xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจอีสานไตรมาส 2 ขยายตัวจากไตรมาสก่อน - เหตุภาคอุตฯผลิต/บริโภคเอกชนเริ่มขยายตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เวทีแถลงข่าวเศรษฐกิจครั้งที่ 3/2552 จัดขึ้น ณ สถานสวัสดสงเคราะห์ ธปท.สภอ.
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ธปท.อีสาน แถลงภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 2 หดตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสแรก เหตุภาคอุตสาหกรรมและการบริโภคเอกชนขยายตัว ทั้งการลงทุนเอกชนเริ่มส่งสัญญาณที่ดี คาดว่าภาวะเศรษฐกิจอีสานไตรมาสที่ 3 หดตัวลดลง จากปัจจัยการใช้จ่ายเอกชนเพิ่มขึ้น ทั้งแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ จับตาผลการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในเวทีโลก สถานการณ์การเมือง และการแพร่ระบาดหวัด 2009 ล้วนกระทบต่อเศรษฐกิจอีสาน

วันนี้ (4 ส.ค.) ที่ สถานสวัสดิสงเคราะห์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดแถลงข่าวเศรษฐกิจครั้งที่ 3/2552 โดยมีนายปราณีต โชติกีรติเวช ผู้อำนวยการ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท.สภอ.) พร้อมด้วยผู้บริหารส่วนงานต่างๆ รวมแถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจ

นายปราณีต โชติกีรติเวช ผู้อำนวยการ ผู้อำนวยการ ธปท.สภอ.เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือไตรมาสที่ 2 ปี 2552 หดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกปีนี้ ตามการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการบริโภคของประชาชน ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้นจากตัวเลขติดลบน้อยลง

ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนยังขยายตัวร้อยละ 4.6 ดีกว่าไตรมาสที่แล้วที่หดตัวร้อยละ 4.0 ตามการผลิตน้ำตาลทรายขาวที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาลภายหลังปิดหีบ และการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เพิ่มขึ้นตามการสต็อกสินค้าก่อนมีการปรับอัตราภาษี ขณะที่อุตสาหกรรมอื่นๆ เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น โดยอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมผลิตแป้งมันสำปะหลัง เริ่มมีคำสั่งซื้อล่วงหน้ามากขึ้น

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.4 ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน ที่ขยายตัวร้อยละ 2.2 ตามการจับจ่ายเพื่อซื้อสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และสินค้าคงทนที่เพิ่มขึ้น โดยจะเห็นได้ว่า ยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสแรก

ส่วนการลงทุนของภาคเอกชน แม้ว่าจะหดตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่ก็เริ่มปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน สะท้อนได้จากพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้าง โดยเฉพาะการก่อสร้างเพื่อการพาณิชยกรรม ขณะที่ทุนจดทะเบียนธุรกิจ เริ่มติดลบน้อยลง

อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้เศรษฐกิจหลายตัว ยังไม่มีสัญญาณการปรับตัวที่ดีขึ้น โดยจะเห็นได้ว่า รายได้ของเกษตรกรหดตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 18.2 และหดตัวมากขึ้นจากไตรมาสแรกที่ติดลบร้อยละ 7.0 เนื่องจากการลดลงของราคาหัวมันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และข้าว แม้รายได้เกษตรกรปีนี้จะลดลง แต่ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี เนื่องจากสินค้าเกษตรในปีก่อนมีฐานราคาสูงมากเป็นประวัติการณ์

สำหรับการใช้จ่ายของภาครัฐ ขยายตัวร้อยละ 8.1 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอตัวจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 16.5 เนื่องจากมีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณในไตรมาสที่แล้ว แต่มีแนวโน้มที่จะขยายตัวมากขึ้นตามการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐในระยะต่อไป

ส่วนสินเชื่อขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่หดตัวจากไตรมาสที่แล้ว เนื่องจากธนาคารพาณิชย์เพิ่มความระมัดระวังในการให้สินเชื่อ

ผู้อำนวยการ ธปท.สภอ.เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจภาคอีสานในไตรมาสต่อไปว่า คาดว่าภาวะเศรษฐกิจไตรมาสที่ 3 จะยังหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่จะหดตัวลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 2 ตามการใช้จ่ายของประชาชนที่เพิ่มขึ้น และการลงทุนของผู้ประกอบการที่เริ่มติดลบน้อยลง เนื่องจากความเชื่อมั่นที่มากขึ้น และมีแรงหนุนจากการเร่งเบิกจ่ายของภาครัฐก่อนปิดงบประมาณประจำปี 2552

โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมก็เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นจากคำสั่งซื้อที่ทยอยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสหากรรมแปรรูปมันสำปะหลัง จะส่งผลให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ยังเป็นความเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ ผลการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในเวทีโลกจะบรรลุวัตถุประสงค์ได้มากน้อยเพียงใด มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐจะส่งผลเป็นวงกว้างหรือไม่ สถานการณ์ทางการเมืองจะคลี่คลายในทางที่ดีขึ้นระดับใดและการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จะควบคุมได้รวดเร็วแค่ไหน ล้วนมีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจภาคอีสานและต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

นายประณีต  โชติกีรติเวช ผู้อำนวยการ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท.สภอ.)
กำลังโหลดความคิดเห็น