xs
xsm
sm
md
lg

“สุจิต” โต้ “โคทม” ติงสัดส่วน คกก.อิสระ ยันไม่ใช่สมานฉันท์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุจิต บุญบงการ
ปธ.คกก.อิสระศึกษาปฏิรูปการเมืองใหม่ เผย รอรัฐบาลหารือฝ่ายค้าน ปัด สูตร 8-3-8 ย้ำแค่มาศึกษาและทำข้อเสนอพัฒนาประชาธิปไตยภาพใหญ่ ใช้เวลา 8 เดือนจบ หนักใจหากฝ่ายค้าน-นปช.ไม่เข้าร่วมตอบสังคมยาก โต้ “โคทม” ไม่ใช่คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อคนสองกลุ่ม


วันนี้ (10 มี.ค.) ที่สภาพัฒนาการเมือง นายสุจิต บุญบงการ ประธานสภาพัฒาการเมือง และประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อศึกษารับฟังความคิดเห็นและเสนอแนะการพัฒนาประชาธิปไตยและการเมืองการปกครอง ร่วมหารือกรอบการทำงานของคณะกรรมการ ร่วมกับ นายวุฒิสาร ตันไชย เลขานุการคณะกรรมการ ภายหลังกรรมการสภาสถาบันพระปกเกล้า มีมติแต่งตั้งทั้งสองคนเป็นประธาน และเลขานุการคณะกรรมการอิสระ

จากนั้น นายสุจิต แถลงว่า ขณะนี้กรรมการสภาสถาบันพระปกเกล้า ส่งหนังสือแจ้งมติรับเป็นเจ้าภาพปฏิรูปการเมืองและตั้งคณะกรรมการอิสระ ที่มีตนเป็นประธาน ไปยังรัฐบาลแล้ว ซึ่งก็จะรอรัฐบาลตอบกลับมาว่า จะยอมรับหรือไม่ ถ้าตอบรับ กรรมการสภาสถาบันก็จะประชุมเพื่อมีมติยืนยันให้คณะกรรมการดำเนินการ จากนั้นตนก็จะดำเนินการให้มีกรรมการให้ครบตามกรอบ จำนวนไม่เกิน 50 คน ซึ่งจะมีผู้แทนจากหลากหลายเพื่อให้คณะกรรมการอิสระ มีความสมบูรณ์ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย และตอนนี้ก็เริ่มคิดแล้วคร่าวๆ ว่า จะมีจากองค์กรใดบ้าง ส่วนใหญจะให้องค์กรต่างๆ ส่งผู้แทนมา กับอีกส่วนหนึ่งจะเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่สถาบันกำหนด (อ่านรายละเอียดในล้อมกรอบ) ส่วนที่ นายโคทม อารียา ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทักท้วงว่า มีตัวแทนจากภาครัฐมากไป และภาคการเมืองน้อย เรื่องนี้ต้องดูที่องค์ประกอบอื่นๆ ด้วย เพราะคณะกรรมการชุดนี้ ไม่ใช่คณะกรรมการสมานฉันท์ระหว่างกลุ่มคนสองกลุ่ม แต่มาศึกษาประเด็นการปฏิรูปการเมือง ซึ่งต้องศึกษาหลายภาคส่วนของประเทศ

นายสุจิต กล่าวว่า ส่วนที่มีปัญหาว่า พรรคฝ่ายค้าน และ นปช.ไม่ยอมรับคณะกรรมการอิสระชุดนี้ ก็ต้องรอรัฐบาล และกรรมการสภาสถาบันพระปกเกล้า พิจารณาว่า จะทำอย่างไร ถ้ายังยืนยันว่า ให้คณะกรรมการอิสระดำเนินการ ก็จะเดินหน้า เพราะการทำงานจะไปฟังความเห็นจากทุกฝ่าย ทั้งที่อยู่ในคณะกรรมการอิสระ และอยู่ภายนอก คงต้องพูดกันในวงกว้าง ว่า ที่ไม่เห็นด้วยมีกี่กลุ่ม เป็นแค่เฉพาะฝ่ายค้าน หรือ นปช.หรือไม่ ที่ต้องทำความเข้าใจ คือ คณะกรรมการอิสระ ไม่ได้เป็นผู้ปฏิรูป ไม่ได้เป็นบุรุษไปรษณีย์ แต่เป็นผู้รวบรวมสังเคราะห์ปัญหา และเสนอข้อคิดเห็นที่เหมาะสมที่สุดกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อการพัฒนาประชาธิปไตยในอนาคต ส่วนคนที่จะมีอำนาจดำเนินการปฏิรูปจากนั้นต่อไป คือ รัฐบาล รัฐสภา ดังนั้น วันนี้ถ้าฝ่ายค้านมาอยู่ในคณะกรรมการอิสระจะดีมาก แต่ถ้าไม่มา คณะกรรมการอิสระฯก็ต้องดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามมติกรรมการสภาสถาบันพระปกเกล้า

“ส่วนที่ นปช.และฝ่ายค้าน ไม่ยอมรับที่ผมจะมาเป็นประธานนั้น ถ้ารัฐบาลตอบรับ และกรรมการสภาสถาบันพระปกเกล้า ให้เดินหน้า ผมก็ต้องเดิน ทั้งนี้ ผมไม่ใช่ผู้วิเศษ ที่จะดลบันดาลให้ทุกคนยอมรับได้ ผมเป็นนักวิชาการคนหนึ่ง ที่สอนหนังสือมายาวนาน มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ยืนยันว่า ผมตั้งใจทำงานเพื่อบ้านเมือง ข้อกังขาของฝ่ายดังกล่าว อาจจะค่อยๆ หายไป ยืนยันว่า ผมไม่อยู่ใต้อาณัติใคร แต่ผลการศึกษาที่ออกมาจะไปเข้าทางใครก็ช่วยไม่ได้ และไม่ได้หมายความว่า ผมอยู่ใต้อาณัติของกลุ่มนั้น” นายสุจิต กล่าว

นายสุจิต กล่าวว่า ส่วนที่มีการทักท้วงจากบางฝ่าย ว่า การศึกษาทำข้อเสนอแนะใช้เวลา 8 เดือน นานเกินไปนั้น ตนคิดว่า ระยะเวลาดังกล่าว มีความยืดหยุ่น จะขายหรือลดเวลา ขึ้นกับการทำงานของคณะกรรมการอิสระ ว่า ศึกษาเรื่องต่างๆ ลึกซึ้งแค่ไหน ตรงนี้ก็ต้องคุยกัน ถ้าลึกก็ทำเร็วไม่ได้ ทำลวกๆ อาจทำให้โดนมองว่า ไม่ตั้งใจทำงาน แต่ถ้าทำช้าไป อาจโดนมองว่า เตะถ่วง สรุปคือ คณะกรรมการอิสระจะไม่ลากยาวจนหาจุดจบไม่ได้ หรือจะไม่ทำเร็วไปเพราะจะไม่รอบคอบ

เมื่อถามถึงแกนปัญหาที่คณะกรรมการอิสระ จะศึกษา นายสุจิต กล่าวว่า ต้องรอให้มีคณะกรรมการอิสระครบทั้งชุด แล้วจึงจะวางกรอบได้ แต่เชื่อว่า คนที่จะมาเป็นกรรมการ มีอะไรในใจแล้ว จึงไม่ยากที่จะหาข้อยุติร่วมกัน

ด้าน นายวุฒิสาร กล่าวว่า ขอย้ำว่า คณะกรรมการอิสระชุดนี้ ไม่ใช่มาแก้รัฐธรรมนูญ แต่มาศึกษาปัญหาที่กว้างกว่านั้น ไม่ใช่แค่มิติสถาบันการเมือง แต่เป็นเรื่องวัฒนธรรมประชาธิปไตย และการพัฒนาประชาธิปไตยระยะยาว และการเมืองภาคพลเมือง ส่วนเรื่องการบังคับใช้รัฐธรรมนูญเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ส่วนที่มีการพุดถึงสูตร “8-3-8” นั้น เป็นความเห็นส่วนตัวของ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในกรรมการสภาสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งในการประชุมกรรมการสภาสถาบัน ไม่ได้พูดเรื่องนี้เลย ไม่มีเรื่อง 19 เดือนแก้รัฐธรรมนูญเสร็จแน่ ที่ทำคือ ศึกษาและให้ข้อเสนอแนะการพัฒนาประชาธิปไตย ใช้เวลา 8 เดือน

นายวุฒิสาร กล่าวว่า ส่วนที่มีการทักท้วงสัดส่วนของกรรมการอิสระ องค์ประกอบที่เสนอมาตอนนี้เป็นเพียงเบื้องต้น และตนมองว่า ในการทำงานของคณะกรรมการอิสระ ไม่ต้องมีสัดส่วนจากฝ่ายใดที่เท่ากัน เพราะไม่มีการโหวต โดยการทำงานจะเป็นการหาข้อสรุปเชิงหลักวิชามากกว่า ดังนั้น เรื่องสัดส่วนจำนวนไม่สำคัญ แต่เป็นเรื่องพื้นที่ ที่จะเปิดให้เข้ามาร่วมกันแสดงความคิดเห็นหาข้อสรุปร่วมกันมากกว่า

เมื่อถามว่า ฝ่ายค้าน และ นปช.จะไม่ส่งผู้แทนเข้าร่วม นายวุฒิสาร กล่าวว่า การไม่ส่งทำให้ฝ่ายดังกล่าวอธิบายต่อสังคมยาก ว่า ในเมื่อมีเวทีคุยกันแล้วทำไมไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วม ส่วนที่บอกว่า นายสุจิต หรือตน หรือสถาบันพระปกเกล้า ไม่เป็นกลางนั้น ต้องดูว่า คนที่เข้ามาทำ ทำแบบเลือกข้าง หรือมีอคติหรือไม่ ถ้าไปถามประชาชนว่าจะเอาหรือไม่ ก็จะมีปัญหาอีกว่า ประชาชนได้ข้อมูลไม่เท่ากัน ดังนั้น ตอนนี้ต้องมีความไว้ใจกันในระดับหนึ่งอย่างไรก็ดี การไม่ส่งก็เป็นสิทธิ์ ซึ่งตอนนี้หลังจากสภาสถาบันพระปกเกล้าส่งมติไป รัฐบาลก็ต้องไปกล่อมฝ่ายที่คัดค้านเองซึ่งเป็นเรื่องทางการเมือง แต่ตนคิดว่า นี่คือ การริเริ่ม ถ้าเดินต่อไม่ได้ก็ไม่รู้จะว่างอย่างไรแล้ว ถ้ารัฐบาลดึงฝ่ายค้านให้ร่วมไม่ได้ ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะพิจารณาว่าจะทำอย่างไร ถ้ายืนยันทำและส่งเรื่องกลับมา ตนยังเชื่อว่า กรรมการสภาสถาบันพระปกเกล้าจะให้คณะกรรมการอิสระฯเดินหน้าต่อไป ซึ่งหากรัฐบาลส่งเรื่องยืนยันกลับมา 1 สัปดาห์จากนั้นน่าจะได้รายชื่อคณะกรรมการอิสระทั้งชุด
กำลังโหลดความคิดเห็น