xs
xsm
sm
md
lg

ชร.เตรียมจัดใหญ่เทศกาล “ตานก๋วยสลาก 52” หวังหนุนท่องเที่ยวอีกทาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย - เมืองพ่อขุนฯ มุ่งส่งเสริมประเพณี “ตานก๋วยสลากภัต” เต็มที่ หวังช่วยหนุนท่องเที่ยวอีกทาง พร้อมประยุกต์เพิ่มก๋วยเล็ก-ใหญ่

รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่าวันนี้ (18 ส.ค.) ที่ห้องเชียงรุ้ง โรงแรมเวียงอินทร์ อ.เมือง จ.เชียงราย นายสุเมธ แสงนิ่มนวล ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ร่วมกับนายมงคล สิทธิหล่อ ประธานสภาวัฒนธรรม จ.เชียงราย นายวิมล เพชรภา ผู้ทรงคุณวุฒิประเพณีท้องถิ่นเชียงราย ร่วมกันแถลงข่าวการจัดงาน “ประเพณีตานก๋วยสลากภัต” จ.เชียงราย ประจำปี 2552 หลังจากที่มีการกำหนดงานดังกล่าวในวันที่ 30 ส.ค.นี้ ณ วัดพระสิงห์ (พระอารามหลวง) ต.เวียง อ.เมือง จ.เชียงราย

นายสุเมธกล่าวว่า การส่งเสริมประเพณีตานก๋วยสลากภัตดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายของจังหวัดในการมุ่งเน้นสืบสานประเพณีอันดีงามของล้านนา รวมทั้งช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวไปพร้อมๆ กันด้วย ซึ่งแนวทางในการจัดงานครั้งนี้ คือ จัดอย่างเรียบง่ายเพื่อให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน แต่ก็จะทำให้มีความยิ่งใหญ่โดยส่งเสริมให้ผู้คนไปร่วมทุ่มเทกายใจกับการจัดงานมากๆ เชื่อว่าประเพณีนี้จะสืบสานต่อไปอีกยาวนานและเป็นประโยชน์ต่อเชียงรายต่อไป

นายมงคล สิทธิหล่อ ประธานสภาวัฒนธรรม จ.เชียงราย กล่าวว่าโดยทั่วไปประเพณีทำบุญสลากภัตจะเริ่มในวันเพ็ญเดือน 12 เหนือ (เดือน 12 ของไทยราวเดือน ส.ค.-ก.ย.ของทุกปี) วัตถุประสงค์ที่มีการทำบุญดังกล่าวก็เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพชนที่ล่วงลับไปแล้วซึ่งไม่เพียงแต่ญาติเท่านั้นอาจจะเป็นเพื่อนสนิทมิตร สัตว์เลี้ยง ภูตผี วิญญาน ก็ได้ สาเหตุที่จัดงานในช่วงนี้คงมีที่มาจากการที่ช่วงดังกล่าวชาวบ้านได้ทำไร่ทำนากันเสร็จแล้วจึงหยุดพักผ่อน ส่วนพระสงฆ์ก็อยู่ในช่วงการจำพรรษา รวมทั้งเป็นฤดูกาลที่ผลไม้ต่างๆ กำลังให้ผลผลิตดี จึงเหมาะสมในการทำบุญโดยเฉพาะต่อคนยากจนที่ขัดสนเรื่องสังฆทาน

นายมงคลกล่าวอีกว่า พิธีกรรมคือเชิญชวนให้ส่วนราชการทั้งระดับจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาครัฐและเอกชน รวมทั้งประชาชนและนักท่องเที่ยวทั่วไป ได้ร่วมตานก๋วยสลากในงานดังกล่าว โดยจัดขบวนแห่ “สลากหลวง” จากองค์กรต่างๆ ดังกล่าว ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกและประยุกต์จากประเพณีดั้งเดิมเพราะในอดีตการตานก๋วยสลากภัตแปลเป็นภาษาไทยก็คือ “การให้ทานด้วยตะกร้าที่มีสลาก” คือ การนำเครื่องสังฆทานใส่ในตะกร้าหรือก๋วยแล้วติดสลากนำไปรวมกันไว้หลายๆ ตะกร้า เพื่อให้พระสงฆ์สามเณรไปจับสลากว่าจะได้รับของบุคคลใด แต่ครั้งนี้จะมีสลากหลวงซึ่งพระธรรมราชานุวัตร เจ้าคณะภาค 6 ได้ให้ดำเนินการในปีนี้

ประธานสภาวัฒนธรรม จ.เชียงราย กล่าวด้วยว่า ขบวนแห่จะจัดอย่างยิ่งใหญ่โดยขบวนจาก 300 หน่วยงานจะแห่จากจุดต่างๆ แห่ไปยังวัดพระสิงฆ์โดยใช้การแห่ดั้งเดิมคือไม่ใช่รถแต่ใช้การหาบแทน ส่วนพระสงฆ์ก็จะรับสลากร่วมกันภายในวัดกว่า 108 รูป คาดว่าจะมีพุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวไปร่วมทำบุญกว่า 10,000 คน มีการประกวดรางวัล “ช่อฟ้า” แก่ขบวนต่างๆ การประกวดแต่งกายพื้นเมือง ประกวดการตกแต่งก๋วยสลากหลวง ก๋วยสลากที่มีความคิดสร้างสรรค์ การจัดการแสดงหลากหลาย เช่น จ๊อย ซอ ฟ้อนพื้นบ้าน การละเล่นพื้นบ้าน ฯลฯ

รวมทั้งจำหน่ายสินค้าหัตถกรรมและอาหารพื้นเมืองบริเวณรอบๆ หอประชุมเม็งนุสรณ์ติดกับวัดพระสิงห์ เป็นต้น ส่วนการตานสลากภัตก็ดำเนินไปตามประเพณี คือ ก๋วยสลากเล็กก็จะมีการให้พระสงฆ์และสามเณรจับสลากกันตามปกติ และถวายทานไปพร้อมๆ กับสลากหลวงต่อไป

ด้าน นายวิมล เพชรภา ผู้ทรงคุณวุฒิประเพณีท้องถิ่นเชียงราย กล่าวว่า ประเพณีการตานก๋วยสลากภัตมีมาตั้งแต่โบราณแต่ไม่มีใครทราบว่ามีมานานตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่มีเฉพาะในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ และพอมีประวัติเรื่องเล่าถึงความเป็นมาที่พอจะรวบรวมได้ว่าในสมัยพุทธกาลนางวิสขา มหาบุบาสิกา ได้นำภัตตาหารไปถวายพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกแต่เนื่องจากจำนวนพระสงฆ์มีมากแต่ภัตตาหารที่นำไปถวายมีจำกัด พระพุทธเจ้าจึงตรัสให้ใช้วิธีการจับสลากแทน

อีกเรื่องเล่าคือมีนางยักษิณีไปอาละวาดจะจับลูกเศรษฐีคนหนึ่งกิน แต่ลูกเศรษฐีอุ้มลูกหนีไปพึ่งพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงเทศนาจนนางยักษิณียอมเป็นมิตรแต่ขอให้ลูกเศรษฐกิจเลี้ยงดูงานตลอดชีวิต จึงเป็นที่มาของการทำก๋วยสลากภายในใส่อาหารต่างๆ เพื่อนำไปให้กับยักษิณีเป็นประจำทุกวัน

กำลังโหลดความคิดเห็น