม่ต่ำกว่า 1,150 บาท สูงสุดในรอบ 28 ปี เนื่องจากราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกปรับสูงขึ้นร้อยละ 20 ประกอบกับรัฐบาลได้ส่งเสริมการใช้เอทานอลในน้ำมันเชื้อเพลิงมากขึ้น การเรียกร้องเรื่องราอ้อยในราคาประกัน เพิ่มอีกตันละ 200 บาท ในพื้นที่ชายแดน และพื้นที่เสี่ยงสารแคดเมียม จึงน่าจะเป็นธรรมทั้งต่อบริษัทฯ และเกษตรกร

“หากบริษัทฯ จัดการเรื่องการส่งเสริมการปลูกอ้อย ตัดอ้อย การเคลื่อนย้ายอ้อยเข้าโรงงาน อย่างเป็นระบบ เรียกว่าบริหารจัดการที่ดี เกษตรกรจะสามารถปลูกอ้อยเพิ่มผลผลิตที่สูงขึ้น ได้น้ำหนักดี ราคาดี ป้อนโรงงานอย่างสม่ำเสมอ ไม่ต้องไปจอดรถยนต์ขนอ้อยรอเหมือนรอบปีที่แล้ว ทั้งสองฝ่ายจะวิน-วินทั้งคู่ ขณะเดียวกัน หากบริษัทฯ นิ่งเฉย เป็นใบ้อย่างทุกวันนี้ เชื่อว่าเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยคงจะต้องดิ้นไปปลูกข้าวในพื้นที่เสี่ยงสารแคดเมียมแทน”

รายงานแจ้งว่า พื้นที่ปลูกอ้อยเพื่อผลิตเอทานอล เป็นการปลูกอ้อยทดแทนพื้นที่ปลูกข้าวพื้นที่เสี่ยงสารแคดเมียม ในพื้นที่ 13,000 ไร่เศษ ใน 3 ตำบล แม่ตาว แม่กุ และพระธาตุผาแดง อ.แม่สอด ทั้งเป็นการขยายพื้นที่ปลูกอ้อย เพื่อส่งเข้าโรงงานผลิตเอทานอลที่ ต.แม่ตาว อ.แม่สอด ปัจจุบันมีการปลูกอ้อยเพิ่มใน อ.แม่สอด แม่ระมาด และ อ.พบพระ รวม 40,000 ไร่เศษ ส่งผลผลิตอ้อยเข้าโรงงานผลิตเอทานอล
กำลังโหลดความคิดเห็น