xs
xsm
sm
md
lg

อุดรฯ อัดงบ 10 ล้านหนุนพัฒนาปลูกมันสำปะหลัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อุดรธานี - จังหวัดอุดรธานีรณรงค์แนวทางการปลูกมันสำปะหลังสมัยใหม่เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น แก้ปัญหาผลผลิตต่อไร่ต่ำ ทำรายได้เกษตรกรลดลง เผยมันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจหลักและพืชพลังงานทดแทนที่อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ด้านการเกษตร เตือนเกษตรกรระวังเพลี้ยแป้งที่กำลังระบาดในหลายพื้นที่


วันนี้ (11 มิ.ย.) เวลา 10.00 น.ที่แปลงสาธิต บ้านหนองหัวคู ต.หนองหัวคู อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี นายอำนาจ ผการัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี พร้อมหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดอุดรธานี ได้ร่วมกับรณรงค์ และสาธิตการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลัง

นายสุทธิชัย ยุทธเกษมสันต์ เกษตรจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลัง ปี 2552 ตามโครงการแผนพัฒนาจังหวัดอุดรธานีโครงการดังกล่าวได้รับงบประมาณ 10 ล้านบาทใช้ทำ 4 กิจกรรมใหญ่ๆ ประกอบด้วย การถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลัง การจัดทำแปลงสาธิตเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง การสนับสนุนปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพอัดเม็ดแก่เกษตรกร และการติดตามปละประเมินผล ให้กับเกษตรกร 20,000 คน

กิจกรรมวันนี้เป็นการจัดทำแปลงสาธิตเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง เพื่อรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องเกษตรกรและผู้ที่สนใจในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีได้เล็งเห็นความสำคัญของการปลูกมันสำปะหลัง เป็นการสาธิตการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังให้พี่น้องเกษตรกรได้เห็นขั้นตอนในการผลิต และเป็นการสร้างงานและเพิ่มรายได้ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น

นายสุทธิชัยกล่าวต่อว่า จากข้อมูลพื้นฐานการปลูกมันสำปะหลังของจังหวัดอุดรธานี นั้นเดิมมีพื้นที่ปลูกจำนวน 176,877 ไร่ มีผลผลิตเฉลี่ย 3,700 กิโลกรัมต่อไร่ ได้ผลผลิตรวมจำนวน 654,444 ตัน คิดเป็นเงิน 1,145 ล้านบาท

“ปัจจุบันการผลิตมันสำปะหลัง มีปัญหาผลผลิตต่อไร่ค่อนข้างต่ำ ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน สาเหตุสำคัญพบว่าดินขาดความอุดมสมบูรณ์ เกษตรกรขาดการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมและขาดการบริหารจัดการที่ดี”

ด้าน นายอำนาจ ผการัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัด กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งมีความรู้สึกเป็นห่วงพี่น้องเกษตรกรที่ต้องประสบปัญหาในการปลูกมันสำปะหลัง จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ทางด้านการเกษตร โดยเน้นพืชเศรษฐกิจหลัก และพืชทดแทนพลังงาน และได้มอบหมายให้เกษตรจังหวัดอุดรธานีกำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาการผลิตมันสำปะหลังให้เป็นรูปธรรม เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยยึดหลักวิชาการสมัยใหม่

ขณะที่ นายปวิต ถมยาวิทย์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดอุดรธานี ระบุว่า มันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจที่นิยมปลูกกันมากในจังหวัดอุดรธานี ที่ผ่านมามักไม่ค่อยมีศัตรูทำลายความเสียกับพืชชนิดนี้มากนัก แต่ระยะหลังสภาพดินฟ้าอากาศได้เปลี่ยนแปลงไปโดยมีอุณหภูมิสูงขึ้น สภาพอากาศเช่นนี้ทำให้เกิดการระบาดของเพลี้ยแป้ง ซึ่งส่งผลเสียหายแก่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังได้

นายปวิตกล่าวอีกว่า เพลี้ยแป้งเป็นแมลงตัวแบนขนาดเล็ก ตัวเต็มวันลำตัวกว้างประมาณ 2 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร ตัวมีแป้งปกคลุม ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนต่างๆ ของลำต้นมันสำปะหลัง ของเหลวที่ขับถ่ายออกมาเป็นอาหารอย่างดีของเชื้อราดำ หากสภาพอากาศแห้งแล้งหรือฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน ต้นมันสำปะหลังจะมีอาการยอดแห้งหรือยอดหงิกเป็นพุ่ม ถ้าระบาดในขณะต้นยังเล็กจะกระทบต่อการสร้างหัวหรือทำให้ลำต้นมันสำปะหลังตายได้

ขณะนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร แจ้งว่า ได้มีการระบาดของเพลี้ยแป้งในเขตภาคอีสานตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคกลาง คาดว่าจะสร้างความเสียหายไม่น้อยกว่าสามแสนไร่ สำหรับแนวทางในการป้องกันกำจัด กรมวิชาการเกษตรแนะนำให้เกษตรกรปลูกมันสำปะหลังในช่วงฤดูฝน เพื่อให้มันสำปะหลังแข็งแรง ต้านทานต่อโรค

ที่สำคัญอย่าใช้ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังที่มีเพลี้ยแป้งติดอยู่ตายอดมาปลูกโดยเด็ดขาด เนื่องจากขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่พบว่า ท่อนมันสำปะหลังที่ใช้ทำพันธุ์ในเขตตำบลนาทราย อำเภอพิบูลย์รักษ์ จังหวัดอุดรธานี มีเพลี้ยแป้งติดอยู่ที่ตายอดที่แตกใหม่เป็นจำนวนมาก หากไม่ทำลายท่อนพันธุ์ดังกล่าวและนำไปปลูกในแปลง อาจจะเกิดการระบาดขึ้นในจังหวัดอุดรธานีเป็นวงกว้างได้

นอกจากนี้ ควรถอนต้นหรือตัดส่วนของลำต้นที่มีเพลี้ยแป้งจำนวนมากไปเผาทำลาย แต่ถ้าพบการระบาดเป็นจำนวนมากควรกำจัดด้วยยาฆ่าแมลง แอนทาราโตกุโรออน หรือแอ็กทาลิก หรือแจ้งเกษตรตำบล เกษตรอำเภอในท้องที่ เพื่อหาทางแก้ไขป้องกันกำจัดมิให้มีการระบาดเป็นวงกว้าง



กำลังโหลดความคิดเห็น