xs
xsm
sm
md
lg

ม.บูรพาเสวนา “สบายดีไหม ประชาธิปไตย?” เหน็บล้มเหลวเพราะไม่ศรัทธา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จัดการเสวนาหัวข้อ Democracy How are you? “สบายดีไหม ประชาธิปไตย?”
ศูนย์ข่าวศรีราชา -มหาวิทยาลัยบูรพา จัดเสวนา “สบายดีไหม ประชาธิปไตย?” ดึงนักวิชาการระดับประเทศร่วมให้ความรู้ ระบุ ประเทศไทยล้มเหลว จากการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพราะคนไทยไม่รู้จักประชาธิปไตย และไม่มีความศรัทธาอย่างแท้จริง แขวะที่ได้มาเป็นเพียงประชาธิปไตยฟันแล้วทิ้ง เพราะคนไทยไม่เข้าถึงแก่นแท้

วันนี้ (1 ก.ค.) ที่ห้องประชุมพิบูลสงคราม อาคารคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จ.ชลบุรี องค์การนิสิตมหาวิทยาลัยร่วมกับสโมสรนิสิตนักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ฯและคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์จัดการเสวนาหัวข้อ Democracy How are you? “สบายดีไหม ประชาธิปไตย?” ทบทวน อดีต ปัจจุบัน อนาคต ประชาธิปไตยกับสังคมไทย เป็นจุดตัดหรือเส้นขนาน โดยมีวิทยากรซึ่งเป็นนักวิชาการระดับประเทศ ร่วมบรรยายถึงที่มาและการต่อสู้เพื่อให้ได้มาในเรื่องประชาธิปไตยของคนไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ท่ามกลางนิสิตนักศึกษาที่สนใจเข้าร่วมกันอย่างคับคั่ง

รศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยผ่านการต่อสู้ของประชาชน ในการให้ได้มาซึ่งคำว่าประชาธิปไตยมานานแล้ว จนกินระยะเวลา 77 ปี ที่ครบรอบในฐานะที่เมืองไทยเปลี่ยนแปลงปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่ทว่าจนปัจจุบันเราไม่สามารถพูดได้ว่าประชาธิปไตยของไทยประสบความสำเร็จ

ทั้งนี้ มีหลายคนถามว่า ทำไมประเทศแถบยุโรป จึงประสบความสำเร็จในเรื่องประชาธิปไตย แล้วความล้มเหลวของประชาธิปไตยของไทยอยู่ตรงไหน ซึ่งมีหลายเสียงมองว่า เพราะทหาร นักการเมืองคอร์รัปชัน ข้าราชการ หรือประชาชน สาเหตุที่เกิดปัญหานั้นอยู่กับที่ว่าเราได้แต่โทษคนอื่นไม่ยอมโทษตัวเอง ประเทศอยู่ในระบอบนี้มา 77 ปี แต่ไม่เคยเห็นตัวตนที่แท้จริงของประชาธิปไตย สาเหตุที่ประเทศไทยล้มเหลวในเรื่องประชาธิปไตย เพราะเราไม่รู้จักประชาธิปไตยที่แท้จริง และไม่มีความศรัทธาในตัวประชาธิปไตยอย่างลึกซึ้ง

“ประชาธิปไตยเป็นอารยธรรมที่มนุษย์เห็นพ้องตรงกันว่ามีประโยชน์กับทุกคนอย่างเสมอภาค ถึงแม้มีความแตกต่างแต่ยังมีความเท่าเทียม คนหนึ่งจนคนหนึ่งรวยก็เป็นความแตกต่างแต่ความเป็นคนต้องเท่าเทียม นั่นคือ ประชาธิปไตย ไม่มีชนชาติใดในโลกที่เกิดมาแล้วเป็นประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยไม่ใช่กฎธรรมชาติ” รศ.ดร.ปริญญา ระบุ

ด้าน นายโอฬาร ถิ่นบางเตียว นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ให้ข้อคิดเห็นด้วยว่า ประวัติศาสตร์เป็นตัวกำหนดปัจจุบันซึ่งเป็นการริเริ่มของอนาคต ที่ผ่านมา ระบบการศึกษาไทยไม่ให้ความสำคัญเรื่องการปลูกฝังองค์ความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ในชาติมากนัก ทำให้เด็กรุ่นใหม่ขาดความเข้าใจอย่างแท้จริง และตีความเรื่องประชาธิปไตยในมุมมองที่ผิดเพี้ยนไป

ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีประชาธิปไตยแบบล่มปากอ่าว หรือประชาธิปไตยแบบฟันแล้วทิ้ง เพราะชาวบ้านมีสิทธิ์มีเสียงเต็มที่ในช่วงระยะเวลา 4 นาที ที่เข้าคูหาเลือกตั้ง นับเป็นการเริ่มต้นประชาธิปไตยที่ดี แต่ไปไม่ถึงฝั่งไม่ถึงแก่นแท้ของประชาธิปไตย นักการเมืองทำให้ชาวบ้านตายใจ เพื่อให้ได้คะแนนเสียง จากนั้นก็หายไป 4 ปี เมื่อจะมีการเลือกตั้งใหม่ก็กลับมาอีกครั้ง เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบที่แบ่งผลประโยชน์ เพื่อเข้าสู่วงจรอุบาทว์ที่มีทั้งการคอร์รัปชัน การไร้เสถียรภาพ และการขาดการมีส่วนร่วม จนปัจจุบันปัญหาดังกล่าวลุกลามมาสู่การเมืองท้องถิ่นอย่างชัดเจน

“เราเคลื่อนไหวแต่ประชาธิปไตยทางการเมืองอย่างเดียว แต่เราไม่เคลื่อนไหวประชาธิปไตยรอบด้าน ทั้งเรื่องประชาธิปไตยทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม เมื่ออำนาจทางเศรษฐกิจตกอยู่ในมือคนบางกลุ่มการกระจายรายได้เลี้ยงปากท้องจึงอยู่ในวงจำกัดไม่ครอบคลุม ดังนั้นต้องสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจ ให้ปากท้องของประชาชนอยู่ได้ การพัฒนาประชาธิปไตยทางการเมืองถึงจะเคลื่อนที่ได้ถูกทาง เพราอุดมการณ์บางอย่างไม่สามารถใช้ได้กับทุกๆ เรื่อง” นักวิชาการมหาวิทยาลัยบูรพา กล่าว

นายโอฬาร กล่าวอีกว่า ปรากฏการณ์ประชาชนทั้งเหลืองและแดงที่เกิดขึ้นอยู่นั้น นับเป็นปรากฏการณ์สำคัญของประเทศต่อระบอบประชาธิปไตยที่ปกครอง เพราะเหมือนเป็นการตั้งคำถามถึงเรื่องความเป็นธรรมของสังคม ว่า ปัจจุบันที่เป็นอยู่นี้นั้น สังคมเป็นธรรมเพียงพอแล้วหรือยัง และประชาชนมีความเท่าเทียมกันแล้วหรือยัง ที่สำคัญ ต้องเรียนรู้อดีต เรียนรู้ประวัติศาสตร์ แล้วร่วมกันในการเข้าถึงแก่นแท้ของประชาธิปไตย ที่ถูกต้องเพื่อที่จะตอบคำถามกับสังคมได้ว่าประชาธิปไตยไทยที่เป็นอยู่เป็นอย่างไร

รศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โอฬาร ถิ่นบางเตียว นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
กำลังโหลดความคิดเห็น