xs
xsm
sm
md
lg

นักธุรกิจอีสานปลุกชีพกระเช้าขึ้นภูกระดึง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รูปแบบโครงการกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง ที่เคยมีการเผยแพร่สู่สาธารณชน
เลย - หอการค้าอีสานหนุนสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง อ้างตัวเลขรายได้ที่คาดว่าจะฟันจากนักท่องเที่ยวที่รักความสะดวกสบายอย่างน้อย 200 ล้านบาท/ปี เป็นตัวการันตีการลงทุน อดีตประธานหอเมืองเลยพ้อเสียดายรัฐบาล นช.แม้วหนุนอยู่แล้วแต่ดันล้มเสียก่อน ด้านนักอนุรักษ์ฯติง “ภูกระดึง” เป็นของคนไทยทุกคน ก่อนตัดสินใจต้องถามคนทั้งประเทศที่สำคัญต้องให้ทุกภาคส่วนสังคมมีส่วนร่วมลงมติ

โครงการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงเงียบหายไปหลายปี หลังจากมีหลายฝ่ายโดยเฉพาะนักอนุรักษ์ องค์กรภาคเอกชนได้ออกมาท้วงติงถึงความไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นการทำลายทัศนียภาพของแหล่งท่องเที่ยว ทำลายทรัพยากรป่าไม้ ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งที่ 1/2552 ที่โรงแรมภูดารารีสอร์ท อ.ภูเรือ จ.เลย ของหอการค้าไทย ที่มีนายสมชัย ไกรครุฑรี กรรมการรองเลขาธิการหอการค้าไทย ประธานหอการค้า จังหวัดอุดรธานี เป็นประธาน และมี นายอุดมศักดิ์ จรกิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย นายสมใจนึก เองตระกูล ประธานกรรมการบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) อดีตปลัดกระทรวงการคลัง และ ตัวแทนหอการค้าทั้ง 19 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าร่วมประชุมนั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงหนึ่งของการประชุม ประเด็นหนึ่งที่มีการหยิบยกขึ้นมาหารือในที่ประชุม คือ กรณีโครงการลงทุนก่อสร้างกระเช้าภูกระดึง ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมบางส่วนแสดงความเห็นให้การสนับสนุน และมีหลายรายที่ไม่เห็นด้วย

นายสุเครื่อง บุรินทร์กุล อดีตประธานหอการค้าจังหวัดเลย กล่าวว่าในฐานะที่ตนผลักดันโครงการสร้างกระเช้าภูกระดึงมาตั้งแต่ พ.ศ.2549 อยากจะขอความร่วมมือ คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือช่วยสนับสนุนโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ถือเป็นการดำเนินงานต่อเนื่องที่มีการนำเสนอต่อรัฐบาลเมื่อปีพ.ศ.2549 สมัยรัฐบาลทักษิณไปแล้ว ทั้งนี้รัฐบาลทักษิณมีท่าทีให้การสนับสนุนโครงการดังกล่าว แต่เสียดายที่ล้มไปเสียก่อน

ดังนั้น ในฐานะอดีตประธานหอการค้าเลยและตัวแทนภาคเอกชนในพื้นที่ จึงขอรับการสนับสนุนจากคณะกรรมการชุดนี้ให้ช่วยผลักดันโครงการนี้ต่อ ซึ่งค่าก่อสร้างในปัจจุบันประเมินแล้วจะอยู่ในราว 600 ล้านบาท และหากสร้างเสร็จและเปิดบริการนักท่องเที่ยว จะสามารถสร้างรายได้ให้แก่จังหวัดเลย ได้ปีละ 200 ล้านบาท

“ผมเชื่อว่าโครงการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงจะไม่ได้รับการต่อต้านจากคนในท้องถิ่น หรือกลุ่มอนุรักษ์แต่อย่างใด เพราะมีแต่ผลดีต่อเศรษฐกิจท่องเที่ยวของจังหวัดเลย” นายสุเครื่องกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังที่นายสุเครื่องเปิดประเด็นโครงการก่อสร้างกระเช้าภูกระดึง และตัวแทนหอการค้าหลายท่านได้แลกเปลี่ยนความเห็น ในที่สุดในที่ประชุมก็ได้เห็นพ้องที่จะร่วมกันผลักดันให้มีการก่อสร้างโครงการดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม นายประยงค์ อัฒจักร ประธานมูลนิธิเลยเพื่อการอนุรักษ์พัฒนาอย่างยั่งยืน แสดงความเห็นต่อภาคธุรกิจเอกชนที่พยายามผลักดันโครงการก่อสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงดังกล่าวอีกครั้งว่า มูลนิธิฯไม่คัดค้าน แต่ก่อนที่จะดำเนินการใดๆ ก็ตาม อยากให้เปิดโอกาสให้ชาวจังหวัดเลยทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินว่าจะให้มีกระเช้าหรือไม่ โดยนำเอาข้อมูลที่เป็นจริงออกมาเปิดเผยให้ทุกคนทราบ และข้อมูลเหล่านั้นต้องเข้าถึงชาวเลยจริงๆ โดยเฉพาะผลการศึกษาเปรียบเทียบผลได้ผลเสียที่จะเกิดขึ้น ทั้งในประเด็นผลกระทบสิ่งแวดล้อม ผลกระทบด้านเศรษฐกิจท้องถิ่นและผลกระทบด้านสังคมทั่วไป

“ภูกระดึงไม่ใช่ของคนจังหวัดเลยเพียงเท่านั้น ทุกคนในประเทศนี้ต่างเป็นเจ้าของร่วม ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องออกมาแสดงความคิดเห็น ถกเถียงกันในวงกว้างให้รอบด้านทุกประเด็น เมื่อผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของสังคมนี้ไปแล้วค่อยว่ากันอีกทีว่าควรจะมีการผลักดันโครงการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงหรือไม่ จังหวัดเลย เปรียบเสมือนเพชรที่ยังไม่ได้เจียระไน มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และภูกระดึงเป็นหนึ่งในสถานที่ทางธรรมชาติในไม่กี่แห่งในประเทศไทยที่ทุกคนปรารถนาว่าครั้งหนึ่งในชีวิตต้องมาเยือนให้ได้” นายประยงค์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น