xs
xsm
sm
md
lg

WWF ดึง 11 หน่วยงานเหนือตั้งข่ายปราบค้าสัตว์-พืชป่าข้ามชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย - กองทุนสัตว์ป่าโลกสากลฯ (WWF) ดึงตัวแทน 11 หน่วยงานในพื้นที่ภาคเหนือร่วมวงสร้างเครือข่ายสกัดการลักลอบค้าสัตว์-พืชป่าข้ามชาติ ชี้สถิติการจับกุมเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในประเทศลุ่มน้ำโขง ก่อนส่งผ่านไทยไปให้ผู้บริโภคในประเทศที่ 3 ต่อ

รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่า ระหว่างวันที่ 23-24 ก.ค.นี้ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF) ซึ่งมีสาขาอยู่กว่า 100 ประเทศทั่วโลก ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายป้องกันและปราบปรามการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมาย” ณ ห้องสีป้อ โรงแรมริมกกรีสอร์ท อ.เมือง จ.เชียงราย โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามทั่วภาคเหนือเข้าร่วมจำนวน 60 คน จาก 11 หน่วยงาน ได้แก่กรมวิชาการเกษตร กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช, กรมประมง, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง, กองทัพเรือ (นรข.), กรมการปกครอง, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น

นายศรีรัช ภูคชสารศีล ผู้อำนวยการฝ่ายอนุรักษ์ WWF แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่ WWF และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดขึ้น เพื่อเปิดเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน พร้อมกับจัดตั้งเป็นเครือข่ายป้องกันและปราบปรามการลักลอบค้าสัตว์ป่า-พืชป่าในทุกภาคของไทยต่อไป โดย WWF จะเปิดเวทีในลักษณะนี้ทั้งหมด 4 ครั้ง ครบทุกภูมิภาคของประเทศ อันจะช่วยให้มาตรการปราบปรามการค้าสัตว์ป่าดีขึ้น

ที่ผ่านมาไทยเป็นประเทศภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์หรือไซเตส แต่สถิติการจับกุมดำเนินคดีกรณีการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะตามแนวชายแดนไทยซึ่งมีระยะทางประมาณ 3,000 กิโลเมตร รวมทั้งตามถนนสายต่างๆ ภายในประเทศได้อย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มมากขึ้น

โดยเป็นการลักลอบจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะลุ่มแม่น้ำโขงที่ลักลอบเข้ามาง่ายมาก ทั้งกล้วยไม้ นกปรอทหัวจุก ฯลฯ ขณะที่ป่าในประเทศไทยแม้จะมีการลักลอบจำนวนน้อยลง และของกลางที่ยึดได้ในช่วงหลังกลับมีมูลค่ามาก เช่น เสือ งาช้าง ฯลฯ

“การลักลอบนำเข้าทำได้ง่ายโดยเฉพาะมากับเรือลำเล็กๆ ในแม่น้ำโขง แต่แนวโน้มของการป้องกันและปราบปรามก็เป็นไปในทิศทางที่ดี เพราะนอกจากประเทศไทยแล้ว ปัจจุบันประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ เช่น สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม ฯลฯ ก็ทยอยเข้าเป็นสมาชิกของไซเตสกันมากขึ้น ต่อไปก็คงจะเข้มงวดเหมือนกันและร่วมมือกันเป็นเครือข่ายระหว่างประเทศตามมา”

นายศรีรัชกล่าวว่า ซึ่งขณะนี้เวียดนามและ สปป.ลาว มีข้อตกลงห้ามค้าขายสัตว์ป่ากันแล้วขณะที่ใน สปป.ลาวก็ห้ามล่าปลาบึกที่อยู่ในบัญชีไซเตส และเป็นปลาหนังน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลกในแม่น้ำโขงด้วย กระนั้นสำหรับประเทศไทยในฐานะที่ดำเนินการมาตลอดก็ต้องเข้มงวดเอาไว้ก่อน

นายวัฒนา เวทยประสิทธิ์ ผู้อำนวยกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่า ตามอนุสัญญาไซเตส กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า สถานการณ์การลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่าผิดกฎหมายเริ่มรุนแรงขึ้นในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่จะเป็นการค้าสัตว์ป่าข้ามชาติในประเทศเพื่อนบ้าน และใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน เพื่อส่งออกไปยังประเทศที่สาม ให้ผู้บริโภคต่อไป ดังนั้นการที่แต่ละหน่วยงานจัดตั้งเป็นเครือข่ายจึงจะช่วยทำให้การป้องกันและปราบปรามมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นายวินัย ฉินทองประเสริฐ นายด่านศุลกากรเชียงแสน จ.เชียงราย กล่าวว่า ทางที่ผ่านมาด่านศุลกากรต่างๆ ในภาคเหนือก็พบว่าสถานการณ์การลักลอบนำเข้ายังมีต่อเนื่อง โดยล่าสุดด่านศุลกากรที่ จ.น่าน สามารถตรวจยึดของกลางเป็นเต่าได้กว่า 50 กิโลกรัม ดังนั้นจึงต้องพยายามป้องกันอย่างเต็มที่ แต่ลำพังเจ้าหน้าที่ศุลกากรที่มีจำกัดคงดูแลการลักลอบนำเข้าได้ไม่ทั่วถึง การมีเครือข่ายระหว่างหน่วยงานจึงเป็นเรื่องที่ดีมาก

พ.ต.ต.กษิเดช จังพนาวัน สว.กก.2 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) กล่าวว่า ทาง พล.ต.ต.ประสิทธิ์ ทำดี ผบก.ปทส.ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามกรณีปัญหาดังกล่าวมาก และพบว่าสถานการณ์ของภาคเหนือที่ผ่านมามักจะเป็นการลักลอบนำพันธุ์พืชไม้ป่าโดยเฉพาะกล้วยไม้ลงไปขายที่ภาคกลางมากกว่า

รายงานข่าวจาก WWF แจ้งว่า จากสถิติการดำเนินคดีเกี่ยวกับการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าอย่างไม่เป็นทางการตลอด 5 ปีที่ผ่านมาพบว่า ปี 2548 จับกุมได้ 18 ราย มูลค่าสินค้า 542,076 บาท ปี 2549 จับกุม 22 ราย มูลค่า 4,193,596 บาท ปี 2550 จับกุม 27 ราย มูลค่า 7,193,353 ปี 2551 จับกุม 17 คดี มูลค่า 20,414,127 บาท และปี 2552 ตั้งแต่เดือน ม.ค.-มี.ค.จับกุมแล้วจำนวน 17 คดี มีพันธุ์สัตว์ป่าและพันธุ์พืชกว่า 800 ชนิด เป็นพืชป่ากว่า 19,450 ต้น ที่สำคัญมีชนิดพันธุ์ที่อยู่ในบัญชีไซเตสกว่า 158 ชนิดด้วย



กำลังโหลดความคิดเห็น