xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตปลาร้าอีสาน! ต้นทุนสูง-ขาดตลาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กาฬสินธุ์ - วิกฤตปลาร้ากาฬสินธุ์ ราคาแพง-ขาดตลาด หลังวัตถุดิบปรับราคาขึ้นกว่าเท่าตัว ขณะที่ปลาสดขาดแคลน เนื่องจากผลกระทบสภาวะโลกร้อนทำปลาตามแหล่งน้ำธรรมชาติลดน้อยลง

นางบุญล้ำ ปรีเรือง อายุ 52 ปี เจ้าของโรงงานเพชรดำปลาร้า ปลาร้าขึ้นชื่อ ต.ห้วยโพธิ์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ธุรกิจการทำปลาร้ากำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากที่เคยส่งปลาร้าได้มากถึงวันละ 5 ตัน แต่ปัจจุบันในแต่ละวันปลาร้าที่จะส่งออกมีเพียงวันละ 2-3 ตัน ทั้งนี้เนื่องจากการแข่งขันทางด้านธุรกิจ หลังในพื้นที่มีโรงงานผลิตปลาร้าเกิดขึ้นกว่า 10 แห่งซึ่งมีทั้งการขายตัดราคา เนื่องจากไม่มีการควบคุมราคาจากหน่วยงานราชการ

ขณะเดียวกัน ในการผลิตปลาร้าในปัจจุบันกลับมีปัญหามากขึ้น จนต้องมีการปรับราคาสูงขึ้นอีก 20% หลังทนแบกรับภาระความเสี่ยงการขาดทุนไม่ไหว เพราะวัตถุดิบหลักที่นำมาทำปลาร้าสูงขึ้น โดยเฉพาะเกลือ ข้าวคั่ว และรำข้าว นอกจากนี้ผลกระทบจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปทั้งอากาศ และภาวะโลกร้อน ได้ทำให้ปลาตามแหล่งน้ำธรรมชาติลดน้อยลงมาก

ชาวบ้านที่เคยยึดอาชีพประมงเคยหาปลาตามล้ำน้ำชี ลำน้ำปาว เริ่มหายากขึ้น เพราะปลามีน้อย ทั้งนี้ยังรวมถึงกลุ่มชาวประมงตามเขื่อนลำปาวด้วย พ่อค้าแม่ค้าที่นำมาปลาสดมาส่งปริมาณปลาสดเริ่มลดน้อยลงมาก แต่ที่ทำให้โรงงานอยู่ได้ เพราะปลาร้าที่ทำจำหน่ายมีหลากหลายแบบ อย่างปลาร้ารวมต้องขึ้นราคาขายกิโลกรัมละ 170 บาทจากเดิม กิโลกรัมละ 150 บาท ปลาร้าจากปลาหนังที่ทำจากปลาดุก ขายที่กิโลกรัมละ 220 บาท จากเดิม กิโลกรัมละ 200 บาท

นอกจากนี้ยังมีปลาร้าแบบปลาตัดหัว ทำจากปลาช่อนตัวเล็กกิโลกรัมละ 300 บาท ปลาร้าปลาบด กิโลกรัมละ 450 บาท แต่ขณะนี้ยอดขายลดลงเป็นอย่างมาก

ด้าน นางสังวาร ขันชารี อายุ 65 ปี แม่ค้าขายเร่ กล่าวว่า มาซื้อปลาร้าไปขายเพื่อที่จะแบ่งขายไปในพื้นที่ตามหมู่บ้านต่าง ๆ โดยจะขายปลีกเป็นถุงเล็กๆ ราคาตั้งแต่ 10-20 บาท และแบ่งย่อยขายเป็นกิโลกรัมที่ทำให้มีรายได้สูงมากในแต่ละวันเฉลี่ย 3,000 บาท และถ้าวันไหนขายดี ยอดขายเมื่อหักต้นทุนกำไรแล้วอาจสูงถึงวันละ 5,000 บาท

การนำปลาร้าแบ่งย่อยขายตามหมู่บ้าน ทำให้มีกำไรและมีรายได้สูง ซึ่งถือว่าดีกว่าไปนั่งขายตามตลาดสดเพียงที่เดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น