เชียงราย – อาจารย์ ม.ราชภัฏเชียงราย ถือโอกาสขึ้นเวทีประชาธิปไตย 4 จังหวัดเหนือของ สนง.เลขาธิการสภาผู้แทนฯ ถล่มพันธมิตรฯ-รธน.50 ยกกรณียุบพรรค อ้างไม่ถูกหลัก แต่ไม่บอกผลเสียกรรมการบริหารพรรคทำผิดกฎหมายจนกุมอำนาจรัฐได้ จะสร้างผลเสียต่อคนไทยทั้งชาติหรือไม่ แถมยุให้จับแกนนำ พธม.สร้างบรรทัดฐานจัดชุมนุมในอนาคต
รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่า วันนี้ (14 ก.ค.) สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จัดโครงการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาเครือข่ายด้านประชาธิปไตยภูมิภาคประจำปี 2552 เสริมสร้างความรู้และวางแผนกำหนดแนวทางจัดตั้งศูนย์กลางเครือข่ายด้านประชาธิปไตย ณ โรงแรมริมกก อ.เมือง จ.เชียงราย โดยมีผู้นำเครือข่ายด้านประชาธิปไตยใน 4 จังหวัดภาคเหนือ คือ เชียงราย พะเยา แพร่ และ น่าน เข้าร่วมจำนวน 130 คน
ภาคเช้ามี นายคัมภีร์ ดิษฐากรณ์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวบรรยายความเป็นมาของโครงการว่าเกิดจากความร่วมมือระหว่างสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และกรมการพัฒนาชุมชน เพื่อจัดตั้งศูนย์ที่สามารถประสานงานระหว่างรัฐสภา และเครือข่ายในระดับภูมิภาคเพื่อพัฒนาระบอบประชาธิปไตยอย่างมีประสิทธิภาพ
ต่อมาได้มีการจัดเวทีเสวนาเรื่อง “การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนกับการพัฒนาประชาธิปไตย” โดยมี นายเจริญพงษ์ คำมีสว่าง นักจัดรายการจากสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.เชียงราย เป็นผู้ดำเนินรายงานการและมีวิทยากรบรรยายร่วม 2 คน คือ นายเสงี่ยม แสนพิศ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงราย และ นายเนรมิต จิตรรักษา อาจารย์สอนรัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มรช.)
วิทยากรทั้ง 2 คนให้ทัศนะเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนออกมาในทิศทางที่แตกต่างกัน โดย นายเนรมิต มองว่า การเมือง คือ การแข่งขัน และมีการต่อรองเพื่ออำนาจและการปกครอง รวมทั้งแสดงทัศนะว่า ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อปี 2475 ก็ไม่เคยมีรัฐธรรมนูญฉบับใดให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม กระทั่งรัฐธรรมนูญปี 2540 จึงเปิดโอกาสให้ประชาชนมากที่สุดทั้งเรื่องการเลือกตั้ง การเสนอชื่อปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย การถอดถอนฝ่ายบริหาร การลงประชามติ ประชาพิจารณ์ ฯลฯ
ช่วงหนึ่งนายเนรมิต กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ระบุให้ยุบพรรคการเมืองหากกรรมการบริหารพรรคกระทำความผิดโดยเปรียบเทียบพรรค เหมือนร้านอาหาร หากคนในร้านทำผิดหนึ่งคนก็ต้องยุบร้าน ขณะที่พรรคการเมืองถือเป็นองค์กรมหาชน
ส่วนการชุมนุมที่มีปัญหาทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญให้สิทธิและเสรีภาพ ในการแสดงออกในการชุมนุมอย่างสงบ และปราศจากอาวุธก็เพราะเกิดการลอกเลียนแบบ โดยเห็นว่าหากจับแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ด้วยการเปรียบเทียบปรับกรณีบุกยึดทำเนียบรัฐบาลนานเป็นเดือนๆ ก็จะทำให้เป็นบรรทัดฐานได้
รายงานข่าวแจ้งอีกว่าอย่างไรก็ตาม อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มรช.ท่านนี้ไม่ได้ให้ข้อมูลกรณีเรื่องการยุบพรรคการเมือง ว่า หากเกิดกรณีกรรมการพรรคคนใดคนหนึ่งไปส่งเสริมให้มีการกระทำผิด หรือเมื่อเห็นว่าเพื่อนกรรมการด้วยกันไปกระทำความผิด หรือแม้แต่เพิกเฉยไม่สนใจดูแลพรรคของตัวเอง กระทั่งมีการไปกระทำผิดแล้วพรรคการเมืองนั้น จะต้องรับผิดชอบหรือไม่ เพราะพรรคการเมืองเมื่อเข้าสู่อำนาจรัฐก็สร้างส่งผลกระทบต่อประชาชนทั้งประเทศได้ รวมทั้งหากเปรียบเทียบกับร้านอาหาร ก็ต้องถือว่าบุคคลที่กระทำความผิดเป็นระดับผู้ถือหุ้นที่กำลังสร้างผลกระทบต่อผู้บริโภคที่เข้าไปร้าน ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อคนในร้านเท่านั้น
ขณะที่กรณีปัญหาแกนนำกลุ่ม พธม.ที่ยึดทำเนียบรัฐบาลนั้น ก็ไม่ได้มีการให้ข้อมูล ว่า ปัจจุบันก็ได้มีการดำเนินคดี โดยแกนนำหลายคนถูกฟ้องร้อง และเรื่องนี้ก็มีปัญหาตำรวจตั้งข้อหากบฏ ซึ่งเกินความจริงจนศาลต้องสั่งถอนฟ้อง รวมทั้งไม่ได้มีการแจ้งถึงวัตถุประสงค์ตั้งแต่ต้นของการชุมนุมของกลุ่ม พธม.ด้วย
ขณะที่ นายเสงี่ยม แสนพิศ รอง นายก อบจ.เชียงราย กล่าวว่า ตนเห็นว่า รัฐธรรมนูญทุกฉบับก็ดีเหมือนกันหมดแต่ปัญหาอยู่ที่คนใช้มากกว่า อย่างปี 2540 ก็ไม่ได้หมายความว่า ดีหมดแต่มีปัญหาอยู่มาก แต่ในที่นี้จะยกข้อที่เป็นปัญหาบางประการมาเป็นตัวอย่าง เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่มาจากปี 2540 ซึ่งตนพูดได้เลยว่าเป็น กกต.ชุดที่ใช้ไม่ได้จนต้องถูกศาลพิพากษาจำคุกไปแล้ว ส่วนชุดปัจจุบันก็มีสำนวนที่ต้องพิจารณามากมาย แต่ที่ผ่านมาทราบว่า สำนวนกว่า 60% เมื่อถึงศาลแล้วศาลไม่เห็นด้วยทั้งๆ ที่ กกต.ครึ่งหนึ่งมาจากการเป็นผู้พิพากษา
เวทีบรรยายยังออกรสมากขึ้น เมื่อมีการตั้งประเด็นเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยการใช้สิทธิต่างๆ แต่ปัญหาก็ยังมีอยู่ โดย นายเสงี่ยม ให้ความเห็นว่าสาเหตุที่วุ่นวายเพราะคนไม่เคารพกฎกติกา โดยรัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนดให้มีการยุบพรรคหากกรรมการไปกระทำความผิด ซึ่งหากมีการยอมรับที่ศาลตัดสินก็ไม่มีปัญหา แต่ปัญหาคือไม่มีการยอมรับกันเอง
นายเสงี่ยม ยังกล่าวถึงปัญหาที่เกิดจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันและขอให้เครือข่ายประชาธิปไตยภาคประชาชนได้ช่วยกันคิดว่ามีหลายเรื่อง ยกตัวอย่างกรณีการเลือกตั้งกำนันทั่วประเทศซึ่งกำลังเป็นปัญหา เนื่องจากในอดีตกำนันเป็นผู้ที่มาจากการเลือกตั้งของชาวบ้านทั้งตำบลสามารถแก้ไขปัญหาโจรขโมยและอื่นๆ ได้ แต่ปัจจุบันกำนันมาจากการเลือกตั้งของผู้ใหญ่บ้านเท่านั้น ทำให้เกิดความแตกแยกในสังคมในแต่ละหมู่บ้านและตำบล เป็นต้น
สุดท้ายนายเสงี่ยม ให้ความเห็นว่าขอให้ทุกฝ่ายเป็นกลาง และยอมถอยออกมาซักก้าวหนึ่ง และมาแสดงความคิดเห็นระดมสมองกัน กรณีของผู้นำเครือข่ายประชาธิปไตยที่ประชุมสัมมนากันในครั้งนี้ก็ต้องกลับไปประกอบกิจกรรม ในฐานะผู้นำจริงๆ เพื่อนำความรู้ ข้อมูลไปบอกกล่าวประชาชนในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยบนพื้นฐานที่ว่าต้องลดความขัดแย้ง มีความสมานฉันท์ปรองดองกัน ตั้งอยู่บนความมีเหตุมีผลเพื่อสังคมที่เป็นสุขตลอดไป
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า การประชุมครั้งนี้มีขึ้น 2 ระหว่างระหว่างวันที่ 14-15 ก.ค.นี้ โดยภาคบ่ายวันเดียวกันนี้จัดให้มีการแบ่งกลุ่มระดมสมองเพื่อตัดตั้งศูนย์กลางเครือข่ายด้านประชาธิปไตยประจำภูมิภาค และเลือกตั้งแทนเครือข่ายระดับจังหวัด จากนั้นมีการให้ความรู้เรื่องการบริหารจัดการศูนย์ การสรรหากรรมการบริหารศูนย์ ส่วนวันที่ 15 ก.ค.จัดให้มีการแบ่งกลุ่มระดมสมอง ทดสอบความรู้หลังเข้าร่วมกิจกรรมด้วย