ตาก- ผวจ.ตาก นำทีมเจ้าหน้าที่ตรวจโครงการอุทยานการเรียนรู้หรือห้องสมุดมีชีวิตโดยใช้งบประมาณทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 180 ล้านบาท ด้านนายกเทศมนตรีเมืองแม่สอดยืนยันโครงการนี้ได้เปิดให้ประชาชนได้ใช้บริการแน่ไม่เกินปลายปีนี้
วันนี้ (24 มิ.ย.) นายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ได้เดินทางไปตรวจดูความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการอุทยานการเรียนรู้ (ห้องสมุดมีชีวิต) ที่บริเวณหลังศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เทศบาลเมืองแม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก โดยมีนาย เทอดเกียรติ ชินสรนันท์ นายกเทศมนตรีเมืองแม่สอด พร้อมคณะผู้บริหารและสมาชิกสภาเทศบาลเมืองแม่สอด ให้การต้อนรับ ทั้งนี้เพื่อเร่งให้เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการ เพื่อให้เปิดใช้บริการประชาชนในช่วงปลายปี 2552 นี้
ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวว่า อุทยาการเรียนรู้จะเป็นสิ่งมหัศจรรย์แห่งใหม่ของเมืองแม่สอด ที่จะเป็นทั้งแหล่งการท่องเที่ยวเชิงการเรียนรู้และทางวิชาการที่ทันสมัยในยุคนี้มีทั้ง ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวิชาการที่เป็นสมบัติของท้องถิ่นที่มีคุณค่า
จังหวัดตากได้สนับสนุนงบประมาณซึ่งเป็นงบยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัด เพื่อให้เกิดโครงการดังกล่าวร่วมกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยมีเทศบาลเมืองแม่สอดเป็น อปท.ที่ดำเนินการในเรื่องนี้ ซึ่งจะเป็นสถานที่ที่ทรงคุณค่าอย่างมหาศาล ในด้านวิชาการ-การศึกษาประวัติศาสตร์ การท่องเที่ยว การพัฒนาคุณภาพชีวิต และทรัพย์สินทางปัญญาของคนท้องถิ่น
นายเทอดเกียรติ ชินสรนันท์ นายกเทศมนตรีเมืองแม่สอด กล่าวว่า อุทยาการเรียนรู้แม่สอด จะใช้งบประมาณในการดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบกว่า 180 ล้านบาท จะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยต่างๆที่จะเกิดขึ้นใหม่ในพื้นที่ อ.แม่สอด
ตลอดจนการดำเนินการสร้างโรงเรียนมัธยม 5 ที่กำลังมีการประสานกันระหว่างโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาที่จะมาพัฒนาการศึกษาร่วมกับเทศบาลเมืองแม่สอด และอุทยานการเรียนรู้แม่สอด เป็นห้องสมุดมีชีวิตมีสวนน้ำ ลานน้ำพุ หอดูดาว ท้องฟ้าจำลอง โรงภาพยนตร์ 4 มิติ และการปูฐานทางเศรษฐกิจ ที่ยั่งยืน นำความรู้มาเป็นฐานพัฒนาเศรษฐกิจเมืองแม่สอด ที่เป็นเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจอิสต์เวตส์ อัโคโนมิก คอริดอร์ รองรับการเป็นท้องถิ่นรูปแบบพิเศษและเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน
“อุทยาการเรียนรู้เมืองแม่สอด จะเป็นแหล่งทางปัญญาของนักเรียน เยาวชน นักศึกษา และประชาชน ในพื้นที่ ให้มีความยั่งยืนทางเศรษฐกิจที่มั่นคงในอนาคต โดยนำการศึกษามาเป็นฐานและเป็นส่วนหนึ่งของ เส้นทางเชื่อมไทย พม่า อินเดีย เนปาล เอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ ในลักษณะที่จะเชื่อมไปสู่การจัดตั้งมหาวิทยาลัยนานาชาติแม่สอด โดยความร่วมมือ 8 มหาวิทยาลัย คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.ธรรมศาสตร์ ม.มหิดล ม.นเรศวร มศว ม.ศิลปกร ม.สงขลา และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่จะผลักดันมหาวิทยาลัยนานาชาติแม่สอด ต่อไป” นายกเทศมนตรีเมืองแม่สอด กล่าว