ศูนย์ข่าวภาคเหนือ - รุมต้านห้างใหญ่-ทุนยักษ์เปิดสาขารุกตลาดค้าปลีกรายย่อยท้องถิ่นไม่หยุด เผยโชวห่วยบางระกำ รวมตัวต้าน “โลตัส” บุกตีกินถึงชนบท ขณะที่กลุ่ม “นครสวรรค์ฟอรัม” จี้ 2 องค์กรสำคัญตอบคำถามเปิดทาง “คาร์ฟูร์” เปิดสาขาเพิ่มปากน้ำโพ พร้อมเปิดประเด็นมูลนิธิปากน้ำโพประชานุเคราะห์ ไฟเขียวห้างใหญ่เช่าที่แลกผลประโยชน์แบบมีเงื่อนงำ พร้อมตั้งสารพัดคำถามเทศบาลฯหนุนทุนค้าปลีกยักษ์ผิดระเบียบหรือไม่ ?
ความเคลื่อนไหวของโชวห่วย หรือกลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกรายย่อยในภาคเหนือตอนล่าง ที่กำลังก่อตัวขึ้นเพื่อต่อต้านห้างใหญ่-ทุนยักษ์ ไม่ให้เข้ามาเปิดสาขาในพื้นที่ และมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงขึ้น เริ่มปรากฏให้เห็นอีก 2 พื้นที่สำคัญ คือ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก และที่เทศบาลนครนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์
กรณีของ อ.บางระกำ โชวห่วยย่านตลาดสดบางระกำ ได้รวมตัวกันต่อต้านห้างสรรพสินค้าเทสโก้ โลตัส ไม่ให้มาเป็น “Lotus Express” ในพื้นที่ เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 52 โดยรวมกลุ่มกันเดินทางไปยื่นหนังสือ พร้อมแนบรายชื่อ 162 ผู้ค้าปลีกรายย่อยในพื้นที่ คัดค้านห้างใหญ่-ทุนยักษ์ต่อผู้ว่าฯพิษณุโลก ผ่านนายล้ำ เลิศศรีมงคล นายอำเภอบางระกำ
โชวห่วยบางระกำ ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า วันนี้เศรษฐกิจตกต่ำอยู่แล้ว ค้าขายไม่ได้ ถ้าหากโลตัสมา พวกเขาตายกันหมดแน่ คงอยู่กันไม่ได้ ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก รับทราบด้วย และได้โปรดให้ความกรุณาช่วยเป็นสื่อกลางประสานกับทางห้างสรรพสินค้าโลตัส ขอให้ระงับการตั้งห้างสรรพสินค้าในเขต อ.บางระกำ เพราะพ่อค้าแม่ค้า สู้ทุนเขาไม่ได้จริงๆ
พวกเขาจะเริ่มการต่อต้านก่อนที่เทสโก้ โลตัสจะเริ่มดำเนินการ มิฉะนั้นจะอยู่ไม่ได้ เห็นได้จากตลาดพิจิตร ทันทีที่โลตัสเปิด โชวห่วยก็ปิดกิจการไปแล้ว ไม่เชื่อลองไปดู วันนี้ตลาดบางระกำ ก็ไม่มีใครจะซื้ออยู่แล้ว หันไปซื้อของจากห้างใหญ่ในเมือง ทั้งโลตัส บิ๊กซี แม็คโคร เพื่อจำหน่ายในตลาดอีกทีหนึ่ง
“หากโลตัสเอ็กซ์เพรสมาเปิด เราตายแน่ ต้องเลิกทำมาหากิน”
รุมต้านคาร์ฟูร์ใช้ที่ดินมูลนิธิปากน้ำโพฯ
ส่วนกระแสต่อต้านห้างใหญ่ทุนยักษ์ที่ปากน้ำโพ-นครสวรรค์ เริ่มต้นจากช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ที่เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในพื้นที่ เรื่องการสร้างห้างฯคาร์ฟูร์ บนที่ดินอันเป็นทรัพย์สินของมูลนิธิ ปากน้ำโพ ประชานุเคราะห์ ที่ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของ โรงเรียนพาณิชยการวิริยาลัยนครสวรรค์ ที่เช่าพื้นที่-อาคารของมูลนิธิฯ เปิดโรงเรียนมาหลายปีแล้ว และจะหมดอายุตามสัญญาในวันที่ 25 ธันวาคม 52
ล่าสุด “กลุ่มนครสวรรค์ฟอรัม” องค์กรภาคประชาสังคม ที่ก่อตัวขึ้นมาตั้งแต่ปี 2540 ได้ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านการนำที่ดินของมูลนิธิฯ ซึ่งใช้เป็นที่ตั้งของสถาบันการศึกษามานานหลายสิบปี ไปให้ห้างใหญ่-ทุนยักษ์ เปิดสาขา อันจะก่อเกิดผลกระทบต่อธุรกิจค้าปลีกรายย่อยในพื้นที่อย่างมหาศาลด้วย
กลุ่มนครสวรรค์ฟอรัม ได้ทำจดหมายเปิดผนึก ออกแจกจ่ายให้แก่ชาวบ้าน-ประชาคมปากน้ำโพ และเรียกร้องให้มูลนิธิปากน้ำโพประชานุเคราะห์ ออกมาชี้แจงข้อมูลการนำที่ดินมูลนิธิฯให้ คาร์ฟูร์ หรือบริษัท เรียล ทูเก็ตเธอร์ จำกัด เช่าเพื่อเปิดสาขาดังกล่าว
จับพิรุธมูลนิธิปากน้ำโพฯ
ให้คาร์ฟูร์” เช่าที่เปิดห้าง
จดหมายเปิดผนึกดังกล่าวระบุว่า ในการประชุมสามัญครั้งที่ 4 สมัยที่ 25 ของมูลนิธิฯ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2552 ณ ห้องประชุมมูลนิธิฯ ซึ่งเป็นการประชุมเพื่อลงมติว่า จะใช้ที่ดินอันเป็นสมบัติของมูลนิธิฯ ก่อให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร และในที่สุด ที่ประชุมก็มีมติเป็นเอกฉันท์ เลือกข้อเสนอของคาร์ฟูร์ ในการเป็นผู้ขอเช่าที่ดินของมูลนิธิฯ จำนวน 16 ไร่ โดยพิจารณาจากมูลค่าสูงสุดที่มูลนิธิฯจะได้รับในระยะเวลา 30 ปี
การประชุมครั้งนั้นมีคณะบุคคลเข้าร่วมประชุมจำนวน 50 ท่าน มีการระบุตำแหน่งในรายงานการประชุม เพียง 2 ท่าน คือ นายไพโรจน์ อิทธิชัยเจริญ ประธานที่ประชุม และนายวีระโชติ โสภาวตานนท์ เลขาธิการที่ประชุม ที่เหลือไม่มีการระบุตำแหน่ง
เมื่อตรวจสอบกับรายละเอียดในใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนแต่งตั้งกรรมการมูลนิธิฯ ออกให้เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2551 โดยนายวิลาศ ภู่ศิลป์ ปลัดจังหวัด รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัด แล้ว พบว่ากรรมการมูลนิธิฯ ที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มีจำนวน 15 ท่าน และในจำนวนนี้ มีกรรมการจดทะเบียนเข้าประชุมในวันนั้น เพียง 5 ท่านเท่านั้น กรรมการจดทะเบียนอีก 10 ท่านไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย
นอกจากนี้ เมื่อได้ศึกษาข้อบังคับของมูลนิธิฯ หมวดที่ 8 ว่าด้วยการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิฯ ข้อที่ 26 ระบุไว้ว่า คณะกรรมการมูลนิธิ ฯ จะต้องจัดให้มีการประชุมสามัญประจำปีทุกๆ ปี ภายในเดือนธันวาคม และต้องมีกรรมการมูลนิธิฯเข้าประชุมอย่างน้อยกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม
คำถามจึงมีว่า เมื่อคณะกรรมการมูลนิธิฯที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย เข้าประชุมเพียง 5 ท่าน ไม่ได้เข้าประชุม 10 ท่าน การประชุมในวันนั้นถือว่าครบองค์ประชุมตามข้อบังคับหรือไม่ ?
ทั้งนี้ หากกรรมการจดทะเบียน เข้าประชุมไม่ครบองค์ประชุมการประชุมครั้งนั้น และมติใดๆ จากการประชุมจะถือเป็นโมฆะหรือไม่ ? มติของที่ประชุมมูลนิธิ ฯขัดกับวัตถุประสงค์ของมูลนิธิฯ ที่มุ่งให้การศึกษาแก่เยาวชน บำรุงพุทธศาสนา อุปการะผู้ยากจน ไม่เกี่ยวกับการเมือง หรือไม่ ?
มติที่ประชุมมูลนิธิฯ ได้ให้สิทธิแก่คาร์ฟูร์ เช่าพื้นที่ 16 ไร่ อันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนพาณิชยการวิริยาลัยในปัจจุบัน และต้องรื้อทำลาย อาคาร สิ่งปลูกสร้าง ทั้งอาคารเรียน โรงอาหาร อาคารฝึกงาน ห้องสมุด ร้านค้า ซุ้ม ศาลาและสนามกีฬาของวิริยาลัย รวม 14 อาคารออกทั้งหมด
ขณะที่ประธานมูลนิธิฯ ชี้แจงว่า มูลค่าของอาคารซึ่งก่อสร้างเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว ประมาณ 4 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งหมายถึงอาคารหน้าอาคารเดียว ที่มูลนิธิฯเป็นผู้สร้าง แต่กลุ่มอาคารอีก 13 อาคารซึ่งโรงเรียนพาณิชยการวิริยาลัย เป็นผู้สร้างในระหว่างการเช่า และจะตกเป็นของมูลนิธิฯเมื่อหมดสัญญา ซึ่งมีมูลค่าหลายสิบล้านบาท ทั้งที่อาคารทั้งหมดยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ สามารถใช้ประโยชน์ได้อีกยาวนาน แต่มูลนิธิฯไม่ได้นำมูลค่าที่ต้องถูกรื้อถอนมาหักออกจากมูลค่าตอบแทนจากคาร์ฟูร์ ในระยะเวลาเช่า 30 ปี เป็นเงิน 106 ล้านบาท
ทั้ง ๆ ที่ โรงเรียนพาณิชยการวิริยาลัย ได้เช่าพื้นที่และอาคารของมูลนิธิฯมาหลายสิบปี สร้างคุณประโยชน์แก่เมืองนครสวรรค์มายาวนาน ได้ยื่นความประสงค์ขอเช่าต่อไปอีก 10 ปี ด้วยค่าเช่า รวม 5 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมี บริษัท เค วี พี ซี จำกัด ได้ยื่นขอเช่าอาคารและที่ดินเดิมที่วิริยาลัยเช่าอยู่เป็นเวลา 10 ปี เสนอค่าตอบแทนโดยรวม 10 ล้านบาท โดยจะใช้เป็นสถานศึกษา (โรงเรียนนานาชาติ) เช่นกัน กลับไม่ได้รับการเหลียวแลจากกรรมการมูลนิธิฯ เพราะไม่เข้าเงื่อนไขของมูลนิธิฯ ที่ต้องการค่าหน้าดิน 50 ล้านบาท และค่าเช่าไม่ต่ำกว่าปีละ 1 ล้านบาท ในระยะเวลา 30 ปี
ไม่เพียงเท่านั้น กลุ่มนครสวรรค์ฟอรัม ยังระบุถึงเงื่อนงำ MOU ระหว่างมูลนิธิฯ กับคาร์ฟูร์ ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 52 ที่ระบุวงเงินค่าเช่าทั้งหมด 82 ล้านบาท และมีการแจ้งในที่ประชุมว่า เงินส่วนเกินนี้ เป็นค่าภาษี ค่านายหน้า และค่าดำเนินการ ซึ่งต้องจ่ายคืนให้คาร์ฟูร์ โดยมูลนิธิฯ ยังคงได้รับเงินจำนวน 50 ล้านบาทตามที่ขอ
ในรายงานการประชุมยังระบุด้วยว่า ค่านายหน้ามีมูลค่า 5.6 ล้านบาท หักภาษีแล้วยังมีส่วนต่างอีก 23.9 ล้านบาท ซึ่งแจ้งในรายงานว่า คาร์ฟูร์จะเอาไว้ใช้จ่ายในการดำเนินการเพื่อการเปิดห้าง จึงเกิดคำถามคือ
ทำไมมูลนิธิฯ ยอมเซ็นสัญญารับเงิน 82 ล้านบาท ในเมื่อรับจริง 50 ล้านบาท ? ส่วนต่างที่เหลืออยู่ในมือใคร ?
ขณะเดียวกันกลุ่มนครสวรรค์ฟอรัม ยังทำหนังสือคัดค้านการออกข้อบัญญัติ เพื่อสร้างห้างฯคาร์ฟูร์ ในพื้นที่ของเทศบาลนครนครสวรรค์ เสนอต่อนายกเทศมนตรี ส.ท. และเจ้าหน้าที่เทศบาลนครนครสวรรค์ทุกคน เพราะถือว่า การเปิดสาขานครสวรรค์ของคาร์ฟูร์ อาจขัดหรือแย้งต่อข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
พิสูจน์สิทธิ์ “คาร์ฟูร์” ก่อนเปิดสาขาปากน้ำโพ
กลุ่มนครสวรรค์ฟอรัม ได้ตั้งข้อสังเกตการเข้ามาเปิดสาขาของคาร์ฟูร์ในครั้งนี้ว่า อาจขัดแย้งต่อกฎหมาย กฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องหลายประเด็นคือ
- กระทรวงมหาดไทย ได้ออกกฎกระทรวงเมื่อปี พ.ศ.2547 สรุปว่า ภายในบริเวณที่ 2 ของเขตอำเภอเมืองนครสวรรค์ ห้ามบุคคลใดก่อสร้าง หรือดัดแปลงอาคารดังต่อไปนี้
(ก) อาคารพาณิชยกรรมประเภทค้าปลีก ค้าส่ง ที่มีพื้นที่ใช้สอยอาคารรวมกันเพื่อประกอบกิจการในอาคารหลังเดียวหรือหลายหลังเกิน 1,000 ตารางเมตร
- การก่อสร้างห้างสรรพสินค้าคาร์ฟูร์ มีเนื้อที่ 16 ไร่ พื้นที่ 8,000-10,000 ตารางเมตร ย่อมขัดหรือแย้งกับกฎกระทรวง
(ข) 8 อาคารที่มีความสูงเกิน 10 เมตร ต้องมีระยะห่างจากแนวเขตที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งอาคารศูนย์ราชการหลักของจังหวัดหรืออำเภอ ศาสนสถาน โบราณสถาน หรือสถานศึกษาไม่น้อยกว่า 200 เมตร โดยวัดระยะจากขอบนอกสุดของอาคารที่ขออนุญาตถึงแนวเขตที่ดินของสถานที่ดังกล่าว
- การก่อสร้างอาคารห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ย่อมคาดเดาได้ว่าจะต้องสูงเกิน 10 เมตร และเป็นไปไม่ได้ที่จะมีระยะห่างจากโรงเรียนประชานุเคราะห์ที่อยู่ในบริเวณเดียวกันเกิน 200 เมตร
ตามข้อมูลระบุว่า จะต้องรื้อทำลายอาคารของวิริยาลัยทั้งหมด รั้วของวิริยาลัยในปัจจุบัน ห่างจากอาคารเรียนของโรงเรียนประชานุเคราะห์เพียง 30 เมตร
(ข) 9 มีที่จอดรถยนต์ไม่น้อยกว่า 1 คันต่อพื้นที่อาคาร 40 ตารางเมตร
ในกรณีคาร์ฟูร์ เช่าพื้นที่ 16 ไร่ คิดเป็นพื้นที่ 256,000 ตารางเมตร ต้องมีที่จอดรถยนต์อย่างน้อย 640 คัน ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ (ยกเว้นการสร้างอาคารสูงหลายชั้นเป็นที่จอดรถ)
กรณีที่อาจมีการกล่าวอ้างว่า มีข้อยกเว้นในมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร ที่เทศบาลฯสามารถออกข้อบัญญัติท้องถิ่น ขัดหรือแย้งกับกฎกระทรวงดังกล่าวเนื่องจากมีความจำเป็นหรือมีเหตุผลพิเศษเฉพาะท้องถิ่น ถ้าท่านใช้ พ.ร.บ. นี้
ผู้บริหารเทศบาลนครนครสวรรค์ ต้องตอบให้ได้ว่า ใครเป็นผู้ร้องขอให้ออกข้อบัญญัติ ซึ่งขัดหรือแย้งกับกฎกระทรวง ด้วยเหตุผลใด?
การมีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ในพื้นที่ที่มีกฎหมายกำหนดห้ามแล้วนั้นมีความจำเป็นอย่างไร หรือมีเหตุผลพิเศษเฉพาะท้องถิ่นอย่างไร อะไรคือเหตุผลและความจำเป็นพิเศษ
การรับฟังความคิดเห็นที่เทศบาลฯได้ดำเนินการไปแล้ว เมื่อวันที่ 9-10 มิถุนายน 52 ได้ดำเนินการครบถ้วน ตรงตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 หรือไม่?
กลุ่มนครสวรรค์ฟอรัม ยังเรียกร้องต่อเทศบาลฯว่า หากยังเห็นความจำเป็น และเหตุผลพิเศษที่จะต้องออกข้อบัญญัติดังกล่าว ขอให้ทำตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ในข้อ 9 (2) อย่างเคร่งครัด เช่น จัดให้มีการประชาพิจารณ์ การอภิปรายสาธารณะ การประชุมเชิงปฏิบัติการ การประชุมตัวแทนของกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้ส่วนเสีย