xs
xsm
sm
md
lg

กลับลำเดินหน้าโรงไฟฟ้าแกลบอุบลฯ-นักวิชาการแนะหาทางแก้ปัญหาขัดแย้งระยะยาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่ห้องประชุมสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุบลราชธานี คณะทำงานชี้แจงข้อมูลและรับฟังความเห็นของประชาชนต่อกรณีขอใบอนุญาตตั้งโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล โดยใช้แกลบเป็นพลังงานของบริษัท บัวสมหมายไบโอแมส จำกัด
อุบลราชธานี - ประธานบริษัท บัวสมหมายไบโอแมส จำกัด ซึ่งยื่นขอสร้างโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวลใช้แกลบเป็นพลังงาน กลับลำอ้างไม่เคยคิดย้ายที่สร้าง แค่ไปถามความเห็นชาวบ้าน สุดท้ายคณะทำงานมีความเห็นจัดเวทีเผยแพร่ข้อมูล ก่อนใช้ชาวบ้านต้องอยู่กับมลพิษตัดสินใจสร้างหรือไม่ ด้านนักวิชาการชี้ประเทศไม่ขาดแคลนไฟฟ้าตามคำโฆษณาชวนเชื่อ แนะหาวิธีแก้ความขัดแย้งระยะยาวด้วย

วันนี้ (19 ส.ค.)ที่ห้องประชุมสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุบลราชธานี คณะทำงานชี้แจงข้อมูลและรับฟังความเห็นของประชาชน ต่อกรณีขอใบอนุญาตตั้งโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล โดยใช้แกลบเป็นพลังงานของบริษัท บัวสมหมายไบโอแมส จำกัด ประกอบด้วยตัวแทนโรงไฟฟ้า ตัวแทนชาวบ้าน นักวิชาการ และฝ่ายราชการ ร่วมพิจารณากรอบการเผยแพร่ข้อมูลผลกระทบและผลดีของการสร้างโรงไฟฟ้าแห่งนี้

แบ่งการจัดเวทีแสดงความเห็นและเผยแพร่ข้อมูลไว้ 2 เวที โดยเวทีแรกให้เผยแพร่ข้อมูลทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้าน

จากนั้นคณะทำงานจะรวบรวมข้อมูลศึกษาผลดีและผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพต่อประชาชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้ารวม 6 หมู่บ้าน ในตำบลท่าช้างและตำบลใกล้เคียงของอำเภอสว่างวีระวงศ์ เพื่อใช้เป็นข้อมูลเสนอให้ประชาชนตัดสินใจลงความเห็นจะให้สร้างโรงไฟฟ้าแห่งนี้หรือไม่ภายในเดือนพฤศจิกายนศกนี้

ระหว่างการประชุม ตัวแทนชาวบ้านเตรียมมอบช่อดอกไม้มอบให้นายสมหมาย สมทรัพย์ ประธานบริษัท บัวสมหมายไบโอแมส จำกัด เพราะเคยพบปะพูดคุยกับชาวบ้านเมื่อวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่าถ้าชาวบ้านไม่ต้องการโรงไฟฟ้า ยินดีจะย้ายไปสร้างในที่แห่งใหม่ ซึ่งนายสมหมายระบุว่า ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเดชอุดม

เมื่อมีการสอบถามในที่ประชุมวันนี้ นายสมหมายยังยืนยันว่า ต้องการยื่นเรื่องขอสร้างโรงไฟฟ้าที่หมู่บ้านคำสร้างไชยต่อไป ทำให้ชาวบ้านแสดงความไม่พอใจกล่าวหานายสมหมายพูดกลับไปกลับมาเชื่อถือไม่ได้

ขณะเดียวกัน บริษัท บัวสมหมายไบโอแมส จำกัด ได้ยื่นเอกสารขอปรับเปลี่ยนโครงสร้างเพิ่มเติมจากที่ได้ยื่นเรื่องเอาไว้ โดยเปลี่ยนเครื่องจักรใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าจาก 51,138 แรงม้า ลดลงเหลือเพียง 30,063 แรงม้า ทำให้ขนาดกำลังผลิตกระแสไฟฟ้าเดิมมีกำลังผลิตวันละ 9.9 เมกกะวัตต์ เหลือวันละ 9 เมกะวัตต์ การกำจัดปัญหาสิ่งแวดล้อมด้านน้ำทิ้งของโรงงานเดิมสร้างบ่อเก็บกักขนาดความจุ 200 ลูกบาศก์เมตร ปรับขนาดบ่อใช้เก็บกักใหญ่ขึ้นเป็น 22,400 ลูกบาศก์เมตร

ส่วนการกำจัดแกลบดำจากหม้อไอน้ำ เดิมใช้ระบบไซโคลนและม่านน้ำ รวมทั้งระบบไฟฟ้าสถิตย์ (EP) เปลี่ยนเป็นการกำจัดด้วยระบบไฟฟ้าสถิต (EP) เพียงอย่างเดียว พร้อมขอเพิ่มวิธีการลำเลียงและการเก็บรักษาแกลบ ซึ่งเป็นวัสดุใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า เดิมไม่เคยเสนอไว้ในแบบยื่นขอสร้างโรงไฟฟ้า แต่ครั้งนี้จะใช้วิธีลำเลียงแกลบด้วยสายพานมีรางเหล็กครอบบังกันฝุ่นฟุ้งกระจาย รวมทั้งสร้างอาคารใช้เก็บแกลบปิดมิดชิดขนาดความจุ 400,000 ลูกบาศก์เมตรด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า ระหว่างการประชุมตัวแทนนักวิชาการ คือ นายศุภกิจ นันทะวรการ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานไฟฟ้าทางเลือก มูลนิธินโยบายสุขภาวะ นำเสนอผลงานวิจัยของโรงไฟฟ้าที่ใช้แกลบเป็นพลังงาน โดยการศึกษาโรงไฟฟ้าชีวมวลใช้แกลบเป็นพลังงานพบว่า แม้มีระบบดักจับขี้เถ้าเบาได้มากถึงร้อยละ 99.05-06 แต่ก็มีขี้เถ้าเบาส่วนที่เหลืออีก 0.4% เมื่อคิดคำนวณจากปริมาณแกลบที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงเฉลี่ยวันละ 280 ตัน/วัน จะคงมีขี้เถ้าเบาหลงเหลือลอยอยู่ในอากาศถึงวันละ 25 ตัน

ขี้เถ้าเบาส่วนที่เหลือจะลอยอยู่ในอากาศทุกวันตลอดเวลา 10 เดือนใน 1 ปี เพราะโรงไฟฟ้าเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมง และหยุดซ่อมบำรุงปีละ 1-2 เดือนเท่านั้น ปัญหาฝุ่นละอองจากขี้เถ้าเบาที่ถูกปล่อยออกมาจากโรงงาน ทำให้โรงเรียนใน จ.สุรินทร์ ต้องขึงตาข่ายกันฝุ่นละอองปลิวเข้าไปในโรงเรียน

ทั้งนี้ ยังพบปัญหาการเปลี่ยนแปลงทิศทางลอยของขี้เถ้าเบา ตามกระแสลมในแต่ละฤดู สำหรับอายุการใช้งานของโรงไฟฟ้าประเภทนี้ มีอายุใช้งานนานถึง 25 ปี

นายศุภกิจกล่าวต่อว่า ยังต้องคิดเรื่องปัญหาแหล่งน้ำใช้ หรือบ่อน้ำดิบที่ป้อนน้ำใช้เข้าสู่โรงงานจะเอาน้ำมาใช้อย่างไร และมีการสำรองน้ำไว้ให้ประชาชนใช้ด้วยหรือไม่ ส่วนมลภาวะเป็นพิษจากเสียง จากการศึกษาโรงไฟฟ้าที่ จ.ชัยนาท พบว่าระหว่างการเดินเครื่องจักรผลิตกระแสไฟฟ้ามีเสียงดังมาก ส่วน จ.ร้อยเอ็ด ขี้เถ้าเบาส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางเกษตรกรรม และชาวบ้านต้องกางมุ่งกินข้าว อนาคตจังหวัดอุบลราชธานี จะมีการยื่นขอสร้างโรงไฟฟ้า เพื่อขายกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบอีก 10 แห่ง จึงขอให้คณะทำงานช่วยกันคิดสร้างกระบวนเรียนรู้และหาทางออกไว้ให้ชุมชนด้วย

นายศุภกิจยังย้ำว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณไฟฟ้าสำรองใช้ในประเทศอย่างเหลือเฟือย ไม่ได้ขาดแคลนเหมือนกับที่กล่าวอ้างกันอยู่ และไฟฟ้าส่วนใหญ่ของประเทศถูกใช้โดยแหล่งธุรกิจที่อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จากการสำรวจพบว่า ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ใช้ปริมาณไฟฟ้าเท่ากับคนจังหวัดอำนาจเจริญใช้กันทั้งเดือนด้วย


นายศุภกิจ นันทะวรการ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานไฟฟ้าทางเลือก มูลนิธินโยบายสุขภาวะ
กำลังโหลดความคิดเห็น