ศรีสะเกษ - เมืองดอกลำดวนรุกส่งเสริม-พัฒนาศักยภาพเศรษฐกิจระดับรากแก้ว หนุนปชช.เลี้ยง “ไก่พันธุ์พื้นบ้าน” ตีตลาดกัมพูชา เผยมีความต้องการสูง ยอดส่งออกเฉพาะชายแดนด้านช่องสะงำเดือนละ 2 หมื่นตัวกว่า 3 ล้านต่อเดือน พร้อมกำหนดแผนเชิงรุกแก้ไขปัญหา “หอมแดง” พันล้านทั้งระบบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อที่วันที่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ นายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ได้กล่าวมอบนโยบายแนวทางการพัฒนาและส่งเสริมด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว จังหวัดศรีสะเกษ ในที่ประชุมนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.), นายกเทศมนตรี และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จ.ศรีสะเกษ ว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนตามนโยบายรัฐบาลและการพัฒนาส่งเสริมด้านเศรษฐกิจระดับรากหญ้าในกลุ่มของประชาชนนั้น ขอให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้กำหนดแผนงานพัฒนาอาชีพและรายได้ของประชาชน โดยเน้นการแก้ไขปัญหาที่อาชีพหลัก เช่น การปลูกข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ยางพารา การเลี้ยงปศุสัตว์ มากกว่าการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพรองให้แก่ประชาชน
นายระพี กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ในส่วนทางจังหวัดศรีสะเกษ จะดำเนินการส่งเสริมอาชีพใน 2 เรื่องเป็นลำดับแรก คือ การส่งเสริมการเลี้ยงไก่พันธุ์พื้นบ้าน เนื่องจากตลาดของผู้บริโภคด้านชายแดนไทย-กัมพูชามีความต้องการสูงมาก ซึ่งเฉพาะตลาดส่งออกด้านด่านผ่านแดนถาวรไทย-กัมพูชา ช่องสะงำ อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ มีตัวเลขการสั่งซื้อไก่พันธุ์พื้นบ้านจาก จ.ศรีสะเกษ เฉลี่ยเดือนละ 20,000 ตัว เป็นมูลค่าร่วม 3 ล้านบาทต่อเดือน
ขณะนี้ได้ให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดและอำเภอต่างๆ ได้ส่งเสริมการเลี้ยงไก่พันธุ์พื้นบ้าน โดยจะทำการขยายตลาดส่งออกเข้าไปที่ จ.เสียมราฐ ประเทศกัมพูชา พร้อมสร้างตลาดนัดสัตว์ปีก ขึ้นที่ด่านชายแดนช่องสะงำ เพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสามารถนำไก่พันธุ์พื้นบ้าน ไปขายได้โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง
ส่วนอันดับที่ 2 คือ การปลูกหอมแดง ซึ่ง จ.ศรีสะเกษเป็นแหล่งผลิตใหญ่ของประเทศไทย มีพื้นที่เพาะปลูก 23,479 ไร่ ได้ผลผลิตรวมประมาณ 66,018 ตันต่อปี สร้างรายได้ให้เกษตรกรปีละกว่า 1,188 ล้านบาท นั้น ได้กำหนดแผนดำเนินการแก้ปัญหาราคาตกต่ำซ้ำซากเชิงรุก ทั้งด้านการผลิตและด้านการตลาด ทั้งนี้ในส่วนของการผลิต จะทำการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงเพื่อวางแผนการเพาะปลูก รวมทั้งการลดต้นทุนการผลิต และการรักษาคุณภาพหองแดง เช่น เก็บเกี่ยวเมื่อหอมแดงแก่จัดมีอายุไม่น้อยกว่า 70 วัน
สำหรับด้านการตลาด ได้ให้เทศบาลตำบลยางชุมน้อย เป็นเจ้าภาพหลัก โดยจะมีการจัดตั้ง “ตลาดกลางหอมแดง” โดยใช้ราคากลางรับซื้อสินค้าหอมแดง
นอกจากนั้นจังหวัดฯ จะดำเนินการขยายตลาดสินค้าหอมแดงเพิ่มขึ้น และ เซ็นสัญญาซื้อขายสินค้าเกษตรหอมแดงล่วงหน้ากับผู้ค้ารายใหญ่ด้วย