xs
xsm
sm
md
lg

ปิดถนนมิตรภาพเบรก ผวจ.อุดรฯ รับใบสั่งปักหมุดเหมืองแร่โปแตซ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อุดรธานี - กลุ่มอนุรักษ์อุดรธานีปิดถนนมิตรภาพ ยื่นคำขาดให้ศึกษาผลกระทบภาพเชิงยุทธศาสตร์ตามมติ ครม.ปี 49 จี้ยุติบทบาท กรรมการชุด สมพร ใช้บางยาง หวั่นใช้เป็นเครื่องมือลงปักหมุดเขตเหมืองโปแตซ

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 23 ก.ค.กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เข้าพบและเจรจากับ นายอำนาจ ผการัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เพื่อเรียกร้องให้ยติบทบาทกรรมการแก้ไขปัญหาการดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตซ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งมี นายสมพร ใช้บางยาง ประธาน ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหา และให้ความรู้การดำเนินการโครงการเหมืองแร่โปแตซ จังหวัดอุดรธานี (ลงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2552)

แม้กลุ่มอนุรักษ์จะได้ยื่นหนังสือคัดค้านไปยัง นายสมพร และกระทรวงอุตสาหกรรมด้วยก็ตาม โดยได้มีการแต่ตั้งอนุกรรมการ ที่ประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการทุกอำเภอในจังหวัดอุดรธานี ให้มีอำนาจหน้าที่จัดการประชุมชี้แจงข้อมูลโครงการ และกระบวนการขออนุญาตประทานบัตร ให้กับประชาชนในจังหวัดอุดรธานี โดยมอบหมายให้ นายอำนาจ ผการัตน์ เป็นประธานอนุกรรมการดังกล่าว แต่การเจรจาเมื่อวานนี้ล้มเหลว เมื่อ นายอำนาจ ผการัตน์ ยืนกรานจะดำเนินการประชุมต่อไป เพราะเป็นคำสั่งของทางราชการตนต้องปฏิบัติตามไม่อาจละเว้นได้ เป็นเหตุให้กลุ่มอนุรักษ์ไม่พอใจเป็นอย่างยิ่งและเดินออกจากที่ประชุม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (24 ก.ค.) ตั้งแต่เช้าบริเวณศาลากลางจังหวัดอุดรธานี ได้มีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้ควบคุมสถานการณ์ เพราะคาดว่ากลุ่มอนุรักษ์จะเข้ามาชุมนุมประท้วงการประชุมของอนุกรรมการดังกล่าว แต่เมื่อเวลาตั้งแต่ประมาณ 08.00 น.สมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ฯประมาณ 500 คน ก็ทยอยกันได้เดินทางมารวมตัวกันที่บริเวณถนนมิตรภาพสายอุดรฯ-ขอนแก่น สามแยกเข้าสู่ อ.ประจักษ์ศิลปาคม พื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตซอุดรธานี

จนกระทั่งเวลาประมาณ 09.00 น.กลุ่มผู้ชุมนุมจึงได้ค่อยๆ เคลื่อนขบวนเข้ายึดปิดถนนมิตรภาพขาออกจากจังหวัดอุดรธานีไว้ได้ 1 ช่องทางจารจร ต่อมาได้มีการระดมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.เมือง และ สภ.ประจักษ์ศิปาคม กว่า 60 นาย รุดออกมาควบคุมสถานการณ์ไว้ ขณะที่บริเวณศาลากลางจังหวัดก็ได้เริ่มดำเนินการการประชุม กลุ่มอนุรักษ์อุดรธานีพยายามที่จะปิดถนนเพิ่มอีกหนึ่งช่องทาง ทำให้เกิดเหตุชลมุนเล็กน้อยเมื่อผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจปะทะกันแต่ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด

นางมณี บุญรอด รองประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่าการที่ต้องชุมนุมปิดถนนในวันนี้ เพราะเกิดแรงกดดันทางการเมือง และบริษัทที่เร่งรัดให้เกิดการปักหมุดเขตเหมืองแร่ให้ได้ และการประชุมของอนุกรรมการวางแผนลงพื้นที่ชี้แจงโครงการเหมืองแร่โปแตซ ทั่วทั้งจังหวัดอุดรฯ ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้ง ความรุนแรงในพื้นที่ที่อีกครั้ง พร้อมยืนยันข้อเสนอเดิม คือ ให้มีการศึกษาผลกระทบในภาพรวม หรือการประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ตามที่ได้มีมติคณะรัฐมนตรี ที่เห็นพ้องกับมติคณะกรรมสิ่งแวดล้อม เมื่อปี 2649 ตลอดจนความเห็นขององค์กรอิสระต่างๆ ก็มีข้อเสนอเช่นกัน

“กรรมการชุดนี้เป็นใบสั่งของนักการเมืองฝ่ายบริษัท คณะกรรมส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ เช่น นายอำเภอทุกอำเภอ ตำรวจ อัยการ ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่มีข้อมูลเรื่องเหมืองแร่โปแตซ อีกทั้งเป็นลูกน้องของผู้ว่าฯ เมื่อผู้ว่าฯ ว่าอย่างไรก็ไม่มีใครกล้าหือ และการชี้แจงทั่วทุกอำเภอ ก็ไม่สนว่าชาวบ้านจะเข้าใจหรือไม่ เพราะสุดท้ายเป้าหมาย อยู่ที่การรังวัด ปักหมุด เขตเหมือง ตามขั้นตอนประทานบัตร ซึ่งก็จะเกิดปัญหาความขัดแย้ง ตีกันในพื้นที่อีกเช่นเคย ดังนั้นกลุ่มอนุรักษ์ฯ จึงขอให้ผู้ว่ายุติไว้ก่อนจนกว่าจะทำตามมติ ครม.เมื่อปี 2549 เสียก่อน” นางมณีกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2549 พ้องตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 ม.ค.2549 ให้มีการดำเนินการใดการศึกษายุทธศาสตร์การจัดการแร่โปแตชของประเทศ (Strategic Environmental Assessment ; SEA) ก่อนที่จะมีการดำเนินการใดในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี และโครงการเหมืองแร่โปแตชอื่นในภาคอีสาน เพราะว่าขณะนี้มีการดำเนินการของเอกชนในการยื่นขอสำรวจและผลิตแร่โปแตชในพื้นที่ 6 จังหวัด คือ จ.ชัยภูมิ จ.สกลนคร จ.อุดรธานี จ.นครราชสีมา จ.ขอนแก่น และ จ.มหาสารคาม ทั้งสิ้น 7 โครงการรวมพื้นที่ ประมาณ 654,145 ไร่

การชุมนุมดำเนินไปจนกระทั่งเวลาประมาณ 11.00 น.นายอำนาจ ผการัตน์ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีได้เดินมายังที่ชุมนุมเพื่อขอเจรจาให้ผู้ชุมนุมเปิดถนน ขณะที่ผู้ชุมนุมกำลังพยายามกดดันด้วยการปิดถนนเพิ่มอีกหนึ่งช่องทางจารจรและมีฝนตกลงมาอย่างหนัก จนฝนหยุดในเวลาประมาณ 13.00 น.กลุ่มผู้ชุมนุมจึงต้องยอมเจรจาโดยยื่นขอเสนอให้ยุติบทบาทกรรมการ ชุดนายสมพร ใช้บางยาง และให้ศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ ก่อนดำเนินการใดเกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โปแตซ

ที่สุด นายอำนาจ ผการัตน์ มีท่าทียอมรับข้อเสนอดังกล่าวและได้ทำบันทึกข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ 3 ประการ คือ หนึ่ง ทำหนังสือแจ้งให้ นายสมพร ใช้บางยาง ประธานกรรมการ ทราบว่า ต้องยุติการดำเนินการของคณะอนุกรรมการ เพราะไม่เป็นที่ยอมรับและไม่อาจดำเนินการได้ตามเป้าหมาย สอง เสนอให้คณะกรรมการพิจารณายุติบทบาทกรรมการชุดดังกล่าวไว้ก่อน และสาม ให้มีการแต่งตั้งกรรมการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์(SEA) ตาม มติ ครม.และมติ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม เมื่อปี 2549

นายอำนาจ ผการัตน์ กล่าวกับที่นุมนุมว่า ตนเห็นด้วยกับข้อเสนอเรื่องการศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้านไม่ใช่เพียงแต่เรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว แต่ต้องครอบคลุมไม่อย่างนั้นจะเกิดปัญหาตามมาเหมืองโครงการอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ตนจะนำข้อเสนอของที่ชุมนุมในวันนี้ไปเสนอต่อประธานคณะกรรมการต่อไป

ที่ชุมนุมพอใจข้อตกลงดังกล่าวจึงได้ยอมเปิดเส้นทางจราจรและสลายการชุมนุมเมื่อเวลาประมาณ 14.00 น.

ด้าน นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวในภายหลังว่า "ที่ผ่านมาผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีมีท่าทีแข็งกร้าว และมุ่งหมายจะผลักดันให้เกิดการลงพื้นปักหมุดเขตเหมืองแร่ให้ได้ ซึ่งตลอด 8 ปีที่ผ่านมาก็เห็นมาแล้วว่าจะเป็นเหตุแห่งปัญหาการไม่ยอมรับและความขัดแย้ง ตนเห็นว่า ต้องหาทางออกร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ สร้างการเรียนรู้ที่แท้จริงให้สังคม โดยเฉพาะเรื่องการประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ซึ่งปัจจุบันสำนักงานนโยบายและแผนคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้มีแนวทางในการประเมินออกมาแล้วการพัฒนาขบวนการนี้น่าจะเป็นแนวทางยกระดับการมีส่วนร่วมของประชาชน และมาตรฐานการดำเนินนโยบายสาธารณะในสังคมไทย" นายสุวิทย์ กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น