เลย - เผยช้างป่า 3 เชือกพ่อแม่ลูกตกเหวในจังหวัดเลยเป็นเรื่องสุดวิสัย ขณะที่ช้างป่ายังหลงเหลือในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงมีไม่ถึง 100 เชือก อย่างไรก็ตาม เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ได้จัดทำโครงการฟื้นฟูแหล่งอาหารช้างป่าตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าฯ มาตั้งแต่ปี 42 หวังป้องกันไม่ให้ช้างป่าออกหากินนอกเขต ทำลายพืชผลไม้ชาวบ้าน เสี่ยงถูกไล่ฆ่า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากกรณีเกิดเหตุ 3 ช้างป่า พ่อ แม่ ลูก ตกเหว ล้มอนาถ บริเวณ น้ำตกตาดหลุ บ้านน้ำทบ ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงนั้น ล่าสุด นายชัยณรงค์ ดูดดื่ม หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง กล่าวว่า เป็นเรื่องสุดวิสัย ไม่มีใครอยากให้เกิด ปัจจุบันช้างป่าในเขตรักษาพันธุ์ป่าภูหลวงมีอยู่ประมาณ 85-95 เชื่อก จะอยู่ในป่าลึกและรอบๆ แนวตะเข็บ ติดกับพื้นที่อำเภอภูหลวง อำเภอวังสะพุง และอำเภอภูเรือและอีกด้านหนึ่งที่ติดกับจังหวัดเพชรบูรณ์ เหตุการณ์ช้างตกเหว ครั้งสุดท้าย เกิดขึ้นเมื่อปี 2537
หลังเกิดเหตุก็ได้นำต้นสีเสียดแก่น จำนวนหลายร้อยต้นไปปลูกเพื่อเลี่ยงทางช้าง และได้ผล เป็นที่น่าพอใจ แต่ครั้งนี้ก็ได้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นอีก
สำหรับการดูแลรักษ์ช้างทุกเชือก ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงนั้น ปัจจุบัน มีการตั้งโครงการฟื้นฟูอาหารช้างป่าภูหลวงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งได้จัดตั้งเมื่อปี 2542 สำนักราชเลขาธิการโดย ท่านผู้หญิงมนัสนิตย์ วณิกกุล ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ฝ่ายบริหารงานทั่วไป มีหนังสือ ที่ รล 0010/1428 ลงวันที่ 9 เมษายน 2542 ถึงอธิบดีกรมป่าไม้ แจ้งว่า ด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชดำริ ให้ดำเนินการโครงการปลูกพืชอาหารช้าง ในพื้นที่ป่าธรรมชาติภายในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง และเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยป้องกันไม่ให้ช้างออกไปหากินนอกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งช้างจะออกไปทำความเสียหายให้กับพืชไร่พืชสวนไร่นาของชาวบ้านและเป็นสาเหตุให้ช้างภูหลวงถูกทำร้ายถึงกับเสียชีวิตได้
ดังนั้น เพื่อเป็นการสนองพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในอันที่จะแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าว จึงได้จัดโครงการฟื้นฟูอาหารช้างป่าภูหลวง อันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสนองพระราชดำริ และการเฉลิมพระเกียรติน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรที่ได้รับความเสียหายจากช้างป่าทำลายพืชไร่ และไม่ให้ช้างป่าถูกทำร้ายเสียชีวิตได้
นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มแหล่งอาหารและแหล่งน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของช้างป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ป้องกันไม่ให้ช้างป่าออกนอกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงและความเสียหายพืชไร่ของราษฎรที่ปลูกไว้ให้ได้รับความเดือดร้อน และเพื่อไม่ให้ช้างป่าถูกทำร้ายเสียชีวิต อีกทั้งยังสร้างจิตสำนึกให้ราษฎรมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ช้างป่ามิให้สูญพันธุ์และเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว
สำหรับพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินงาน ประกอบด้วย พื้นที่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า รวมพื้นที่โครงการประมาณ 476,000 ไร่ โครงการนี้มีระยะเวลาในการดำเนินงานตั้งแต่ปีงบประมาณ 2543-จนถึงปัจจุบัน
และขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ช้างป่าและสัตว์ป่าอื่นๆ มีแหล่งอาหาร แหล่งน้ำเพิ่มขึ้น และเพียงพอต่อความต้องการ แก้ปัญหาช้างป่าไม่ออกมาหากินนอกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง และทำความเสียหายให้กับพืช สวนไร่นาของราษฎรที่ปลูกไว้ได้ จัดทำแหล่งน้ำให้สัตว์ป่า โดยการจัดทำฝายชะลอความชุ่มชื่น (CHECK DAM) แบบต่างๆ จัดทำโป่งเทียมเพื่อเพิ่มเกลือแร่ให้กับสัตว์ป่า
ส่วนแผนการป้องกันช้างป่าออกหากินนอกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จากการที่ได้ศึกษาดูงานการดำเนินการ ป้องกันช้างป่าออกไปหากินในไร่สัปะรด ที่โครงการฯ กุยบุรี มีการใช้ลวดกระตุกไฟฟ้าซึ่งใช้ไฟแบตเตอรี่ ขนาด 12 โวลท์ นับว่าได้ผลระดับหนึ่ง จึงได้นำมาประยุกต์ใช้ที่โครงการฟื้นฟูอาหาร ช้างป่าภูหลวงฯโดยให้แนวลาดไฟฟ้าห่างจากพืชสวนพืชไร่ที่ราษฎรปลูกไว้ เพื่อตัดตอนระบบแนวคิดของช้างที่พยายามจะเข้าไปกินพืชอาหารที่อยู่ตรงหน้า ซึ่งการดำเนินแผนด้านการป้องกันทำควบคู่ไปกับการเพิ่มแหล่งน้ำแหล่งอาหารและโป่งเทียมในพื้นที่ป่าลึกให้มากขึ้น เพื่อให้ช้างเปลี่ยนเส้นทางหากินและลืมรสชาติของพืชเกษตร
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโครงการฟื้นฟูอาหารช้างป่าภูหลวงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีพื้นที่กว้างใหญ่ สภาพด้านนอกโดยรอบมีหมู่บ้านชุมชนล้อมรอบหลายหมู่บ้าน จึงเป็นการยากที่จะหลีกเลี่ยงปัญหาเกี่ยวกับชุมชน เนื่องจากราษฎรในพื้นที่ส่วนใหญ่ยังพึ่งพาอาศัยกับป่า โดยเก็บหาของป่าเพื่อการยังชีพ อีกทั้งยังมีการบุกรุกขยายพื้นที่ทำกินเพื่อ ปลูกพืชไร่ เช่น ลูกเดือยข้าวโพด มันสำปะหลัง ข้าว