ตาก- คณะทำงานบูรณาการแก้ไขปัญหาสารแคดเมียมปนเปื้อนฯ ลุ่มน้ำแม่ตาว ลงพื้นที่แม่สอด เปิดโต๊ะหารือแนวทางสมานฉันท์ในทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ระดมตัวแทนทุกภาคส่วนร่วมประชุม ภายใต้งบประมาณสนับสนุนจาก สสส.
รายงานข่าวจากจังหวัดตาก แจ้งว่า ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ หัวหน้าโครงการและคณะทำงานบูรณาการแก้ไขปัญหาสารแคดเมียมปนเปื้อนในข้าว ลุ่มน้ำแม่ตาว ได้เดินทางมาประชุมคณะทำงานฯ ที่ห้องประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร-แม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยมีคณะทำงานฯจากพื้นที่ 3 ตำบล (แม่ตาว-แม่กุ-พระธาตุผาแดง) ที่ประสบปัญหาแคดเมียมปนเปื้อน กว่า 20 คน เข้าร่วมประชุม พร้อมภาคส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยฝ่ายปกครองจังหวัดตาก โรงพยาบาลแม่สอด เกษตรจังหวัดตาก เกษตรและสหกรณ์ตาก-สำนักงานการค้าภายในจังหวัดตาก สหกรณ์จังหวัด และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตาก ผู้แทนบริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน)
ทั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามโครงการการแก้ไขปัญหาและหาทางออก ที่เพื่อให้ทุกฝ่ายทำงานร่วมกันอย่างไม่ต้องหวาดระแวงกัน ตามที่สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า จัดทำโครงการนี้ขึ้นมา เพื่อศึกษากระบวนการสมานฉันท์สร้างสุขภาวะในสังคม ภายใต้งบประมาณสนับสนุนจากกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)เพื่อศึกษาและพัฒนารูปแบบในการป้องกันและจัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในชุมชน ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาด้านสุขภาพจากสารแคดเมียมปนเปื้อนในข้าว
ศ.นพ.วันชัย กล่าวว่า เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็น กรรมการ 1 ใน 5 ของสถาบันวิจัยแห่งชาติ และจะได้เชิญนักวิจัยหรือผู้เชี่ยวชาญที่ทำการศึกษาเรื่องแคดเมียมหารือเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมานำเสนอให้ชุมชนใน อ.แม่สอดได้รับทราบ ถึงความสำเร็จในการแก้ปัญหาสารแคดเมียม จึงจำเป็นต้องได้รับการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยมีเป้าหมายว่าทุกฝ่ายต้องพึงพอใจและอยู่ร่วมกันในพื้นที่ได้อย่างสันติสุข เช่น ความขัดแย้งในจังหวัดระยอง ซึ่งมีความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับโรงงานอุตสาหกรรม แต่เมื่อได้มีกระบวนการสานเสวนาพูดคุยกัน ทำให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน และมีสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
“ทีมงานจากสถาบันสันติศึกษาและสถาบันพระปกเกล้า ไม่ได้มาเพื่อทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์ แต่ต้องการเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาหาทางออกเพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ดังนั้นการตัดสินใจใดๆ ก็ตาม จึงควรใช้กระบวนการฉันทามติ ซึ่งไม่ใช่การยกมือลงคะแนนเสียงเพื่อที่จะตัดสินใจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพราะการยกมือลงคะแนนจะทำให้เกิดความรู้สึกแพ้และชนะ”
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับบทบาทหน้าที่ของคณะทำงานชุดนี้มีเป้าหมายเข้ามาแก้ไขและหาทางออกเพื่อให้เกิดสันติและความสมานฉันท์ในชุมชนทั้ง 3 ตำบล คือ 1.หาแนวทางแก้ไขปัญหาสุขภาพของผู้ได้รับผลกระทบจากสารแคดเมียมและติดตามการเฝ้าระวังรักษาผู้ได้รับผลกระทบจากสารแคดเมียม 2.ส่งเสริม สนับสนุนการให้ความรู้ความเข้าใจในการปลูกอ้อย และติดตามประสานงานเพื่อให้เกิดความพร้อมของโรงงานแม่สอดพลังงานสะอาด 3.หาแนวทางแก้ปัญหาการปนเปื้อนของสารแคดเมียมในข้าว และวิธีการปลูกข้าวให้สามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย
4.ส่งเสริมการสื่อสาร สร้างความรู้ ความเข้าใจ และความไว้วางใจร่วมกัน ตลอดจนแนวทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 5.ติดตามและประสานงานกับศูนย์บริการลุ่มน้ำแม่ตาว เพื่อให้ได้ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนสถานการณ์และการดำเนินงานที่เกี่ยวกับสารแคดเมียม โดยผลักดันให้เกิดเป็นศูนย์ข้อมูลข่าวสารต่อไป และ 6.ส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชนโดยการเปิดเวทีสานเสวนาหาทางออกร่วมกันอย่างต่อเนื่อง โดยให้สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสถาบันพระปกเกล้า เป็นพี่เลี้ยงในการประสานการจัดเวทีสานเสวนา