เชียงราย – อนุกรรมการรวมเหตุ “แดงป่วนเมือง-ล้มอาเซียนซัมมิต” และเหตุชุมนุมในภูมิภาค ลงพื้นที่สอบผู้เกี่ยวข้องที่เชียงราย ยันผู้ถูกดำเนินคดีในเหตุการณ์ชุมนุมต่างๆ ตรงตัว 90%
รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่า วันนี้ (23 มิ.ย.) พล.ต.ต.ทวีศักดิ์ ตู้จินดา รองประธานคณะอนุกรรมการรวบรวมเหตุการณ์เมืองพัทยาและภูมิภาค รัฐสภา ได้เดินทางไปประชุมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องที่ห้องประชุมศาลากลาง จ.เชียงราย เพื่อติดตามและรวบรวมเหตุการณ์ตามภารกิจ
พล.ต.ต.ทวีศักดิ์ ระบุว่า คณะอนุกรรมการได้รับมอบหมายจากรัฐสภาให้ตรวจสอบเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 8-15 เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อรวบรวมเหตุการณ์ทั้งในด้านของเจ้าหน้าที่รัฐ และกลุ่มผู้ชุมนุม เพื่อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาหากเกิดเหตุขึ้นอีกในอนาคตต่อไป โดยคณะอนุกรรมการมีอำนาจในการเรียกดูเอกสารและเจ้าหน้าที่รัฐทุกฝ่ายไปให้ข้อมูล ที่ผ่านมาได้ดำเนินการแล้วที่พัทยา อุดรธานี เชียงใหม่ ลำพูน และครั้งนี้จึงจัดที่เชียงราย เพื่อจะได้สรุปผลทั้งหมดในการประชุมที่รัฐสภาในวันที่ 24-26 มิ.ย.นี้ ก่อนที่จะเสนอไปยังคณะกรรมการชุดใหญ่และรัฐบาลตามลำดับต่อไป
พล.ต.ต.ทวีศักดิ์ กล่าวว่า ภาพรวมที่ตรวจสอบข้อมูลพบปัญหาว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐและกลุ่มผู้ชุมนุมมีความเข้าใจตรงกันเกี่ยวกับการชุมนุมเรียกร้องต่างๆ หรือไม่ ตรงกับมาตราที่ 63 วรรค 1 และ 2 ของรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ เจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจเพียงใด กลุ่มผู้ชุมนุมรู้ว่ามีอำนาจทำได้เพียงใด ซึ่งหากแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้ปัญหาในอนาคตก็คงไม่เกิด
ทั้งนี้ การพิจารณาหากแยกแยะตามสถานที่พบว่าเหตุการณ์ในการที่เมืองพัทยาคณะอนุกรรมการพบว่าเกิดจากการที่กลุ่มผู้ชุมนุมมีแกนนำอยู่ 3 รูปแบบ คือ ผู้นำปิดซึ่งอยู่เบื้องหลังการชุมนุม ผู้นำเปิดซึ่งเปิดตัวในการเรียกร้อง และผู้นำตามสถานการณ์ กรณีการบุกเข้าไปในการประชุมอาเซียนซัมมิต เกิดจากการปะทะของมวลชน 2-3 ฝ่าย จากนั้นผู้นำปิดนำกลุ่มคนบุกเข้าไปในการประชุมโดยที่ผู้นำเปิดไม่สามารถควบคุมได้ ขณะที่เจ้าหน้าที่ของรัฐก็ไม่พยายามปะทะ เพราะเข้าใจว่าต้องการให้เกิดความสงบไม่เสียเลือดเสียเนื้อ เมื่อทั้งสองฝ่ายไม่เข้าใจกันจึงทำให้การประชุมถูกล้ม
พล.ต.ต.ทวีศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับเหตุการณ์ที่ อ.หนองประจักษ์ จ.อุดรธานี เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็มีปัญหาการนำผู้คนจากภายนอกเข้าไปทำร้ายกัน และกรณีที่มีสื่อโทรทัศน์ช่องหนึ่งนำภาพกลุ่มผู้ชุมนุมถูกทำร้ายออกมาเผยแพร่นั้นทางคณะอนุกรรมการก็รับข้อมูลไปดูแล้ว แต่ก็ได้รับข้อมูลภาพเคลื่อนไหวจากทางจังหวัดไปดูด้วยเช่นกัน จากนั้นนำไปตรวจสอบข้อมูลอีกหลายฝ่าย เพราะไม่ได้มุ่งเชื่อไปที่ภาพถ่ายเพียงอย่างเดียว
ผลการดำเนินการทั้งหมดทำให้คณะอนุกรรมการเชื่อมั่นว่า ผู้ที่ถูกดำเนินคดีในเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งหมดมีความถูกต้องแม่นยำอย่างเต็มที่กว่า 90% ส่วนอีก 10% อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลแต่แนวโน้มก็มีความน่าเชื่อถือได้ว่ามีความเกี่ยวข้องกับคดีต่างๆ จริง ซึ่งคดีทั้งหมดจะถูกส่งไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยทาง พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รอง ผบ.ตร.เป็นผู้รับผิดชอบ เพื่อพิจารณาว่าจะมีการส่งฟ้องไปยังชั้นอัยการต่อไปหรือไม่ต่อไปและท้ายที่สุดอำนาจในการตัดสินคดีก็อยู่ที่ศาลสถิตยุติธรรม