xs
xsm
sm
md
lg

กาฬสินธุ์ทำพิธีสืบชะตาแหล่งน้ำสาธารณะ หลังน้ำเน่าเสียนานหลายปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายเดชา ตันติยวรงค์ ผวจ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยข้าราชการ พนักงาน นักเรียน นักศึกษา และประชาชนกว่า 1,000 คน ร่วมกันทำพิธีสืบชะตา ปล่อยพันธุ์ปลา เทน้ำหมักชีวภาพลงในแหล่งน้ำสาธารณะหนองบึงใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของชาว ต.คำบง อ.ห้วยผึ้ง จ.กาฬสินธุ์ เนื่องจากถูกโรงงานแป้งมันในพื้นที่ปล่อยน้ำเสียลงมาสู่แหล่งน้ำดังกล่าวจนทำให้น้ำเน่าเสียมานานหลายปี พร้อมทั้งปลูกต้นไม้ เพื่อสร้างความร่มรื่นและความสมดุลรอบหนองบึงใหญ่
กาฬสินธุ์ - สนง.ทรัพยากรธรรมชาติฯ จังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมกับเทศบาลตำบลคำบง และเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านจังหวัดกาฬสินธุ์ ทำพิธีสืบชะตาแหล่งน้ำสาธารณะหนองบึงใหญ่ หลังประสบปัญหาน้ำเสียจากโรงงานแป้งมันนานหลายปี พร้อมจัดการฝึกอบรมเพิ่มประสิทธิภาพเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์สิ่งแวดล้อม หวังสร้างเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของตนเอง และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

วันนี้ (11 ก.ย.) นายเดชา ตันติยวรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ นางพิไลลักษณ์ ตันติยวรงค์ นายกเหล่ากาชาด จ.กาฬสินธุ์ นายสุระพงษ์ ศรีอักษร ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านจังหวัด ข้าราชการ พนักงาน นักเรียน นักศึกษา และประชาชนกว่า 1,000 คน ร่วมกันทำพิธีสืบชะตา ปล่อยพันธุ์ปลา เทน้ำหมักชีวภาพลงในแหล่งน้ำสาธารณะหนองบึงใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของชาว ต.คำบง อ.ห้วยผึ้ง จ.กาฬสินธุ์ เนื่องจากถูกโรงงานแป้งมันในพื้นที่ปล่อยน้ำเสียลงมาสู่แหล่งน้ำดังกล่าวจนทำให้น้ำเน่าเสียมานานหลายปี

พร้อมทั้งปลูกต้นไม้เพื่อสร้างความร่มรื่นและความสมดุลรอบหนองบึงใหญ่ โดยพิธีดังกล่าวได้มีการนิมนต์พระสงฆ์จำนวน 9 รูปมาทำพิธีทางศาสนา และมีการทำพิธีพราหมณ์สู่ขวัญและสืบชะตาแหล่งน้ำ

นายนายเดชา ตันติยวรงค์ ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า จังหวัดกาฬสินธุ์มีแหล่งน้ำและสระน้ำสาธารณะประจำหมู่บ้านทุกหมู่บ้าน ซึ่งมีอยู่กว่า 1,400 แห่ง มีแหล่งน้ำสาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนที่ควรอนุรักษ์ของท้องถิ่นประมาณ 185 แห่ง และมีแหล่งน้ำธรรมชาติที่ได้อนุรักษ์ผ่านเกณฑ์ประเมินเพียง 9 แห่ง ซึ่งยังเหลืออีกหลายแห่งที่ต้องเร่งอนุรักษ์ฟื้นฟู

สำหรับหนองบึงใหญ่เป็นแห่ลงน้ำอีกแห่งหนึ่งที่จำเป็นต้องเร่งทำการฟื้นฟูและอนุรักษ์โดยเร็ว เพราะเป็นแหล่งน้ำที่ประชาชนใช้ประโยชน์เพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตร ประมง ปศุสัตว์ อุตสาหกรรม เปรียบได้ว่าหนองบึงใหญ่คือสายใยชีวิตที่หล่อเลี้ยงการดำรงชีวิตของชาวบ้านในตำบลคำบงทั้ง 15 หมู่บ้าน

นายเดชากล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาหนองบึงใหญ่เกิดวิกฤติจากมลพิษทางน้ำหลายครั้ง เนื่องจากถูกโรงงานอุสาหกรรมแป้งมันในพื้นที่ปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำ จนทำให้เกิดผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในทุกด้าน จากปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นจังหวัดกาฬสินธุ์และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกาฬสินธุ์ได้เล็งเห็นความสำคัญของการแก้ไขปัญหาน้ำเสียของหนองบึงใหญ่จึงได้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลคำบง อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านจังหวัด ข้าราชการ พนักงาน นักเรียน และประชาชนกว่าทำพิธีสืบชะตาแหล่งน้ำสาธารณะหนองบึงใหญ่ขึ้น เพื่อกู้วิกฤตปัญหาน้ำเสีย หาทางออกในการแก้ไขปัญหาตลอดจนเป็นการต่อชะตาแหล่งน้ำให้อยู่คู่กับชาวบ้านสืบไปชั่วลูกชั่วหลานและเป็นการขอขมาพระแม่คงคาอีกด้วย

ด้าน นายสุระพงษ์ ศรีอักษร ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 82 พรรษา เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระองค์ท่านซึ่งเป็นบิดาแห่งสิ่งแวดล้อมไทย ในการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันปัญหาน้ำเสียของประเทศไทยเกิดขึ้นจำนวนมาก หลายพื้นที่อยู่ในขั้นวิกฤต ส่งผลต่อสภาสิ่งแวดล้อมโดยรวม

แม้ที่ผ่านมารัฐบาลและหลายหน่วยงานได้ให้ความสำคัญในการจัดการน้ำเสีย การก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนในท้องถิ่นแต่ก็ยังเกิดปัญหาดังกล่าวอยู่

นายสุระพงษ์กล่าวอีกว่า สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกาฬสินธุ์จึงได้ทำพิธีสืบชะตาแหล่งน้ำสาธารณะหนองบึงใหญ่ พร้อมทั้งตั้งอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านจังหวัดขึ้น เพื่อให้เกิดเครือข่ายภาคประชาชนในการจัดการสิ่งแวดล้อมแบบบูรณาการและเกิดองค์ความรู้ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้สอดคลองกับวิถีชีวิตและภูมิปัญญาท้องถิ่นและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ขณะที่ นายสุระชัย ไชยทองศรี นายกเทศมนตรีเทศบาลต.คำบง อ.ห้วยผึ่ง จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาหนองบึงใหญ่เกิดวิกฤตจากมลพิษทางน้ำหลายครั้ง เนื่องจากมีโรงงานอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังขนาดใหญ่ 2 แห่ง และโรงงานผลิตแก๊สชีวภาพขนาดกลาง อีก 1 แห่ง ได้ปล่อยน้ำเสียลงสู่หนองบึงใหญ่ จนทำให้คุณภาพน้ำอยู่ในขั้นต่ำ สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่น้ำตายจำนวนมาก

โดยมีค่าความเป็นกรดเป็นด่างอยู่ในระดับ 6 ปริมาณความสกปรกของน้ำในรูปสารอินทรีย์สูงถึง 49.5 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งมาตรฐานแหล่งน้ำผิวดินทั่วไปเพียง 1.5.4 มิลลิกรัมต่อลิตรเท่านั้น หากไม่รับบำบัดฟื้นฟูอนาคตจะเป็นแหล่งน้ำเสียในที่สุด


นายสุระชัยกล่าวอีกว่า จากปัญหาดังกล่าวทางเทศบาล ต.คำบง ได้เข้าสอบถามกับโรงงานดังกล่าวเพื่อที่จะหาทางแก้ไขแล้ว แต่ก็ได้รับคำตอบในเชิงแก้ตัวว่าแนวกันกากแป้งขาด น้ำเสียจากแป้งจึงไหลลงมายังหนองบึงใหญ่ เรื่องดังกล่าวจึงอยากฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอุสาหกรรมจังหวัด ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบให้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน

เพราะหากปล่อยละเลยไปนานๆ ก็ยิ่งจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพและวิถีชีวิตของชาวบ้านมากยิ่งขึ้น

สำหรับกิจกรรมในวันนี้ได้มีทำพิธีสืบชะตาหนองบึงใหญ่ขึ้น ซึ่งถือเป็นความเชื่อของชาวอีสานและคนในชุมชนว่าการทำพิธีสืบชะตา จะทำให้หนองบึงใหญ่จะอยู่คู่กับชาวบ้านไปชั่วลูกชั่วหลาน และเป็นการขมาพระแม่คงคา ช่วยดลบันดาลให้แหล่งน้ำกลับคืนสู่สภาวะปกติ ตลอดจนเป็นการปลูกจิตสำนึกให้ชาวบ้านให้รัก หวงแหนและต่อต้านผู้ที่ทำให้แหล่งน้ำของชุมชนเกิดความเน่าเสีย


กำลังโหลดความคิดเห็น