ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – เครือข่ายเยาวชน-นักศึกษาเฝ้าระวังภัยแอลกอฮอล์ 7 สถาบันเชียงใหม่ จี้ผู้ว่าฯ จริงจังบังคับใช้กฎหมายควบคุมเหล้า หลังสำรวจพบ 1 ปีประกาศใช้กฎหมายไม่เป็นผล ร้านเหล้า-สถานบันเทิงย่านสถาบันการศึกษาทำผิดกฎหมายเพียบ
วันนี้ (1 ก.ย.) ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เครือข่ายเยาวชน - นักศึกษาเฝ้าระวังภัยแอลกอฮอล์ 7 สถาบัน จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบไปด้วย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยพายัพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ภาคพายัพ มหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และสถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตเชียงใหม่
นำโดย นายรักพงศ์ คำซาว แกนนักศึกษา และนายธงชัย ยงยืน ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคเหนือ ได้ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ผ่านนายชูชาติ กีฬาแปง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเรียกร้องให้เข้มงวดกับการดำเนินการตามกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลังจากมีผลบังคับใช้มานาน 1 ปี แล้วแต่ในทางปฏิบัติเครือข่ายมองว่ายังไม่มีความตื่นตัวเรื่องดังกล่าว
นายรักพงศ์ กล่าวว่า ทางเครือข่ายนักศึกษาทั้ง 7 สถาบันได้ร่วมกันจัดตั้งเครือข่ายเฝ้าระวังภัยแอลกอฮอล์ขึ้น เพื่อสนับสนุนกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัย ให้เป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดื่มเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ เช่น กิจกรรมรับน้องปลอดเหล้า ค่ายอาสาปลอดเหล้า และได้ร่วมรณรงค์ชวนนักศึกษาและประชาชน ให้ ลด ละ เลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในประเพณีและเทศกาลสำคัญๆ ของจังหวัดเชียงใหม่ เช่น ประเพณีปี๋ใหม่เมือง ประเพณีเดือนยี่เป็ง เป็นต้น
นอกจากกิจกรรมดังกล่าว เครือข่ายนักศึกษาเฝ้าระวังภัยแอลกอฮอล์ฯ ยังได้ทำการสำรวจ ร้านค้าที่จำหน่ายเหล้า-เบียร์รอบมหาวิทยาลัย จำนวน 4 สถาบัน และสำรวจการกระทำผิด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น การโฆษณา (มาตรา 32) การส่งเสริมการขายลด แลก แจก แถม (มาตรา 30) ของร้านค้า ผู้ประกอบการ และสถานบันเทิงของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งพบจำนวนมาก
ในการนี้เครือข่ายนักศึกษาเฝ้าระวังภัยฯ ซึ่งตระหนักถึงปัญหาและความสูญเสีย จากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยจากสถิติอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์ปี 2552 มีผู้เสียชีวิต 373 ราย ผู้บาดเจ็บ 4,332 ราย ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ เป็นจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดของประทศจำนวน 15 ราย และสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 27.78
อีกทั้งการเกิดขึ้นของนักดื่มหน้าใหม่ ซึ่งเป็นเยาวชน-นักศึกษา (อายุ 15-19 ปี) มีอัตราการดื่มประจำเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 70 ด้วยเหตุนี้ทางเครือข่ายนักศึกษาทั้ง 7 สถาบัน จึงเห็นสมควรเป็นแนวทางเดียวกันที่จะเรียกร้องต่อผู้ว่าราชการจังหวัดขอให้ช่วยออกมาตรการ สนับสนุน พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เพื่อให้เกิดการปฏิบัติที่จริงจัง
สำหรับประเด็นที่มีการเรียกร้องในหนังสือดังกล่าว ได้แก่ 1.ขอให้มีการระดมความคิดเห็นเพื่อแก้ไขปัญหาเหล้าปั่น และการออกใบอนุญาตการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบสถาบันการศึกษา 2.ขอให้เคร่งครัดในการบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประเด็นการโฆษณา และการส่งเสริมการขายโดย ลด แลก แจก แถม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
3.ขอให้เข้มงวดกับการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี และ 4.ขอให้ปกป้องเยาวชน-นักศึกษาจากธุรกิจน้ำเมา โดยดำเนินการอย่างเด็ดขาด กับผู้ประกอบการ,ร้านค้า,สถานบันเทิงที่ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2551
ทั้งนี้ เครือข่ายเยาวชน-นักศึกษาเฝ้าระวังภัยแอลกอฮอล์ 7 สถาบันจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมเป็นอาสาสมัคร เฝ้าระวังการกระทำผิด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2551 เพื่อสนับสนุนให้เกิดการบังคับใช้จริง และเกิดผลเชิงรูปธรรม โดยการสำรวจข้อมูลการกระทำผิดและรายงานผลต่อสาธารณชนะและส่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัดเชียงใหม่ทุกเดือน