เชียงราย - ทหารไทย-พม่าได้ฤกษ์ขุดลอกลำน้ำสายจุดแรกเป็นปฐมฤกษ์ป้องกันน้ำท่วมแล้ว ก่อนที่จะเดินหน้ารื้อสิ่งกิดขวางสายน้ำที่เหลือรวมทั้งสิ้น 10 จุดตลอดแนว เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับย่านธุรกิจชายแดนสำคัญของทั้ง 2 ประเทศในฤดูน้ำหลากนี้ให้ได้
รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่าวันนี้ (21 มิ.ย.) พ.อ.ฉลองชัย ชัยยะคำ ผบ.ฉก.ม.3 กองกำลังผาเมือง กองทัพภาคที่ 3 ,คณะกรรมการหน่วยประสานงานชายแดนไทย-พม่า ระดับท้องถิ่นหรือทีบีซี ได้นำคณะเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะทหาร ร่วมกับทีบีซีฝ่าย จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า ซึ่งนำทั้งทหารและเจ้าหน้าที่ชลประทาน จ.ท่าขี้เหล็ก ช่วยกันรื้อถอนเกาะแก่งและก้อนหินบริเวณฝายกั้นลำน้ำสายกลางลำน้ำสายพรมแดนไทย-พม่า บริเวณหมู่บ้านหัวฝาย หมู่ 1 ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย และฝั่งพม่าคือบ้านปงถุน จ.ท่าขี้เหล็ก เพื่อป้องกันไม่ให้ลำน้ำสายเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนและร้านค้าชายแดนเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในฤดูฝนในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา
โดยความร่วมมือดังกล่าวมีขึ้นหลังจากทีบีซีฝ่ายไทยได้เสนอให้ดำเนินการในการประชุมทีบีซีหลายครั้งกระทั่งผ่านการพิจารณาของแต่ละประเทศจึงมีการดำเนินการลอกลำน้ำขึ้น
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า เจ้าหน้าที่สองประเทศได้ช่วยกันเดินลงไปในลำน้ำน้ำสาย ซึ่งมีระดับไม่ลึกมากนัก สามารถเดินข้ามไปมาได้โดยสะดวก จากนั้นเข้ารื้อถอนก้อนหินที่กีดขวางทางเดินน้ำออกจนหมด ทำให้น้ำไหลได้สะดวกมากขึ้น และลำน้ำมีความลึกกว่าเดิม ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความสัมพันธ์อันดีระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยและพม่า ที่ไม่คาดคิดว่าจะมีโอกาสในการทำงานกลางลำน้ำสายร่วมกัน
นอกจากนี้คณะเจ้าหน้าที่ทั้ง 2 ประเทศยังได้ประชาสัมพันธ์ให้ราษฎรทั้งสองฝั่ง ช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม งดเว้นการทิ้งขยะลงในลำน้ำด้วย
พ.อ.ฉลองชัย กล่าวว่า การรื้อขุดฝายครั้งนี้นับเป็นความสำเร็จครั้งแรก บนความสัมพันธ์ที่ดีส่วนท้องถิ่นระหว่างประเทศไทยและประเทศพม่า ที่ได้ร่วมกันตระหนักถึงปัญหาอุทกภัยทางธรรมชาติน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลาก ที่เกิดขึ้นและสร้างความเสียหายแก่พื้นที่การค้าและบ้านเรือนของราษฎรทั้งสองฝั่งพรมแดนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
การดำเนินการรื้อหินหรือขุดฝายส่วนท้องถิ่นไทย-พม่า ตามแผนเดิม มีกำหนดดำเนินการร่วมกันถึง 10 จุด ยาวตลอดแนวลำน้ำสาย ซึ่งจากความสำเร็จครั้งแรกทำให้คาดว่าจะมีครั้งต่อไปตามมาในเร็วๆ นี้ และหากรื้อขุดฝายจนครบทั้ง 10 จุด แล้วจะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และช่วยบรรเทาความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติ ต่อพื้นที่เศรษฐกิจการค้าและบ้านเรือนราษฎรไทยและพม่าได้เป็นอย่างดี